แนวโน้มอุตสาหกรรม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เริ่มอิ่มตัว หลังคนใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ไม่พอเจอโควิด-19 ซ้ำ
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลมีการประกาศเคอร์ฟิว ปิดประเทศ จำกัดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ปิดสถานบันเทิง ฯลฯ และขอความร่วมมือประชาชนในประเทศ ปรับตัวเข้าสู่วิถี New normal เว้นระยะห่าง ทำให้หลายคนปรับตัวใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น กิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำนอกบ้าน ก็ต้องปรับมาทำที่บ้านแทน หลายธุรกิจจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ หนึ่งในธุรกิจที่เห็นได้ชัด คือ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ก่อนหน้านี้ วิจัยกรุงศรี ได้คาดการณ์อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยรวมของไทยในปี 2562-2564 ช่วงก่อนที่จะเจอวิกฤติโควิด-19 ว่า มีแนวโน้มขยายตัว แต่มีอัตราการเติบโตไม่สูงนัก เนื่องจากตลาดเครื่องดื่มสำคัญภายในประเทศ (ทั้งน้ำอัดลม เครื่องดื่มบำรุงกำลัง เบียร์ และสุรา สัดส่วนรวมกัน ประมาณ 90% ของปริมาณจำหน่ายทั้งหมด) เริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว หลังพฤติกรรมผู้บริโภคใส่ใจในสุขภาพมากขึ้น
อีกทั้ง ยังคาดว่า อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศปี 2562-2564 จะกลับมาขยายตัวได้แต่ไม่มากนัก ผลกระทบจากภาครัฐยังคงควบคุมการทำตลาดและโฆษณา กำหนดโซนนิ่งห้ามดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และรณรงค์จัดกิจกรรมงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง
หากแยกเป็นประเภท สำหรับ "เบียร์" คาดว่า ความต้องการบริโภคในประเทศในช่วงปี 2562-2564 จะกลับมาเติบโตเฉลี่ย 2-4% ต่อปี ตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ขยายตัวต่อเนื่อง และอานิสงส์จากการเร่งทำตลาดในช่วงที่มีการจัดมหกรรมกีฬาสำคัญ โดยเฉพาะคราฟท์เบียร์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ของไทย เริ่มหันมาผลิตคราฟท์เบียร์
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคบางส่วนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น อาจทำให้เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ใหม่ และกำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดเบียร์มีแอลกอฮอล์ได้
ขณะที่ "สุรา" มีการคาดว่า การบริโภคในประเทศปี 2562-2564 จะมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 0-3% ต่อปี เนื่องจากราคาจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น ผู้ผลิตสุรารายใหญ่ วางแผนออกผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียมเพื่อกระตุ้นตลาด อาจมีผลให้ตลาดสุราระดับพรีเมียมขยายตัวได้มากกว่า
นอกจากนี้ ยังมีเครื่องดื่ม เบียร์ Non–Alcohol หรือ Alcohol-Free ทางเลือกใหม่ในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายในธุรกิจที่ต้องเผชิญการแข่งขันในตลาดที่สูง
ซึ่งเครื่องดื่ม Non–Alcohol หรือ Alcohol-Free ไม่ได้หมายความว่า เป็นเครื่องดื่มที่ไม่มีปริมาณแอลกอฮอล์ผสมอยู่เลย แต่มีในปริมาณที่ต่ำ จนกฎหมายอนุญาตให้ใช้คำว่าไร้แอลกอฮอล์ ในการเรียกผลิตภัณฑ์ได้ ซึ่งในไทยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดให้มีปริมาณแอลกอฮอล์คงเหลือในผลิตภัณฑ์ไม่เกินร้อยละ 0.5 และการโฆษณาต้องไม่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของผลิตภัณฑ์นั้นๆ
โดยข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตลาดเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ทั่วโลกปี 2561 มีมูลค่าสูงกว่า 4.52 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และน่าจะเติบโตเฉลี่ย 7.5% ในช่วงปี 2562-2568 (MarketWatch,2019) ซึ่งมีตลาดหลัก ได้แก่ ตะวันออกกลางและสหภาพยุโรป ส่วนในแถบเอเชียตลาดที่สำคัญ ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เป็นต้น
แต่อย่างที่บอก เมื่อโควิด-19 มา ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย เคยกล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2563 ไว้ โดยคาดว่า มูลค่าการตลาดจะอยู่ที่ 170,000 ล้านบาท ติดลบร้อยละ 60-70 เป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ จากปัญหาเศรษฐกิจ กำลังซื้อของผู้บริโภค รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ขณะที่ สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) สะท้อนว่า สถานการณ์โควิด-19 มีผลต่อภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย โดยคาดว่า มูลค่าการตลาดจะหายไปราว 1.1-1.48 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 30-40 ของมูลค่าตลาดราว 3.7 แสนล้านบาท
แม้จะเป็นการคาดการณ์ แต่สะท้อนให้เห็นว่า มูลค่าการตลาดที่หายไป อาจทำให้ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ในประเทศ ต้องเหนื่อยหน่อย แต่ในรายย่อย น่าจะเจอภาวะ "หืดขึ้นคอ".