ด้วยพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปของคนในเจเนอเรชั่นใหม่ ที่เรียกกันว่า “ยัม เจเนอเรชั่น” (Generation Yum) หรือ “กลุ่มฟู้ดดี้” ที่มีลักษณะเฉพาะ คือ ชอบแสดงตัวตนด้วยไลฟ์สไตล์โชว์รูปอาหารผ่านโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงตระเวนชิม ทดลองทำ และโพสต์รูปหรือคลิปวีดิโอ
คนกลุ่มนี้จะเอาจริงเอาจังกับเรื่องของอาหารและการกินอาหาร จนนำไปสู่การท่องเที่ยวแนวใหม่ที่เรียกว่า Food Tourism ที่ไม่ได้หมายถึงแค่การกินอาหาร แต่หมายถึงการเข้าไปเรียนรู้ประสบการณ์เรื่องอาหารในที่ต่างๆอย่างจริงๆจังๆ
เมื่ออาหารกลายเป็นองค์ประกอบหลักของการท่องเที่ยว เทียบเท่ากับ ที่พัก อากาศ และสถานที่ท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงถือเป็นโอกาสที่จะเร่งเครื่องโปรโมตการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ที่เรียกว่า Gastronomy Tourism
วันก่อน นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ลงพื้นที่เยาวราชเพื่อผลักดันให้ เยาวราช เป็นย่านของ อาหารประเภทริมทางเท้า หรือ Street Food ระดับโลก ด้วยการที่เป็นแหล่งรวมของอาหารอร่อยปรุงสำเร็จและอาหารรสชาติระดับภัตตาคารหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นหูฉลามน้ำแดง กระเพาะปลา เกาลัด ไปจนถึงอาหารทะเลที่ปรุงกันแบบสดๆจนนักท่องเที่ยวต้องต่อคิวรอเป็นชั่วโมงก็มี
“เมื่อเร็วๆนี้ สำนักข่าว CNN ได้จัดอันดับให้กรุงเทพมหานครเป็นสวรรค์แห่งอาหารริมทางหรือ เมืองที่มีอาหารริมทางดีที่สุดในโลกต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยระบุด้วยว่าเยาวราชคือย่านของกินที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง” ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯบอก
นอกจากนี้ สภาอาหาร ริมทางโลก หรือ World Street Food Congress ได้ยกให้ เมนู “หอยทอด” เป็น 1 ใน 3 ของอาหารที่ขึ้นชื่อมากที่สุดที่หารับประทานได้ริมทางในกรุงเทพฯด้วย
นายพงษ์ภาณุ บอกว่า สตรีทฟู้ด จะกลายเป็นอีกหนึ่งจุดขายด้านการท่องเที่ยวที่รัฐบาลเตรียมผลักดันให้ได้มาตรฐาน มีความสะอาด ปลอดภัย ลบภาพลักษณ์อาหารข้างทางที่มีวิธีการปรุงไม่ค่อยถูกสุขลักษณะ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ หันมารับประทานเพิ่มมากขึ้น
ที่ผ่านมา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาเส้นทางการ ท่องเที่ยวเชิงอาหารและคัดสรรเมนูเด่นในท้องถิ่น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยมากขึ้น อันจะนำรายได้สู่ท้องถิ่นและประเทศเพิ่มขึ้น
“การท่องเที่ยวเชิงอาหารเป็นการท่องเที่ยวที่ผสมผสานเรื่องอาหารและวัฒนธรรมการกินของแต่ละท้องถิ่นที่มีอยู่เดิมซึ่งจะแตกต่างไปในแต่ละภูมิภาค กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกรุงเทพมหานคร ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันในการส่งเสริมการท่อง-เที่ยวเชิงอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบของการท่องเที่ยวที่สำคัญ” นายพงษ์ภาณุ บอก
ทั้งนี้ ปี 2559 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอาหารสูงถึง 480,000 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 3 รองจากที่พักและ สินค้าของที่ระลึก
ส่วนนักท่องเที่ยวที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอาหารสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน 83,313 ล้านบาท รัสเซีย 20,818 ล้านบาท และ สหราชอาณาจักร 18,409 ล้านบาท ซึ่งพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะชื่นชอบอาหารไทย โดยเฉพาะอาหารริมทาง หรือ Street Food และอาหารท้องถิ่นมากขึ้น
“นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ที่ประเทศไทยได้รับรางวัลมากมายในเรื่องของแหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหาร อาทิ เว็บไซต์ Travel and Leisure ยกให้ กทม.เป็น Best Street Food in Bangkok โดยระบุย่านที่มีชื่อเสียงของอาหาร
ริมทางในกรุงเทพฯ 3 แห่ง คือ เยาวราช, อ.ต.ก. และทองหล่อ” ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ระบุและว่า คาดว่าแนวโน้มรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ในปี 2560 จะมีมูลค่าเพิ่มเท่ากับ 500,000 ล้านบาท
ด้าน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับ “มิชลิน ไกด์” จัดทำคู่มือแนะนำร้านอาหารและที่พัก เพื่อออกคู่มือ “มิชลิน ไกด์” ฉบับกรุงเทพฯ โดยจะเปิดตัวในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ และเป็นที่ 6 ในเอเชีย และที่ 29 ของโลกที่ได้รับการสำรวจและจัดทำคู่มือโดยมิชลิน ซึ่งมีอายุเก่าแก่ถึง 118 ปี
ทาง สยามมิชลิน จำกัด ยืนยันว่าการสำรวจร้านอาหารครั้งนี้ จะให้โอกาสกับร้านอาหารทุกประเภทอย่างเท่าเทียมกัน ไม่จำกัดเฉพาะร้านอาหารหรูเท่านั้น แต่ร้านประเภทสตรีทฟู้ดก็มีโอกาสเข้ารับการสำรวจด้วย รวมถึงร้านอาหารที่ผู้คนเข้าไปรับประทานกันในชีวิตประจำวันด้วย
เพื่อเป็นการตอกย้ำความเป็นอาหารริมทางของโลกจริงๆ ในเดือน มิ.ย.2560 นี้ ททท. จะจับมือกับกรุงเทพมหานคร จัดงาน “แบงค็อก สตรีท ฟู้ด เฟสติวัล” เพื่อส่งเสริมอาหารข้างทางเป็นหนึ่งในกลไกผลักดันรายได้ด้านท่องเที่ยว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาพื้นที่การจัดงาน ซึ่งอาจจะเลือกย่านที่เป็นแหล่งรวมของนักท่องเที่ยว เช่น ถนนข้าวสาร, เยาวราช หรือย่านประตูน้ำ ฯลฯ
ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทย อีกเรื่องหนึ่งในปีนี้...!!!!
ศศดิศ ชูชนม์