หยุดถือ LTF ลุยลงทุน SSF ดีไหม ส่องทริก ลดหย่อนภาษี มีเงินเก็บเต็มเป๋า

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

หยุดถือ LTF ลุยลงทุน SSF ดีไหม ส่องทริก ลดหย่อนภาษี มีเงินเก็บเต็มเป๋า

Date Time: 26 ธ.ค. 2562 21:15 น.

Video

เจาะวิธีทำเงินของ Yahoo ยักษ์ที่ยอมเป็นเงา เพื่อเอาตัวรอด | Digital Frontiers

Summary

  • หยุดถือกองทุน LTF ลุยลงทุนกองทุน SSF ดีไหม พาไขคำตอบ ควรถือหรือไปต่อ พร้อมส่องทริก "วางแผนลดหย่อนภาษี" มีเงินเก็บเหลือเต็มเป๋า

หยุดถือ กองทุน LTF ลุยลงทุน กองทุน SSF ดีไหม พาไขคำตอบ ควรถือหรือไปต่อ พร้อมส่องทริก "วางแผนลดหย่อนภาษี" มีเงินเก็บเหลือเต็มเป๋า

ภาคภูมิ พีรยวัฒนา AFPT™ Assistant Wealth Manager ธนาคารทิสโก้ อธิบายกับ "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" ว่า กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Saving Fund) หรือ กองทุน SSF ซึ่งรัฐบาลประกาศว่าจะมาเป็นตัวแทน กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ในฐานะเครื่องมือในการออมระยะยาว ควบคู่ไปกับการได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษีนั่น เราจะขอธิบายให้เห็นภาพดังนี้

- กองทุน SSF สามารถซื้อได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินแต่ไม่เกิน 200,000 บาท 

- ไม่มียอดเงินลงทุนขั้นต่ำ

- ไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี

- หากนับรวมกองทุน SSF กับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (RMF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุน กบข. ประกันบำนาญ และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ที่ซื้อแต่ละปีแล้วนั้น เมื่อมารวมกันจะต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี

- นักลงทุนจะต้องถือครอง SSF เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยนับแบบวันชนวัน

- ในแง่ของนโยบายการลงทุนของ SSF เมื่อเทียบกับ LTF แล้ว ถือว่ากองทุน SSF จะมีขอบเขตนโยบายการลงทุนที่เปิดกว้างกว่า เนื่องจากสามารถเลือกลงทุนหลักทรัพย์ไม่ได้จำกัดแค่หุ้นเพียงอย่างเดียว แต่สามารถลงทุนสินทรัพย์ได้ทุกประเภทคล้ายกับกองทุน RMF

กองทุน LTF ถือต่อหรือพอแค่นี้ ?

ภาคภูมิ กล่าวว่า คนที่ลงทุนในกองทุน LTF อยู่แล้ว เรามองว่าปัจจัยในการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับ LTF ที่มีอยู่นั้น ไม่ได้ขึ้นกับการมาของ SSF หากแต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ที่มีความสำคัญกว่า

ยกตัวอย่างเช่น ผลการดำเนินงานของกองทุน LTF ของเราที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ความจำเป็นในการใช้เงินลงทุนก้อนดังกล่าวมีมากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงความน่าสนใจของการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในระยะยาว ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักลงทุนที่จะต้องประเมินโอกาสและความเสี่ยงในอนาคตตามมุมมองของตนเอง เชื่อว่าคำตอบที่ได้ของแต่ละคนนั้นน่าจะออกมาแตกต่างกัน

แต่สิ่งที่ทุกคนจะต้องระมัดระวังอย่างยิ่งคือ การขาย LTF แบบผิดเงื่อนไข ซึ่งก็คือ การขายก่อนครบกำหนด 7 ปีปฏิทิน จะทำให้เราต้องคืนภาษีที่ได้รับการยกเว้นย้อนหลัง พร้อมทั้งจ่ายเงินคืนเพิ่มในอัตรา 1.5% ต่อเดือนนับตั้งแต่เดือนเม.ย.ของปีที่ผู้ลงทุนขอยกเว้นภาษีจนถึงเดือนที่ผู้ลงทุนทราบว่าตนเองได้ทำผิดเงื่อนไขการลงทุน

นอกจากนี้ กรณีที่กองทุนมีกำไรจากการลงทุน ผู้ลงทุนจะต้องนำกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital gain) ของกองทุน LTF ไปรวมเป็นเงินได้ของปีที่ขายคืนเพื่อเสียภาษีเงินได้อีกด้วย ดังนั้น การถือ LTF จนครบเงื่อนไข จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะต้องทำก่อนที่จะตัดสินใจขาย

LTF ยังซื้อได้หรือไม่ ?

จากการสำรวจข้อมูลของแต่ละบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ. หลังจากเปิดทำการในปี 2563 เป็นต้นไป นักลงทุนจะไม่สามารถเข้าลงทุนใน LTF ได้แล้ว แต่ทั้งนี้ยังสามารถสับเปลี่ยนกองทุนได้ภายใน LTF ด้วยกัน

ขณะเดียวกัน ถ้ากองทุนที่ลงทุนอยู่เดิมมีผลการดำเนินงานไม่เป็นที่น่าพึ่งพอใจก็ยังสามารถโอนย้ายหน่วยลงทุนไปยังบลจ.อื่นได้ ทั้งนี้นักลงทุนก็ต้องศึกษาเงื่อนไขการคิดค่าธรรมเนียมการโอนย้ายออกให้ดีก่อนทำการตัดสินใจ

ซื้อกองทุน LTF แบบ DCA ทำอย่างไร

สำหรับนักลงทุนที่ทำการคำสั่งซื้อหน่วยลงทุน LTF แบบ Dollar Cost Averaging หรือ DCA ล่วงหน้านั้น บลจ. จะทำการยกเลิกคำสั่งการทำรายการซื้อหรือสับเปลี่ยนเข้า LTF แบบอัตโนมัติดังกล่าวที่ตั้งไว้ และส่งจดหมายแจ้งไปยังผู้ถือหน่วยลงทุน

หากนักลงทุนไม่ได้รับการติดต่อจากทางบลจ. เราแนะนำให้ท่านติดต่อและสอบถามกับทางบลจ.โดยตรง เพื่อเป็นการยืนยันว่ารายการคำสั่งซื้อ LTF แบบอัตโนมัติล่วงหน้าได้ถูกยกเลิกเรียบร้อยแล้ว

ควรซื้อกองทุน SSF แบบ DCA หรือไม่ ?

ภาคภูมิ กล่าวว่า ในประเด็นนี้นักลงทุนที่ตั้งใจจะทำ DCA ใน SSF ทุกเดือนเหมือนที่เคยทำกับ LTF ก็คือ ระยะเวลาที่ครบกำหนดของกองทุน SSF จะอยู่ที่ 10 ปี นับแบบวันชนวัน ต่างจาก LTF ที่จะมีระยะเวลาการลงทุนแบบ 7 ปีปฏิทิน

ผลก็คือ หากเราเข้าซื้อ SSF แบบ DCA ทุกเดือนตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป จะทำให้ SSF ทยอยครบกำหนดในปี 2573 ทีละเดือนตั้งแต่ ม.ค.ถึง ธ.ค. ซึ่งต่างจากกรณีของ LTF ที่ถึงเวลาครบกำหนดจะสามารถไถ่ถอนออกได้เป็นเงินก้อน

อย่างไรก็ตาม ทำให้การขายคืน SSF จะมีความยากลำบากมากกว่า เมื่อเทียบกับ LTF หากต้องการลงทุนแบบ DCA เราแนะนำให้นักลงทุนเน้นไปลงทุนที่กองทุน RMF มากกว่าเนื่องจากมีวิธีนับแบบวันชนวันและมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายเช่นเดียวกับกองทุน SSF

วางแผนลดหย่อนภาษีปี 63

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับในการวางแผนลดหย่อนภาษีผ่านการลงทุน SSF ในปีต่อๆ ไปจะลดลงเมื่อเทียบกับสิทธิที่เราเคยได้รับปีก่อนๆ จากเดิมที่สามารถลงทุนกองทุน LTF-RMF และกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุประเภทอื่นๆ รวมกันทั้งหมดไม่เกิน 1 ล้านบาท กลายเป็นสามารถลงทุนกองทุน SSF, RMF และกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุประเภทอื่นๆ รวมกันทั้งหมดไม่เกิน 5 แสนบาทเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เรายังคงสามารถวางแผนภาษีผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทต่างๆ ได้ที่ยังให้สิทธิประโยชน์ในการนำไปลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน เช่น การลงทุนผ่านกองทุนรวม RMF เพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว

รวมถึงการทำประกันสุขภาพเพื่อเป็นการปิดความเสี่ยงจากการที่เราต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ การทำประกันชีวิตเพื่อเป็นการสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับครอบครัวหรือคนที่เรารัก

ขณะเดียวกันก็ถือเป็นการออมเงินรูปแบบหนึ่ง ที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างแน่นอนและมีความเสี่ยงต่ำ หรือการซื้อประกันบำนาญเพื่อการันตีการรับกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอตลอดช่วงวัยหลังเกษียณ

รวมถึงการใช้ช่องทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่เป็นการซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อมาช่วยลดหย่อนภาษีได้ เช่น การบริจาคทางการศึกษา ซึ่งสามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนเงินบริจาคที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปี 2563 จะมีการเปลี่ยนแปลงจากกองทุน LTF มาเป็น SSF แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของกองทุนทั้ง 2 ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง คือ ต้องการสนับสนุนให้คนไทยเก็บออมและลงทุนระยะยาว เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีควบคู่กับการประหยัดภาษี

ดังนั้นการวางแผนภาษีที่ดีนั้น จึงควรเน้นการบริหารจัดการแบบบูรณาการร่วมกับการวางแผนการลงทุนและการวางแผนประกัน เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อความมั่งคั่งของเราในระยะยาว


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ