เปิดปฏิบัติการ Work From Home เช็กความพร้อมรัฐ-เอกชนรับวิกฤติโควิด-19

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดปฏิบัติการ Work From Home เช็กความพร้อมรัฐ-เอกชนรับวิกฤติโควิด-19

Date Time: 23 มี.ค. 2563 05:30 น.

Summary

  • ครม.มีมติให้ทุกหน่วยงานพิจารณามาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน และทำงานที่บ้าน และส่งเสริมให้ใช้ระบบอินเตอร์เน็ต เช่น ประชุมทางไกล โดยให้หน่วยงานราชการทุกหน่วยทำแผนทำงานจากบ้าน (Work from Home)

Latest

อัปเดต 5 กลยุทธ์ขายของ พิชิตใจคน Gen Z อยากรักษ์โลก แต่ของมันต้องมี แบรนด์รับมืออย่างไร?

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา มีมติให้ทุกหน่วยงานพิจารณามาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน และทำงานที่บ้าน และส่งเสริมให้ใช้ระบบอินเตอร์เน็ต เช่น ประชุมทางไกล โดยให้หน่วยงานราชการทุกหน่วยทำแผนทำงานจากบ้าน (Work from Home)

เพื่อลดความแออัดของคน ลดการเดินทาง และลดการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ให้มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยล่าสุด ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ได้ประกาศปิดห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด และธุรกิจให้บริการต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.-12 เม.ย.เพื่อลดการแพร่ระบาด

หน่วยงานที่มีความพร้อม จึงตัดสินใจเริ่มทำงานจากบ้านกันตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.นี้ทันที โดยในเบื้องต้น มีระยะเวลาให้ทำงานจากนั้น 14 วัน และจะกลับมาทำงานตามปกติอีกครั้งในวันที่ 7 เม.ย.63

“ทีมเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวงการต่างๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อรวบรวมให้เห็นถึงความพร้อมของระบบโครงข่ายโทรคมนาคม และความพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ในการทำงานจากบ้าน

ดีอีเอส ยันระบบทำงานที่บ้านพร้อม

ในฐานะที่ดูแลด้านฐานเศรษฐกิจดิจิทัล นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เล่าว่า กระทรวงได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้หาช่องทาง หรือรูปแบบ รวมถึงแพลตฟอร์มการทำงานออนไลน์ ที่จะช่วยให้ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยขณะนี้มีแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันที่นำมาใช้ได้แล้ว ได้แก่ แอป– พลิเคชัน “webex” ของบริษัท ซิส โก้ (ประเทศไทย) จำกัด “Microsoft Teams” ของบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด “Hangouts” ของบริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด และไลน์ ซึ่งจะเน้นรองรับการประชุมออนไลน์ (e-meeting) ผ่านวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ ซึ่งสามารถประชุมพร้อมกันได้ตั้งแต่ 50-200 คน และยังสามารถทำงานด้านเอกสารพร้อมกันได้จำนวนมาก เป็นต้น

ข้าราชการสามารถดาวน์โหลดเพื่อทำงานที่บ้าน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 3 เดือน แต่ต้องแจ้งความประสงค์จะใช้งานมายังสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) โดยขณะนี้มีหน่วยงานภาครัฐแจ้งความจำนงที่จะใช้งานมาแล้วกว่า 70 ราย และมีข้าราชการได้โหลดแล้วมากกว่า 200,000 คน

“ขณะนี้รัฐมนตรีทุกคน ได้ติดตั้งแอปพลิเคชันแล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แค่นัดเวลากัน ก็ประชุมได้ทันที”

ส่วนโครงข่ายอินเตอร์เน็ต โครงข่ายโทรศัพท์มือถือ ที่จะรองรับการทำงานที่บ้าน และรองรับการใช้งานนั้นได้หารือกับนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมโครงข่ายโทรคมนาคมให้เพียงพอรองรับการใช้งานที่จะเพิ่มขึ้น

โดยได้รับการยืนยันจากผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้ง 6 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3 บีบี ว่า โครงข่ายอินเตอร์เน็ต โครงข่ายมือถือ มีความพร้อมรองรับการใช้งานที่จะเพิ่มแบบก้าวกระโดดในช่วงนี้ และจะบำรุงรักษาโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพ ใช้งานได้ตลอดเวลาไม่มีสะดุด

“วิกฤติไวรัสโควิด-19 เราได้เห็นโอกาส และได้เห็นการทำงานของภาครัฐและเอกชน ประชาชน ที่ร่วมมือกันมากขึ้น เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นตัวเร่งให้ข้าราชการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยขับเคลื่อนการทำงานมากขึ้น จากคนไม่ใช้ดิจิทัล ก็ต้องใช้ จากคนใช้ไม่เป็น ก็ต้องเรียนรู้ และการทำงานที่บ้านครั้งนี้ เป็นการจุดประกายความสำเร็จ ที่จะนำไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลได้เร็วขึ้น เพื่อให้ไทยเข้าสู่ยุค 4.0 ตามเป้าหมายรัฐบาล”

ครม.ประชุมทางไกลนัดแรก 24 มี.ค.นี้

ขณะเดียวกัน การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 มี.ค.นี้ โดยเป็นนัดแรกที่จะประชุมผ่านทางไกลด้วยระบบวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการ ครม.ได้เตรียมระบบต่างๆไว้แล้ว โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) จะประชุมแผนให้ข้าราชการทำงานที่บ้านในวันจันทร์ที่ 23 มี.ค.นี้ บนเป้าหมายให้ทำงานที่บ้าน 50%

ทางด้านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งมีพนักงานทำงานที่สำนักงานใหญ่ ถ.เพชรบุรี กว่า 1,000 คน ได้ประชุมซักซ้อมผู้บริหารและพนักงาน ตลอดช่วงวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา พร้อมมีเอกสารแนวทางปฏิบัติสำหรับการทำงานที่บ้าน โดยย้ำในข้อแรกว่า ต้องอยู่ในที่พัก งดออกนอกสถานที่โดยไม่จำเป็น ยกเว้นไม่ต้องลงเวลาปฏิบัติงาน แต่ต้องติดต่อได้ โทร.ไปต้องรับ ไลน์ไปต้องตอบ สั่งงานแล้วต้องส่งตามเวลา กรณีจำเป็นเท่านั้นถึงให้มาที่อาคาร ททท.ได้ โดยนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า จะลดคนมาทำงานที่อาคาร ททท.ได้ถึง 80% เนื่องจากมีมติ ครม.มาแล้ว และเป็นห่วงพนักงาน บางคนขึ้นรถไฟฟ้า บางคนขึ้นรถตู้ อยู่ในที่แออัดอาจติดเชื้อไวรัสได้

ขณะที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ประกาศให้พนักงาน work from home ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.- 6 เม.ย.63 เช่นเดียวกับ ททท. โดยนายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า ได้ดำเนินการตามประกาศของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด โดยประกาศให้เจ้าหน้าที่ พนักงาน ผู้ปฏิบัติงานของ อพท. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค Work from Home ผ่านระบบอี-ออฟฟิศ ซึ่งระบบปฏิบัติการที่ อพท.พัฒนาและใช้เป็นระบบ

หลักในการทำงานภายในองค์กรมาเกือบ 10 ปีแล้ว เป็นระบบที่สามารถลงนาม บันทึกข้อความ หรือจัดงานด้านเอกสาร ได้เกือบครอบคลุมทั้งกระบวนการทำงาน รวมทั้งผ่านโซเชียล มีเดีย แต่หากมีภารกิจที่จำเป็น สามารถมาปฏิบัติงานที่ออฟฟิศได้ เช่น รับ-ส่งเอกสารที่ไม่สามารถนำเข้าระบบได้ หรือกรณีประชุมจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น

คลัง-แบงก์รัฐ หมุนเวียนคนทำงาน

ในส่วนของกระทรวงการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ได้ออกแนวทางให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง เพื่อรองรับการแพร่ระบาด และแจ้งให้ทุกหน่วยราชการทราบ ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา สำหรับแนวทางการปฏิบัติงานนอกสถานที่นั้น ผู้อำนวยการศูนย์ และกลุ่ม มีหน้าที่พิจารณาภารกิจ ประเภทของงาน และวิธีการปฏิบัติงาน รวมทั้งกำหนดรูปแบบวันเวลาปฏิบัติงาน เช่น กำหนดชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ กำหนดวันที่ต้องหมุนเวียนมาทำงานที่กระทรวง เป็นต้น โดยแจ้งรายชื่อผู้ที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ มายังสำนักงานปลัดกระทรวงเพื่อรับการอนุมัติ ส่วนกรณีมีภารกิจฉุกเฉิน ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งการให้มาปฏิบัติงานที่กระทรวงได้

ขณะที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้ออกมาตรการกำกับดูแลการปฏิบัติงานที่บ้าน 2 แผน ได้แก่ แผน 1 การสลับให้มาทำงานที่สำนักงานใหญ่ โดยแบ่งทีมที่ต้องทำงานไว้อย่างน้อย 2 ทีม กรณีมีคนในทีมติดเชื้อ อีกทีมก็สามารถทำงานแทนได้ทันที โดยกำหนดระยะเวลาทำงานทีมละ 2 สัปดาห์ และแผน 2 ลดคนทำงานที่สำนักงานใหญ่ เช่น ในหนึ่งแผนกอาจให้ 7 คนทำงานที่สำนักงานใหญ่ และอีก 3 คนทำงานที่บ้าน เป็นต้น เพื่อลดความแออัด โดยจะดำเนินการจนถึงเดือน พ.ค.63

ทั้งนี้ ผู้ที่ทำงานที่บ้านต้องจัดเตรียมข้อมูลและเอกสารที่จำเป็น และเบอร์โทรศัพท์ติดต่อของหน่วยงานที่จำเป็นที่ต้องประสานงานให้ครบถ้วน และต้องปฏิบัติงานตามเวลาปกติของธนาคาร อยู่บ้านพักของตนเองเท่านั้น

ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้สั่งการให้พนักงานทำงานที่บ้านแล้วเช่นกัน โดยสั่งให้ตั้งแต่ระดับปฏิบัติงานลงไป หรือระดับพนักงานสลับกันมาทำงานที่สำนักงาน โดยจะให้สลับกันทำงานที่บ้านครั้งละ 5-10 คน ซึ่งมาตรการนี้จะมีผลถึงเดือน เม.ย.63 ขณะที่ธนาคารออมสิน ขณะนี้ได้ให้แผนกไอที สลับกันมาทำงานแล้ว ส่วนแผนกอื่นๆได้ทำแบบสอบถามเพื่อสำรวจว่า แผนกงานใดสามารถปฏิบัติงานที่บ้านได้บ้าง เพื่อไม่ให้กระทบกับการปฏิบัติงานโดยรวม คาดจะทราบความชัดเจนสัปดาห์นี้

พาณิชย์–อุตฯดีเดย์ใช้ออนไลน์ทำงาน

ด้านกระทรวงพาณิชย์ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับ 10 ของกระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และแผนการทำงานที่บ้านของแต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวง ซึ่งได้ให้อธิบดีแต่ละกรมพิจารณาว่า ส่วนงานใดสามารถทำงานที่บ้านได้หรือไม่ และให้ออกเป็นแนวปฏิบัติในการทำงานที่บ้าน

โดยแต่ละกรมได้กำหนดมาตรการทำงานที่บ้านแล้ว และจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.นี้เป็นต้นไป เช่น กรมพัฒนาธุรกิจ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมการค้าต่างประเทศ ที่เปิดให้บริการผู้ประกอบการ และประชาชน เช่น ขอใบอนุญาตการนำเข้า-ส่งออก ใบรับรองต่างๆ การยื่นจดจัดตั้งธุรกิจ การยื่นคำขอขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ ก็ได้ให้ข้าราชการ

บางส่วนในงานส่วนนี้ทำงานที่บ้านได้ เพราะมีระบบรองรับอยู่แล้ว อย่างกรมทรัพย์สินทางปัญญา มี 3 หน่วยงานหลักที่สามารถทำงานที่บ้านได้ คือ กองสิทธิบัตร กองสิทธิบัตรออกแบบ และกองเครื่องหมายการค้า โดยนำระบบ VDI และ e-portal ที่รองรับการทำงานทางไกลมาใช้

แต่สำหรับผู้ประกอบการ และประชาชน ที่ยังจำเป็นต้องเดินทางมาใช้บริการที่แต่ละกรมจริงๆ ได้ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสแบบเข้มข้น 99.99% ภายในสำนักงาน จัดบริการเจล แอลกอฮอล์ ทำความสะอาดมือ บริเวณหน้าหน่วยให้บริการ ส่วนภายในห้องปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ทุกห้อง แจกหน้ากากอนามัยแบบผ้า ที่มีแผ่นกรองอากาศด้านใน มีอายุการใช้งานนาน 2 ปี แก่เจ้าหน้าที่ทุกคน ทำความสะอาดภายในลิฟต์โดยสารทุกชั่วโมง เป็นต้น

ข้ามฟากมาที่กระทรวงอุตสาหกรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ได้กำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของแต่ละกรม กอง ในสังกัด ทำงานเหลื่อมเวลา ทำให้ไม่ต้องเดินทางพร้อมกัน ลดความแออัดในการใช้สถานที่ต่างๆ รวมถึงให้ปฏิบัติงานที่บ้าน โดยได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้กับการทำงาน เช่น การประชุมผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ วิดีโอคอล ไลน์ หรืออีเมล โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.นี้ เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการการป้องกันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ การตรวจวัดอุณหภูมิ และการใช้ลิฟต์ครั้งละไม่เกิน 6 คน โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความสะอาดดูแลความสะอาด และได้ขอความร่วมมือไปยังโรงงานอุตสาหกรรม ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคดังกล่าวในโรงงานอุตสาหกรรม

คมนาคมต่อทะเบียน-ใบขับขี่ผ่านเน็ต

ในส่วนของกระทรวงคมนาคมนั้นได้มีการสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ให้ไปจัดทำแผนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งการห้ามข้าราชการเดินทางไปต่างประเทศ, งดอบรม ประชุมสัมมนา งดกิจกรรมที่ทำข้ามจังหวัด ให้ประชุมทางไกล ซึ่งแต่ละกรมจะมีการประชุมอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 23 มี.ค. โดยภาพรวมแต่ละกรม กอง หากเป็นการทำงานที่เกี่ยวกับเอกสาร หรือทางด้านวิชาการ ไม่ต้องพบปะกับใคร จะลดจำนวนของคนทำงานลงเหลือ 50% และแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ทีม สลับการทำงาน รวมทั้งมีการเหลื่อมเวลาการทำงาน

นอกจากนั้น ในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริการของประชาชน โดยเฉพาะกรมการขนส่งทางบก (ขบ.)ได้เริ่มสลับการทำงานด้วยการลดเจ้าหน้าที่ทำงานลงเบื้องต้น 30% โดยส่วนของการให้บริการประชาชนจะไม่ได้รับผลกระทบ หรือหากได้รับผลกระทบก็ต้องได้รับน้อยที่สุด โดยเฉพาะงานทะเบียน และใบอนุญาตประเภทต่างๆ อย่างไรก็ตามในส่วนของการออกใบอนุญาตขับรถ, การต่อใบอนุญาตสำหรับผู้ถือใบอนุญาตเดิม ได้เตรียมระบบออนไลน์ไว้แล้ว โดยมีการอบรมผู้ถือใบอนุญาตเพิ่มเติม จะใช้ระบบ E-LEARNING เข้ามาเพื่ออำนวยความสะดวก

ส่วนใบอนุญาตขับขี่ที่ต้องออกใหม่ในทุกประเภทนั้น หากมีการประกาศว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ในระยะที่ 3 การออกใบอนุญาตขับขี่ใหม่คงจำเป็นต้องระงับไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

โครงข่ายโทรคมนาคมสัญญาณไม่สะดุด

ส่วนประเด็นเรื่องการต่อภาษีทะเบียนรถยนต์ ได้นำระบบออนไลน์มาเตรียมไว้แล้วเช่นกัน โดยได้แนะนำให้เจ้าของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ที่ยังไม่ครบกำหนดต้องตรวจสภาพรถ ก่อนชำระภาษีประจำปีทั้ง รถเก๋ง รถกระบะ รถตู้ ที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 7 ปี และรถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี สามารถใช้บริการชำระภาษีรถประจำปีผ่านช่องทางออนไลน์ ที่เว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก https://eservice.dlt.go.th ไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงานขนส่ง อยู่ที่ใดก็สามารถชำระภาษีรถประจำปีได้ โดยผู้ต่อทะเบียน สามารถรอรับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีและใบเสร็จรับเงินทางไปรษณีย์ ภายใน 5 วันทำการ นับจากวันชำระเงิน

ปตท.ยันธุรกิจไม่สะดุด-น้ำมันไม่ขาด

ขณะเดียวกัน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้เตรียมแผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCM) รองรับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั้งในด้านการจัดหา จัดจ่าย และสำรองพลังงาน เพื่อให้มีพลังงานใช้ไม่ขาดแคลนในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในฐานะบริษัทด้านพลังงานของประเทศไทยแล้ว

โดยนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. กล่าวว่า ปตท.ได้จัดตั้ง “ศูนย์พลังใจ” เพื่อเป็นศูนย์กลางบริหารสถานการณ์และเฝ้าระวัง อาทิ มีมาตรการงดให้พนักงานเดินทางไปปฏิบัติงานต่างประเทศ ขอให้พนักงานงดเดินทางส่วนตัวในประเทศกลุ่มเสี่ยงชั่วคราว รวมถึงจะให้พนักงานและพนักงานลูกจ้างชั่วคราว แบ่งทีมปฏิบัติงานที่บ้าน เพื่อลดความแออัดและลดโอกาสในการแพร่เชื้อในที่ทำงานและที่สาธารณะ โดยจะใช้ระบบการประชุมทางไกล เป็นหลัก

โรงงานในทุกสายการผลิตของกลุ่ม ปตท.ยังคงเปิดดำเนินการตามปกติ เพื่อไม่ให้กระทบกับการผลิตภัณฑ์ด้านพลังงานของประเทศ ทั้งโรงกลั่นน้ำมัน การจำหน่ายน้ำมัน ธุรกิจปิโตรเคมี และการผลิตเม็ดพลาสติก เป็นต้น

“ยืนยันว่า การผลิต การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของ ปตท.ยังคงเป็นไปตามปกติ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลน โดยเฉพาะการส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ แม้ยอดขายอาจลดลงตามสถานการณ์”

สำหรับการติดต่อธุรกิจในต่างประเทศ ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ปตท.ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปค้าขายผ่านระบบออนไลน์มาโดยตลอด เมื่อเกิดวิกฤติการเดินทาง ทำให้ไม่สะดวกเดินทางไปค้าขายต่างประเทศ ปตท.ก็ไม่มีอุปสรรค เพราะขณะนี้ยังติดต่อสื่อสารระบบออนไลน์ อีเมล รวมทั้ง ปตท.มีศูนย์ตัวแทน หรือบริษัทลูกที่เป็นตัวแทนของ ปตท.ในทุกๆประเทศ ที่ ปตท.มีธุรกรรมการค้าด้วยเช่นกัน

“โควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกขณะนี้ คงยังประเมินไม่ได้ว่า ธุรกิจ ปตท.จะสูญเสีย รายได้เท่าไร เพราะไม่มีใครทราบได้ว่าจะยุติหรือคลี่คลายลงเมื่อใด แต่ยอมรับว่า ยอดขายตลอดทั้งปีนี้อาจลดลง เพราะความต้องการผลิตภัณฑ์ของ ปตท.ทั้งในและต่างประเทศลดลง ทั้งยอดขายเม็ดพลาสติก และน้ำมันอากาศยาน (เจ็ต) โดยเฉพาะน้ำมัน เจ็ทที่อาจลดลงถึง 40% จากปีที่ผ่านมา เพราะประชาชนลดการเดินทางโดยเครื่องบิน”

ค่ายมือถือเทคโนโลยีแน่นพร้อมรับมือ

ถือเป็นธุรกิจที่ต้องเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่หน่วยงานราชการ และเอกชนทั่วประเทศตัดสินใจทำงานที่บ้านมากขึ้น มีฐานลูกค้าอยู่เป็นจำนวนมากที่ต้องดูแลบรรดา 3 ค่ายมือถือ อันได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตลอดจนบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค จึงต้องมีแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อให้ธุรกิจดำเนินได้ต่อเนื่อง (Business Continuity Plan-BCP) ซึ่งผ่านการซักซ้อม ปรับปรุง อัปเดตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กลางเดือน ก.พ.เป็นต้นมา

งานที่สำคัญมากและต้องมีการซักซ้อม เตรียมรับมือต่อภาวะฉุกเฉินตลอดเวลา คือ งานด้านโครงข่าย (เน็ตเวิร์ก) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญเป็นบริการหลัก ปล่อยให้เกิดปัญหาไม่ได้ ตลอดจนบริการคอลเซ็นเตอร์ ในฐานะด่านหน้าในการติดต่อกับลูกค้า

บริการ 2 ส่วนนี้ต้องเดินหน้า 24 ชั่วโมง 7 วัน ไม่มีวันหยุด ศูนย์ปฏิบัติการโครงข่าย (Network Operation Center-NOC) ของแต่ละค่ายมือถือ จึงถูกตั้งอยู่ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงและมีระบบแบ็กอัปอยู่เสมอ เช่นเดียวกับระบบคอลเซ็นเตอร์

ส่วนงานด้านอื่นๆนั้น ตลอด 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้ง 3 ค่ายมือถือได้มีการซักซ้อมการทำงานภายใต้สถานการณ์ที่พนักงานส่วนใหญ่จะต้องทำงานอยู่กับบ้าน (Work From Home) โดยทรูตั้งเป้าหมายให้พนักงาน 90% ของพนักงานทั้งหมดทำงานที่บ้าน ขณะนี้เริ่มต้นแล้วสำหรับพนักงานที่เดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ โดยก่อนหน้านี้ได้ทดลองให้พนักงานทำงานผ่านแอปพลิเคชัน TrueConnect ซึ่งตรวจสอบการเข้างาน เช็กโลเกชันของพนักงาน และมีฟังก์ชันการทำงานที่ครบถ้วน เช่น การประชุมทางไกล (Video Conference) รองรับกับการทำงานที่บ้านแบบ 100% บนระบบของตัวเอง ที่มั่นใจในความปลอดภัย

ขณะที่ดีแทค กำหนดตัวเลขพนักงานทำงานที่บ้านไว้ 70% ของพนักงานประจำสำนักงานใหญ่ที่มีราว 2,000 คน โดยสัปดาห์ ที่ผ่านมาดีแทคทดลองระบบครั้งใหญ่ ให้พนักงานหยุดงานครึ่งหนึ่งโดยห้ามยกเลิกประชุม ห้ามยกเลิกนัดลูกค้า แต่ให้ทำผ่านอินเตอร์เน็ตทั้งหมด ซึ่งพบว่างานราบรื่นดี มีการจัดประชุมที่มีผู้ร่วมประชุมอยู่คนละสถานที่ทั่วโลกถึง 50 คน

ส่วนเอไอเอส ไม่เปิดเผยตัวเลขเป้าหมายพนักงานที่ต้องทำงานที่บ้าน แต่ได้มีการวางแผน ซักซ้อมที่ยืนยันได้ว่า แต่ละงานมีตัวตายตัวแทน ทำงานทดแทนกันได้ ขณะเดียวกันข้อมูลอ่อนไหวต่างๆไม่ว่าจะเป็น เงินเดือนพนักงาน ฐานข้อมูลลูกค้า ระบบชำระเงิน ก็ยังต้องเตรียมระบบที่ปลอดภัยสูงสุดเอาไว้ เผื่อหากต้องดำเนินการจากภายนอกบริษัท ในกรณีเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุด จนผู้มีอำนาจไม่สามารถเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานใหญ่ได้

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้นของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนซึ่งเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้าสู่ระยะที่ 3 และมีการจำกัดพื้นที่ในการทำงานและใช้ชีวิตมากขึ้น จะเป็นแนวทางให้เอกชน และภาครัฐอื่นๆ สามารถที่จะทำความเข้าใจ และเริ่มปฏิบัติการ Work from Home ได้ในทันที.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ