นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยถึงหนี้สาธารณะของไทยว่า ล่าสุดอยู่ที่ 8.1 ล้านล้านบาท หรือ 51.9% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ส่วนใหญ่เป็นหนี้จากการกู้เงินมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และกู้เพื่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น ก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ถนนวงแหวน เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างงานและทำให้เอกชนมีสภาพคล่อง รวมทั้งบางโครงการมีผลตอบแทนให้แก่รัฐบาลด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันหนี้สาธารณะราว 6.3 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วน 77% ของพอร์ตหนี้สาธารณะทั้งหมดของไทยที่ 8.1 ล้านล้านบาท เป็นการกู้ตรง หรือกู้เนื่องจากรัฐบาลออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้พิเศษ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น หนี้ที่รัฐบาลต้องแบกรับทั้งหมด คือ 6.3 ล้านล้านบาท จากทั้งหมด 8.1 ล้านล้านบาท อีกส่วนจะเป็นเงินที่รัฐวิสาหกิจกู้ ซึ่งรัฐวิสาหกิจจะใช้เงินรายได้ชำระด้วยตัวเอง ไม่กระทบต่อหนี้สาธารณะภาพรวม
ส่วนระดับหนี้สาธารณะของไทยในปีงบประมาณ 64 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 56% ซึ่งอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังไม่เกิน 60% ต่อจีดีพีแน่นอน โดยระดับหนี้สาธารณะของไทยปรับตัวสูงขึ้นจากประมาณ 40% ต่อจีดีพี หลังจากรัฐบาลใช้ พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉินวงเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อดูแลสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากเงินงบประมาณในปี 64 ไม่เพียงพอ โดยการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะของไทยสอดคล้องกับประเทศอื่นๆทั่วโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เช่น ตลาดเกิดใหม่และประเทศในเอเชีย เฉลี่ยการก่อหนี้สาธารณะอยู่ที่ 67% จากเดิมอยู่ที่ 60%
“อยากสร้างความเข้าใจว่าหนี้สาธารณะของไทยอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังมีการบริหารอย่างรอบคอบและมีวินัยการคลังในระดับสูงมาก เพราะเคยมีประสบการณ์การกู้ต่างประเทศ ซึ่งทำให้หนี้สาธารณะพุ่งสูงขึ้นมากในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 ตอนนี้ถือว่าไทยยังมีเครดิตดี เพราะเราบริหารได้ดี และสถานะการคลังยังแข็งแกร่ง”.