กระแสสังคมไร้เงินสดในไทยสุดฮอต!
ธปท.แจง พ.ร.บ.ชำระเงินฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา จ่อเรียกผู้ประกอบการเดิมกว่า 100 รายขอใบอนุญาตใหม่ภายใน 120 วัน ลดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำผู้ให้บริการ e–money ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 100 ล้านบาท ขณะที่มองอนาคตสังคมไร้เงินสดในไทยเริ่มตั้งไข่ได้ ชี้คนใช้พร้อมเพย์ทะลุ 40 ล้านบัญชี ขณะที่ยอดโอนเงินต่อรายลดลงเหลือ 3,000 ต่อรายการ
น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายระบบการชำระเงิน และเทคโนโลยีทางการเงิน กล่าวว่า ในวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน พ.ศ.2560 เริ่มมีผลบังคับใช้ และในวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง และ ธปท.ได้มีการออกประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องภายใต้ พ.ร.บ.หรือกฎหมายลูกทั้งสิ้นจำนวน 16 ฉบับ โดยมีการกำหนดผู้ให้บริการที่จะต้องขึ้นทะเบียน และขอใบอนุญาตจาก ธปท.เพื่อธุรกิจให้บริการโอนเงิน และรับชำระเงิน
โดยธุรกิจที่จะต้องขออนุญาต ประกอบด้วย 4 ประเภท คือ 1.บัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรเอทีเอ็ม 2.การให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-money 3.ธุรกิจการโอนเงิน และ 4.ธุรกิจการรับชำระเงิน ประกอบด้วย 1.การรับชำระเงินทั่วไป 2.การรับชำระค่าสาธารณูปโภค และ 3.การรับชำระเงินแทน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ให้บริการที่มีอยู่ในระบบขณะนี้จำนวนกว่า 100 ราย จะต้องมาขึ้นทะเบียน หรือขอใบอนุญาตใหม่ภายใน 120 วัน นับจากวันบังคับใช้ หรือภายในวันที่ 14 ส.ค.61 โดยในช่วงนี้ ธปท.จะผ่อนผันให้ผู้ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.เดิมดำเนินการได้ต่อเนื่อง แต่หลังจากครบกำหนดการขออนุญาตใหม่ หากไม่มีการขออนุญาตจะต้องขอให้หยุดดำเนินการ
ทั้งนี้ ใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ยังมีการปรับเปลี่ยน จำนวนทุนจดทะเบียนขั้นต่ำที่กำหนดให้ต้องมีในส่วนของธุรกิจที่จะให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดย ปรับลดทุนจดทะเบียนจากเดิมขั้นต่ำจาก 200 ล้านบาท เหลือ 100 ล้านบาท เพื่อให้รายเล็กสามารถที่จะเข้าสู่การให้บริการดังกล่าวได้ และช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกช่องทางการจ่ายเงินที่มากขึ้น นอกจากนั้น ยังเพิ่มความเข้มงวดในกรณีของการคุ้มครองผู้บริโภค โดยในส่วนของการรักษาความลับส่วนบุคคลของผู้ให้บริการ โดยหากพบว่ามีบริษัทใดนำข้อมูลลูกค้าไปใช้ในทางธุรกิจ กำหนดปรับสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท
น.ส.สิริธิดา กล่าวต่อว่า ในปีที่ผ่านมา ประชาชนได้เริ่มให้ความสนใจในการโอนเงิน และชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยล่าสุด ผลสำรวจการโอนเงิน และชำระเงินผ่านบริการพร้อมเพย์ พบว่าทำลายสถิติในทุกเดือน โดยล่าสุดวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา ยอดผู้ใช้บริการพร้อมเพย์ทะลุ 40 ล้านบัญชี โดยผูกกับหมายเลขบัตรประ
ชาชน 27 ล้านบัญชี และผูกกับหมายเลขโทรศัพท์ 13 ล้านบัญชี และขณะที่มูลค่าการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์สะสมตั้งแต่เริ่มให้บริการอยู่ที่ 173 ล้านรายการ มูลค่าการโอนเงิน 700,000 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าของการโอนเงินผ่านการให้บริการ e-money และผู้ให้บริการชำระเงินอื่นๆ ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 4,000 ล้านรายการ
เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 30% ใน ขณะที่มีมูลค่าการโอนเงิน 300 ล้านล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 3-4%
“จากการพิจารณาการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ พบว่า จำนวนเงินเฉลี่ยที่ประชาชนโอนน้อยลงเรื่อยๆ ล่าสุดเฉลี่ยที่ 3,000 กว่าบาทต่อรายการ ลดลงครึ่งหนึ่งจากช่วงต้นของการให้บริการเฉลี่ย 7,000-8,000 บาทต่อรายการ และมีประชาชนมากขึ้นที่โอนเงินไม่ถึง 100 บาท เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการผ่านคิวอาร์โค้ด ซึ่งเป็นการโอนเงินเพื่อชีวิตประจำวันมากขึ้น แสดงให้เห็นการเติบโตของสังคมไร้เงินสด และ พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้จะช่วยเอื้อในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานของระบบการชำระเงินเพื่อสร้างฐานในการเกิดสังคมไร้เงินสดในประเทศไทย”.