กรมการค้าภายในออก 9 มาตรการดูแลปีทองผลไม้ไทย

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กรมการค้าภายในออก 9 มาตรการดูแลปีทองผลไม้ไทย

Date Time: 13 ม.ค. 2563 09:33 น.

Summary

  • นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) เปิดเผยว่า กรมได้ออก 9 มาตรการในการบริหารจัดการผลไม้ในปี 63 ที่คาดว่าผลไม้หลายประเภทจะมีผลผลิตมากกว่าปีก่อน

Latest

ยกระดับงานสถาปนิก ’68 เพิ่มมูลค่าให้กับประเทศ รับอุตสาหกรรมก่อสร้างฟื้น

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) เปิดเผยว่า กรมได้ออก 9 มาตรการในการบริหารจัดการผลไม้ในปี 63 ที่คาดว่าผลไม้หลายประเภทจะมีผลผลิตมากกว่าปีก่อน โดยจะเน้นการระบายผลไม้ทั้งในและต่างประเทศ การแก้ปัญหาราคาตกต่ำ การจัดระเบียบล้งรับซื้อผลไม้เพื่อป้องกันการกดราคาหรือมีพฤติกรรมเอาเปรียบเกษตรกร เป็นต้น โดยจะใช้งบประมาณในการบริหารจัดการ 396 ล้านบาท ซึ่งมีทั้ง งบประมาณปกติและงบประมาณจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) มั่นใจว่าปี 63 จะเป็นปีทองของผลไม้ไทยหลายชนิดที่จะทำให้ชาวสวนขายผลไม้ได้ในราคาสูง ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มังคุด ลองกอง เงาะ ลิ้นจี่ ลำไย เป็นต้น

สำหรับ 9 มาตรการประกอบด้วย การดึงผู้ประกอบการผลไม้และโรงงานมาทำสัญญาข้อตกลง โดยตั้งเป้าหมายให้ได้ 50 สัญญา เพื่อรับซื้อผลไม้จากเกษตรกรกว่า 20,000 ตัน, การร่วมมือกับห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ร้านธงฟ้า เป็นต้น ในการนำผลไม้เข้าไปจำหน่ายตรงถึงผู้บริโภค โดยมีเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 50,000 ตัน, การจัดหาพื้นที่และกิจกรรมส่งเสริมการขาย ด้วยการนำผลไม้เข้ามาจำหน่าย 20,000 ตัน, การจัดกิจกรรมรณรงค์การบริโภคผลไม้ ด้วยการจัดงานในประเทศและต่างประเทศรวม 8 ครั้ง เช่น การจัดมหกรรมผลไม้ในภาคตะวันออก การทำประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออฟไลน์-ออนไลน์ เน้นโปรโมตผลไม้ทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการผลักดันการส่งออก ด้วยการเชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้ซื้อ ตลาดปลายทาง พร้อมทั้งเพิ่มสภาพคล่องผู้ประกอบการ โดยชดเชยดอกเบี้ย 3% เป็นเวลา 6 เดือน วงเงิน 1,500 ล้านบาท, มาตรการส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพ ทั้งการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิต การปรับปรุงสถานประกอบการสู่มาตรฐานสากลด้วยการชดเชยดอกเบี้ย 3% เป็นเวลา 1 ปี วงเงินไม่เกินรายละ 10 ล้านบาท, การตรวจรับรองสินค้าอินทรีย์

ขณะเดียวกัน ยังมีมาตรการกำกับดูแลล้ง ที่มาตั้งโรงคัดและบรรจุผลไม้ที่ไทยเพื่อส่งออก โดยสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำฐานข้อมูลของล้งทุกราย และจะประสานกับประเทศต้นทางของล้ง เช่น จีน เพื่อตรวจสอบว่า แต่ละรายมีประวัติและพฤติกรรมทางธุรกิจอย่างไร หากมีประวัติไม่ดีจะตักเตือนชาวสวนและ ผู้ประกอบการไทยอย่าร่วมทำธุรกิจด้วย และสุดท้ายการร่วมมือกับกระทรวงแรงงานในการพัฒนาอบรมให้ความรู้แก่แรงงานที่เก็บเกี่ยวผลไม้ ที่อาจเก็บผลไม้ที่อ่อนจนกระทบต่อภาพลักษณ์ผลไม้ไทย กรณีส่งออกแล้วถูกตีกลับมา รวมถึงออกมาตรการให้แรงงานเก็บผลไม้ที่เป็นต่างด้าว และมีความเชี่ยวชาญในการเก็บผลไม้ สามารถเคลื่อนย้ายไปเก็บผลไม้ได้ทั่วประเทศ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ