“นอน–แบงก์ของแบงก์รัฐ”

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“นอน–แบงก์ของแบงก์รัฐ”

Date Time: 11 ส.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • การเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนใหม่ (วิทัย รัตนากร) ยังไม่ถึง 1 เดือน ก็ดังระเบิดในหมู่นักการเงินและนายธนาคารเป็นที่เรียบร้อย

Latest

หนี้เสียบ้าน-รถ-บัตรเครดิตพุ่ง สินเชื่อไตรมาส 3 หดตัวครั้งแรกรอบ 14 ปี


การเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนใหม่ (วิทัย รัตนากร) ยังไม่ถึง 1 เดือน ก็ดังระเบิดในหมู่นักการเงินและนายธนาคารเป็นที่เรียบร้อย

หลังจากที่ “วิทัย” ออกมาประกาศนโยบายใหม่ๆ ในงานเปิดตัว “อธส.” (ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน) เพื่อเปิดเกมรุกสินเชื่อ “จำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์” ช่วยเหลือประชาชนและสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจและสังคม เพราะอัตราดอกเบี้ยของผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) รับจำนำทะเบียนรถสูงถึงในอัตรา 24% ต่อปี

ธนาคารออมสินจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวลง 50% หรืออยู่ประมาณ 10-14% ต่อปี เพื่อช่วยลดภาระหนี้ ในการผ่อนส่งของประชาชนลงมาให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

ทั้งนี้ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ณ สิ้นเดือน เม.ย.มีจำนวนบัญชีมากถึง 3.7 ล้านบัญชี อัตราการเติบโตตั้งแต่เดือน ก.พ.2562-เม.ย.2563 (14 เดือน) อยู่ที่ 8.7%

ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่กว่า 95% เป็นสินเชื่อจำนำทะเบียนรถของนอนแบงก์มากกว่า 3 ล้านบัญชี เห็นได้อย่างชัดเจนว่า มีอัตราการเพิ่มอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา มากถึง 900,000 บัญชี

ขณะที่การขยายตัวของสินเชื่อธนาคารเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 5% หรือคิดเป็น 170,000 บัญชี ยังน้อยกว่าสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์หลายเท่าตัว

นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ต่อไปว่า ธุรกิจจำนำทะเบียนรถนั้น มีประชาชนใช้บริการทั้งจำนำทุกประเภทรวมกันทั้งรถยนต์ รถกระบะและรถจักรยานยนต์ สูงถึงปีละ 18-20 ล้านคน

ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้าง ณ เดือน เม.ย.2563 ก็มีอัตราการเติบโตเป็นไปในทิศทางเดียวกับประชาชนที่มาใช้บริการจำนำทะเบียน โดยมียอดคงค้างอยู่ 135,000 ล้านบาท เติบโตถึง 4.35% ในช่วง 14 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่ 74% เป็นการปล่อยสินเชื่อจากนอนแบงก์ถึง 100,000 ล้านบาท

แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ธุรกิจนี้มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และดีกว่าการปล่อยสินเชื่อปกติ เช่น สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อเพื่อเชิงพาณิชย์ และสินเชื่อเอสเอ็มอี

ดังนั้นการที่มีประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้องมากถึง 18-20 ล้านคน ทำให้เกิดการแข่งขันของบรรดานอนแบงก์ในการเร่งขยายสินเชื่อในช่วงที่มีภาวะเศรษฐกิจถดถอยและยังเกิดวิกฤติโควิด-19

โดยธนาคารออมสินมองว่า สินเชื่อจำนำทะเบียนรถเป็นแหล่งเงินกู้อีกรูปแบบหนึ่งที่ประชาชนฐานราก หรือคนที่มีรายได้น้อยนิยมใช้บริการ เพราะนอกจากมีความสะดวก และรวดเร็ว อัตราดอกเบี้ยที่จ่ายก็ยังถูกกว่าดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบที่เคยใช้ในอัตรา 10-20% ต่อเดือน หรือประมาณ 40-50% ต่อปี

แต่ถ้ามองอย่างถ่องแท้ จะพบว่า อัตราดอกเบี้ยที่นอนแบงก์เสนอในการปล่อยกู้สินเชื่อก็ยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ซึ่งมักจะใช้กลยุทธ์เดิมๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยคงที่ 1% ต่อเดือน เพื่อสร้างแรงจูงใจเพราะคิดว่าดอกเบี้ย 1% นั้น ถูกมากๆ แต่หากปรับจากดอกเบี้ยคงที่ต่อเดือนเป็นอัตราดอกเบี้ยต่อปี เหมือนกับธนาคารทั่วไป พบว่าอัตราดอกเบี้ยคงที่ 1% ต่อเดือน จะสูงเท่ากับอัตราดอกเบี้ย 24% ต่อปี

“ธนาคารออมสิน” จึงออกมาเขย่าตลาดประกาศดำเนินธุรกิจจำนำทะเบียนรถเพื่อตัดวงจรดอกเบี้ยมหาโหดให้ลดลง 8–10%ซึ่งคาดว่าภายในปลายปีนี้หรืออย่างช้าไม่เกินต้นปีหน้า ก็จะ เห็นธนาคารออมสินออกโปรดักส์สินเชื่อจำนำทะเบียนรถออกมาแข่ง กับนอนแบงก์ เพียงแค่นี้บรรดานอนแบงก์ก็ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงต่ำกว่า 1% ต่อเดือนทันที เพื่อหวังชิงหัวหาดก่อนธนาคารออมสินจะเปิดตัวโปรดักส์ใหม่

แต่ก็ไม่ได้ทำให้ “วิทัย” หวาดผวา หรือเกรงกลัวต่อนอนแบงก์แต่อย่างใด เพราะหมัดเด็ดที่ธนาคารออมสินได้เตรียมไว้คือ การตั้งบริษัทลูก หรือบริษัทในเครือแห่งใหม่ “นอน–แบงก์ แบงก์รัฐ” ที่เกิดจากการรวมตัวของธนาคารเฉพาะกิจสายพันธมิตร เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นต้น

การเปิดตัวนอน–แบงก์ แบงก์รัฐ ในครั้งนี้ มั่นใจได้ว่า “วิทัย” จะทำให้ธนาคารออมสิน เป็นธนาคารโซเชียลแบงกิ้ง (Social Banking) ดูแลประชาชน เศรษฐกิจฐานราก ช่วยคนจน ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และสร้างความยุติธรรมให้กับประชาชนได้อย่างแน่นอน

สมศักดิ์ศรี “โซเชียลแบงกิ้ง” ธนาคารยุคใหม่ คนรุ่นใหม่จริงๆ.

วรรณกิจ ตันติฉันทะวงศ์


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ