ธปท.เผยผลกระทบโควิด–19 ระลอกใหม่ต่อภาคเศรษฐกิจ ไม่รุนแรงเท่ารอบแรก แต่ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ขนส่ง ค้าปลีก ยังได้รับผลกระทบหนักสุด พร้อมยันเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัว ชูการส่งออกเป็นพระเอกขับเคลื่อนในปีนี้ หลังเศรษฐกิจคู่ค้าดีขึ้น และนโยบายการค้าสหรัฐฯเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
น.ส.พรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ประเมินผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.63 โดยพบว่า แม้มีการระบาดที่รวดเร็วและรุนแรงกว่าครั้งก่อน แต่ผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่รุนแรงเท่ารอบแรก เพราะภาครัฐออกมาตรการควบคุมดูแลที่เข้มงวดน้อยกว่า แต่มีกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักคือ โรงแรม ร้านอาหาร ขนส่ง ผู้โดยสาร และค้าปลีก ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรม และอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ได้รับผลกระทบรุนแรง และเป็นตัวช่วยให้เศรษฐกิจไทยเดือน ธ.ค.63 และไตรมาสที่ 4/63 ฟื้นตัว
“ช่วงปลายเดือน ธ.ค.63 และเดือน ม.ค.64 เราเห็นผลกระทบที่เกิดกับเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น จากการระบาดในระลอกที่ 2 แต่ในระยะต่อไป ปัจจัยที่จะต้องติดตามคือ พัฒนาการของโควิด-19 ทั้งในด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมทั้งการผ่อนคลายความเข้มงวด ซึ่งล่าสุดมีแนวโน้มว่า รัฐบาลอาจผ่อนคลายความเข้มงวดในการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเร็วกว่าที่ ธปท.คาดไว้ จากเดิม ที่มองว่า มาตรการคุมเข้มจะลากยาว 2-3 เดือน นอกจากนั้น เดือน ธ.ค. การส่งออกยังขยายตัวดีเกินคาดที่ 4.6% แสดงให้เห็นการฟื้นตัวของความต้องการซื้อของประเทศคู่ค้าและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก ทำให้ ธปท.มองว่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและการค้าโลก จะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ”
ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่จะต้องติดตามคือ ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน โดยจำนวนผู้ว่างงาน และผู้ขอรับสิทธิว่างงานลดลง ในเดือน พ.ย.63 ส่วนในเดือน ธ.ค.63 ผู้เสมือนว่างงาน หรือทำงานไม่ถึง 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 200,000 คน มาอยู่ที่ 2.4 ล้านคน นอกจากนั้นยังต้องพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และบรรเทาความเดือดร้อนของ ประชาชนจากภาครัฐว่าจะมีผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจอย่างไร ส่วนการท่องเที่ยวคาดว่าปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยอาจไม่มากนักจากเดิมที่ ธปท.คาดการณ์ตั้งแต่ก่อนที่โควิด-19 ระลอกใหม่จะรุนแรงว่า จะมีเข้ามา 5.5 ล้านคน จึงต้องเพิ่มรายได้จากจำนวนวันที่เข้ามานานขึ้นทดแทน
น.ส.พรเพ็ญ กล่าวต่อถึงเศรษฐกิจไทยในปี 63 ว่า ธปท.ยังคาดว่าจะขยายตัวตามประมาณการเดิมที่ติดลบ 6.6% โดยเดือน ธ.ค.เศรษฐกิจไทย ยังทยอยฟื้นตัวได้แต่ยังไม่ทั่วถึง และเห็นผลกระทบจากโควิดระลอกใหม่ชัดเจนขึ้น ดัชนีบริโภค ภาคเอกชนเริ่มได้รับผลกระทบ ส่งผลให้การใช้จ่าย หมวดบริการลดลง แต่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนยังเพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.62 แต่ลดลง 2.9% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.63 ส่วนดัชนี การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว 2.4% จากเดือน ธ.ค.62 แต่หมวดยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ยังขยายตัวสอดคล้องกับความต้องการสินค้ากลุ่มนี้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.63 ดัชนีเพิ่ม 1.5%
ด้านดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้น 4.5% จากเดือน ธ.ค.63 ยกเว้นหมวดก่อสร้างยังหดตัว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่อง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทย ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุล 16,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนดุลการค้าเกินดุล 39,800 ล้านเหรียญฯ แต่ดุลบริการซึ่งสะท้อนรายได้จากการท่องเที่ยวติดลบ 23,000 ล้านเหรียญฯ
“ธปท. มองว่าการส่งออกจะยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องตามเศรษฐกิจคู่ค้า รวมทั้งนโยบายการค้าที่ชัดเจนขึ้นของสหรัฐฯ จะช่วยสนับสนุนการค้าโลกในระยะต่อไป ดังนั้น แนวทางและนโยบายในด้านการค้าที่ควรทำในระยะนี้คือ เร่งยกระดับมาตรฐานการผลิตและคุณภาพสินค้า เพื่อให้ตอบสนองความต้องการสินค้าได้ทันท่วงที สร้างสมดุลทางการค้ากับทั้งสหรัฐฯ และจีน เพื่อรักษาห่วงโซ่การผลิตและการตลาด รวมทั้งรักษาสิทธิในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อรักษาผลประโยชน์ระยะยาว”.