จะไปเป็นดาว

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

จะไปเป็นดาว

Date Time: 1 ก.ย. 2563 05:01 น.

Summary

  • สมัยก่อนคนทำอาชีพนักแสดง นักร้อง เขาเรียกกันว่าเป็นคน “เต้นกิน รำกิน” เปรียบเปรยสะท้อนให้เห็นทัศนคติของคนในยุคนั้น ที่มีต่ออาชีพที่ถูกมองว่าไม่มั่นคง รายได้ไม่แน่นอน

Latest

อัปเดต 5 กลยุทธ์ขายของ พิชิตใจคน Gen Z อยากรักษ์โลก แต่ของมันต้องมี แบรนด์รับมืออย่างไร?

สมัยก่อนคนทำอาชีพนักแสดง นักร้อง เขาเรียกกันว่าเป็นคน “เต้นกิน รำกิน” เปรียบเปรยสะท้อนให้เห็นทัศนคติของคนในยุคนั้น ที่มีต่ออาชีพที่ถูกมองว่าไม่มั่นคง รายได้ไม่แน่นอน อยู่ไม่เป็นหลักเป็นแหล่ง และหาความมั่นคงในบั้นปลายชีวิตยาก

วันเวลาผ่านไป จนถึงยุคที่รถไฟฟ้าเข้าถึงเกือบทุกหน้าปากซอยบ้านในเขตกรุงเทพมหานคร พ่อ-แม่ยุคใหม่หลายครอบครัวตะเกียกตะกายอยากให้บุตร-ธิดา ได้มีโอกาสแหย่เท้าเข้าสู่วงการมายาเป็นดารา นักร้อง เพราะรายได้ดี มีเกียรติ มีโอกาส ใครต่อยอดเก่งสามารถขยับขยายไปทำธุรกิจอาศัยชื่อเสียงและความชื่นชอบ จากบรรดาแฟนๆ ใช้โซเชียลมีเดียที่มีคนติดตามเป็นจำนวนมาก เป็นสื่อโฆษณายุคใหม่ รับรีวิว ขาย เชียร์สินค้า แล้วแต่ว่าจะถนัด
เมกมันนี่ช่องทางไหน

เพราะเป็นที่ต้องการสูง การเป็นดารา นักร้องในยุคปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องต้องฟันฝ่า ก่อนหน้านี้ราว 20-30 ปีย้อนหลัง วัยรุ่นหนุ่มสาวที่อยากเข้าตากรรมการ ต้องไปปักหลักเดินเวียนวนอยู่แถวสยามเซ็นเตอร์ สยามสแควร์ เพื่อหวังให้แมวมอง โมเดลลิง เห็นหน่วยก้านดึงเข้าสู่วงการ ซึ่งมักเริ่มต้นด้วยการถ่ายโฆษณา

ในยุคที่นวัตกรรมแห่งความงามก้าวไกลช่วยให้ใครๆก็หน้าตาดีได้ ความสวย ความหล่อ ความสูง และความขาวคือบันไดขั้นแรกสู่ดวงดาวหรือไม่ คนที่ให้คำตอบได้ดีที่สุดคนหนึ่งแห่งยุค หนีไม่พ้น “ย้ง” ทรงยศ สุขมากอนันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นาดาว บางกอก จำกัด

“สิ่งที่เรามองหาไม่ใช่แพตเทิร์นแค่สวย หล่อ สูง สำหรับนาดาว เรามองหาคาแรกเตอร์ บุคลิกซึ่งเป็นที่จดจำ บุคลิกเฉพาะตัว เป็นคุณสมบัติที่มากกว่าสวย หล่อ สูง นักแสดงสังกัดนาดาวตัวเล็กก็มี นอกจากนั้น ความฉลาด ไหวพริบก็สำคัญมาก เราจะรู้ได้เลยว่าเขาสามารถพัฒนาต่อได้”

นาดาว บางกอก เป็นบริษัทรับบริหารจัดการศิลปินที่น่าจับตามองแห่งหนึ่ง ก่อตั้งขึ้นราว 11 ปีที่แล้ว ปัจจุบันนาดาวมีศิลปินในสังกัด 37 คน คุ้นหน้าคุ้นตาตั้งแต่ ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์, เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี, ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร, เจเจ-กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม, แพรวา-ณิชาภัทร ฉัตรชัยพลรัตน์ และต้าเหนิง-กัญญาวีร์ สองเมือง เป็นต้น

ทรงยศ หรือย้ง 1 ในทีมผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “แฟนฉัน” “ซีรีส์ฮอร์โมน” “ละครเลือดข้นคนจาง” ใช้ประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับนักแสดงในฐานะผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ร่วมก่อตั้งนาดาว บางกอก ซึ่งเขาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 40% นอกจากนั้นเป็นสัดส่วนของค่ายหนัง GDH 30% หับโห้หิ้น 10% ฯลฯ ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท

ในยุคแรกนาดาวเป็นโปรดักชันเฮาส์ ต่อมาจึงแตกแขนงไปสู่ธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน (Artist Management) ซึ่งเขาออกตัวว่ากำไรน้อย “ธุรกิจบริหารจัดการศิลปินมีมาร์จิ้น (กำไร) ราว 8-9% ส่วนโปรดักชันเฮาส์ มาร์จิ้นประมาณ 30%”

นั่นเป็นเพราะการลงทุนปั้นดาราสักคนมีต้นทุนไม่น้อย ยิ่งในเด็กรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่ต้องเริ่มจากการหัดพูด เพราะพูดไม่ชัดจากการดัดฟันหรือติดสำเนียงพูดต่างประเทศ เพราะเรียนโรงเรียนอินเตอร์ เป็นต้น จากนั้นก็ต้องเรียนทักษะพื้นฐานการแสดง ร้องเพลง ฝึกบุคลิกภาพ อย่างน้อย 2 ปี จึงจะเริ่มรับงานได้ โดยรายได้เป็นการแบ่งระหว่างศิลปินและบริษัท

ณ สิ้นปี 2562 นาดาวบางกอกมีรายได้ 370 ล้านบาท กำไร 60 ล้านบาท เติบโตขึ้นมากจากปีก่อนหน้า เนื่องด้วยความสำเร็จของละครเลือดข้นคนจางและรักฉุดใจนายฉุกเฉิน ที่มีเพลงฮิต “รักติดไซเรน” เป็นลมใต้ปีกหนุนความดังของละคร จนปีนี้นาดาวตัดสินใจเปิดบริษัทลูกชื่อนาดาวมิวสิก มาขับเคลื่อนงานเพลงเป็นการเฉพาะ

“การทำธุรกิจแบบครบวงจร ทำให้เราได้เปรียบ เราทำละคร ทำเพลงเอง ภายใต้โจทย์การใช้ศิลปินในสังกัด งานที่ประสบความสำเร็จ จะกลายเป็นโอกาสของศิลปิน ทั้งงานโฆษณา พรีเซนเตอร์ ละคร ศิลปินของเราสามารถรับงานได้ทุกช่อง”

ส่วนวิธีเสาะหาดาราหน้าใหม่ ทรงยศเล่าว่า มีทุกรูปแบบ ตั้งแต่เห็นผลงานแล้วเข้าตาเลยชวนมาเข้าสังกัด พ่อแม่ญาติพี่น้องเป็นแมวมองพามาให้เลือก และการเปิดโครงการคัดเลือกนักแสดง Nadao Academy โดยโครงการล่าสุดมีผู้สมัครราวหมื่นคน ผ่านการคัดเลือก 10 คน แต่คาดว่าจะใช้งานจริงได้น้อยกว่านั้น

“การคัดเลือกเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมันดีกับทุกฝ่าย ทั้งกับเราและเด็ก เราไม่อยากให้เขาเสียเวลา ผ่านการคัดเลือกก็ไม่ใช่ว่าจะได้ทำงานเลย ยังอยู่ในสถานะเด็กฝึกหัด ต้องพิสูจน์ตัวเองอีกเยอะ”

ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงจากจำนวนดาราหน้าใหม่ เน็ตไอดอล ดาวติ๊กต่อก เมกะยูทูบเบอร์ ที่แจ้งเกิดเพิ่มขึ้นทุกวัน ทรงยศ มองว่า การแข่งขันทำให้เกิดการพัฒนา คนเก่งจะฉายแววและแตกต่างจากคนอื่นอย่างชัดเจน

เขาปิดท้ายว่า ทัศนคติเป็นสิ่งที่ซ่อนยาก โดยเฉพาะเมื่อคุยกับเด็ก แป๊บเดียวก็รู้แล้ว พอถามว่าทำไมอยากเป็นดารา ส่วนใหญ่จะตอบว่าเพราะอยากเป็นเหมือนคนนั้นคนนี้ อยากมีชื่อเสียง มีรายได้ อยากช่วยพ่อแม่

“คำตอบเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เรามองหา”.

ศุภิกา ยิ้มละมัย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ