นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมการพัฒนาระบบรางเป็นรถไฟทางคู่ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางราง 30% และสนับสนุนเอกชนร่วมบริการระบบรางว่า จากระบบโครงสร้างพื้นฐานทางรางที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงการพัฒนาในอนาคตของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นั้น ได้ตั้งเป้าหมายที่จะให้ รฟท.พัฒนาการขนส่งทางรางผ่านระบบทางคู่ ให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 30%
พร้อมทั้งการใช้ศักยภาพทางรางที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รฟท. และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ไปจัดทำแผนปฏิบัติการให้แล้วเสร็จใน 1 เดือน ขณะที่การให้เอกชนเข้ามาร่วมกับ รฟท.นั้น ในส่วนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่าง รัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ยังไม่ได้ออกกฎให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการได้ โดยตนจะนำเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณา ทั้งนี้ เป้าหมายต้องการเพิ่มสัดส่วนให้มากขึ้น 30% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 13.26 ล้านตัน ภายในปี 64 นอกจากนี้ ต้องสนับสนุนเอกชนเป็นผู้ร่วมให้บริการเดินรถ เพื่อเพิ่มความถี่
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นในส่วนของการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต) และสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเดิมมีกำหนดเปิดให้บริการในต้นปี 64 แต่การก่อสร้างมีความล่าช้าออกไป จากปัญหาการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคและท่อน้ำมัน ล่าสุดบอร์ด รฟท.ได้อนุมัติขยายงานก่อสร้างออกไปกว่า 500 วัน ส่งผลให้โครงการไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามกำหนดเดิม และต้องล่าช้าออกไปอีกกว่า 1 ปีครึ่ง
ดังนั้น กระทรวงคมนาคมเห็นว่า หากโครงการล่าช้าไปก็สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินรถ จากที่ รฟท.จะเป็นผู้เดินรถเอง มาเป็นรูปแบบการดึงเอกชนเข้ามาร่วมทุนแบบ PPP ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง โดยที่รัฐไม่ต้องเป็นผู้ลงทุนเอง ช่วยประหยัดงบประมาณได้ 60,000-70,000 ล้านบาท แต่สัดส่วนการแบ่งรายได้จะยังเป็นแบบ 60:40 คือ รฟท.ได้ส่วนแบ่งรายได้ 60% และเอกชนได้ 40% ในลักษณะเดียวกันกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งแนวทางดังกล่าว นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เห็นชอบแล้ว และเตรียมจะเสนอต่อที่ประชุม คนร. ในเดือน พ.ค.นี้.