จัดระเบียบ "หนี้ต่อรายได้" มาตรฐานเดียวแก้กู้เกินตัว

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

จัดระเบียบ "หนี้ต่อรายได้" มาตรฐานเดียวแก้กู้เกินตัว

Date Time: 6 ธ.ค. 2562 06:40 น.

Summary

  • ธปท.ระบุยังไม่คุมสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ DSR ในขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการจัดระเบียบนิยาม และการคำนวณ DSR แต่ละสถาบันการเงินให้เป็นมาตรฐานเดียวกันก่อน ระบุธนาคารพาณิชย์เริ่มชะลอสินเชื่อเสี่ยงลง

Latest

ซีไอเอ็มบีไทย มองธุรกิจ Wealth แข่งดุ งัดกลยุทธ์เงินฝากดอกเบี้ยสูง ตั้งเป้าปี 68  AUM โต 10%

ธปท.ระบุยังไม่คุมสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ DSR ในขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการจัดระเบียบนิยาม และการคำนวณ DSR แต่ละสถาบันการเงินให้เป็นมาตรฐานเดียวกันก่อน ระบุธนาคารพาณิชย์เริ่มชะลอสินเชื่อเสี่ยงลง แต่ในอนาคตหากจำเป็นก็งัดมาคุมได้ ชี้การศึกษาระบุตัวเลขที่เหมาะสมอยู่ที่ 40-60%

ผู้สื่อข่าวรายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงความคืบหน้าการดำเนินการดูแล การปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์อย่างมีความรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ เพื่อช่วยดูแลหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ว่า ในช่วงสิ้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่ง ธปท.กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ รายงานหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ และการคิดค่าความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อแต่ละประเภท โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคและบริโภคมาให้ ธปท.รับทราบนั้น ในขณะนี้แต่ละธนาคารได้ทยอยส่ง รายงานดังกล่าวมายัง ธปท.แล้ว

โดยเมื่อได้รับข้อมูลดังกล่าว ธปท.จะนำข้อมูลของแต่ละธนาคารมาพิจารณาว่า การคิดความเสี่ยงในการปล่อยกู้ของแต่ละธนาคารเป็นอย่างไร มีการคิดสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ หรือ Debt Service Ratio (DSR) กับผู้กู้แต่ละประเภทอย่างไร เพื่อนำมาพิจารณา หามาตรฐานกลางในการปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพมากขึ้น ช่วยลดภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงมาก และช่วยไม่ให้ประชาชนก่อหนี้เกินตัว

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.พบว่าคิดความเสี่ยงของผู้กู้แต่ละประเภทของแต่ละธนาคารพาณิชย์มีความแตกต่างกัน โดยบางธนาคารพาณิชย์อาจจะกำหนดระดับ DSR ไว้สูงหรือต่ำแตกต่างกันไป รวมทั้งยังมีการคำนวณ DSR ทั้งคิดเฉพาะสินเชื่อที่กู้ภายในธนาคารเดียวกันเท่านั้น ไม่ได้คำนวณ DSR ในภาพรวมของทุกสินเชื่อ และทุกสถาบันการเงิน ทำให้จากการตรวจสอบมีผู้กู้บางคนที่กู้เงินจากหลายธนาคารพาณิชย์ จนมีสัดส่วน DSR สูงมากใกล้ 100% หรือบางกรณีสูงเกินกว่ารายได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาต่อผู้กู้ และสังคมในอนาคต ซึ่งตามการศึกษาของ ธปท.สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ ซึ่งหลายประเทศใช้จะอยู่ที่ 40-60%

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน กล่าวว่า ในขณะนี้ ธปท.ยังไม่คิดไปถึงการกำหนดระดับสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ หรือ DSR ของทุกธนาคารให้เป็นตัวเลขเดียวกัน แต่จะขอดูรายงานการปล่อยสินเชื่อว่า มาตรฐานการให้สินเชื่อของแต่ละธนาคารเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการกำหนด DSR เพราะในหลักการที่เราพิจารณาคือ ต้องการให้การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชน และไม่เร่งหนี้ครัวเรือนหรือทำให้ก่อหนี้เกินตัว

“ในขั้นตอนแรก จะดูข้อมูลที่ได้มาก่อนว่า แต่ละธนาคารมีการพิจารณาความเสี่ยงของผู้กู้อย่างไร คนกู้แบบไหน สินเชื่อประเภทใด ให้สัดส่วน หนี้ต่อรายได้เท่าไร รวมทั้งจะต้องกำหนดนิยามของคำว่ารายได้ให้เหมือนกัน จำนวนหนี้ที่นำมา คำนวณ DSR ต้องครอบคลุมหนี้แค่ไหน ซึ่งควรครอบคลุมหนี้ที่มีอยู่ในทุกสถาบันการเงิน รวมทั้งหลักเกณฑ์การประเมินรายได้ของผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำให้ตรงกัน และหลังจากการดูรายละเอียดเหล่านี้ จึงจะหาทางปรับวิธีคิดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน มีสัดส่วนหนี้ต่อภาระต่อรายได้ใกล้เคียงกัน และที่สำคัญเป็นสัดส่วนที่ทำให้คนไทยไม่มีหนี้เกินตัว และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข”

ต่อข้อถามที่ว่า จำเป็นจะต้องออกมาเป็นการกำหนดตัวเลข DSR หรือไม่ นายรณดล กล่าวว่า หลังจากที่ได้พูดคุยกับธนาคารพาณิชย์ มีความเข้าใจ ในกรณีเหล่านี้มากขึ้น ดังนั้น ในช่วงแรกจะเน้นการปรับมาตรฐานให้เท่ากันก่อน เพื่อลดสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง แต่หากในอนาคตมีความจำเป็นต้องทำ ก็จะมาพิจารณากันอีกครั้งตามความเหมาะสม เช่น ในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีการปล่อยกู้สูงมาก ในขณะนี้เริ่มชะลอลงบ้าง อย่างไรก็ตาม ธปท.จะจับตาการปล่อยสินเชื่ออุปโภคและบริโภคต่อเนื่อง เนื่องจากแม้จะมีการขยายตัวของสินเชื่อที่ชะลอตัวลง แต่เริ่มเห็นหนี้ที่ขาดส่งตั้งแต่ 1 เดือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ