จ่ายเงินซื้อ พ.ร.บ.รถยนต์ ทุกปี รู้ไหม เราเบิกค่าอะไรได้บ้าง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

จ่ายเงินซื้อ พ.ร.บ.รถยนต์ ทุกปี รู้ไหม เราเบิกค่าอะไรได้บ้าง

Date Time: 3 มิ.ย. 2560 06:55 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • พ.ร.บ.รถยนต์ ที่เราเรียกติดปากก็คือ ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ มีไว้เพื่อคุ้มครองผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถยนต์ และจักรยานยนต์

หลายคนเคยสงสัย เราทำ พ.ร.บ.รถยนต์ไปทำไม ทำแล้วได้ใช้จริงๆ หรือไม่ 'ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์' ขออาสาพาไปรู้จักประโยชน์ที่แท้จริงของ พ.ร.บ.กัน

สำหรับ พ.ร.บ.รถยนต์ หรือ การประกันรถยนต์ภาคบังคับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ที่เราเรียกติดปากก็คือ ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (Compulsory Third Party Insurance) ซึ่งมีการบังคับไว้ว่ารถยนต์ หรือ จักรยานยนต์ ทุกคันจะต้องทำประกันนี้ไว้ และทุกครั้งที่จะต้องเสียภาษีต่อทะเบียนรถ จะต้องซื้อ พ.ร.บ.ควบคู่ไปด้วย เพื่อคุ้มครองผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถยนต์ และจักรยานยนต์ เป็นหลัก

สำหรับ การคุ้มครอง มีดังนี้

ค่าเสียหายเบื้องต้น ได้รับโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด  

1. ค่ารักษาพยาบาล จากการบาดเจ็บ จ่ายตามจริง สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน
2. การเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือ ทุพพลภาพอย่างถาวร 35,000 บาทต่อคน

หากเสียหายรวมกันทั้งข้อ 1 และ ข้อ 2 ต้องไม่เกิน 65,000 บาทต่อคน

การจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งผู้เคลมประกัน จะได้รับภายหลังจากการพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เป็นฝ่ายผิดตามกฎหมาย โดยมีวงเงินคุ้มครองรวมกับค่าเสียหายเบื้องต้นดังนี้ กรณีเป็นฝ่ายถูก

1. ค่ารักษาพยาบาล จากการบาดเจ็บ สูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน
2. การเสียชีวิต หรือ ทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน
3. สูญเสียอวัยวะ
         3.1 สูญเสียมือตั้งแต่ข้อมือ หรือแขน หรือเท้าตั้งแต่ข้อเท้า หรือขา หรือ ตาบอด อย่างใดอย่างหนึ่งรวมกัน ตั้งแต่ 2 กรณีขึ้นไป 300,000 บาท
         3.2 สูญเสียมือตั้งแต่ข้อมือ หรือแขน หรือเท้าตั้งแต่ข้อเท้า หรือขา หรือสายตา(ตาบอด) หรือ หูหนวกเป็นใบ้ หรือเสียความสามารถในการพูดหรือลิ้นขาด สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถในการสืบพันธุ์ จิตพิการอย่างติดตัว หรือเสียอวัยวะอื่นใด 250,000 บาท
         3.3 สูญเสียนิ้วตั้งแต่ข้อนิ้วขึ้นไป ไม่ว่านิ้วเดียว หรือ หลายนิ้ว 200,000 บาท
4. ค่าชดเชยการรักษาตัว กรณีผู้ป่วยใน 200 บาทต่อวัน แต่ไม่เกิน 20 วัน หรือไม่เกิน 4,000 บาท
5. จำนวนเงินคุ้มครองสูงสุดรวมกันต้องไม่เกิน 304,000 บาท
6. วงเงินคุ้มครองความรับผิดสูงสุดต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง สำหรับรถยนต์ไม่เกิน 7 ที่นั่ง 5,000,000 ต่อครั้ง
7  วงเงินคุ้มครองความรับผิดสูงสุดต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง สำหรับรถยนต์เกิน 7 ที่นั่ง 10,000,000 ต่อครั้ง

สำหรับ เอกสารที่จะต้องใช้เวลาการเคลม พ.ร.บ. มีดังนี้

กรณีบาดเจ็บ

1. สำเนาบัตรประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุ
2. ใบเสร็จรับเงินต้นฉบับ

กรณีเบิกค่าชดเชย หรือ ผู้ป่วยใน

1. สำเนาบัตรประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุ
2. ใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน

กรณีทุพพลภาพ

1. สำเนาบัตรประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุ
2. ใบรับรองแพทย์และหนังสือรับรองความพิการ
3. สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน หรือ หลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายจากการประสบภัยจากรถ

กรณีเสียชีวิต

1. สำเนาบัตรประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุ
2. ใบมรณบัตร
3. สำเนาบัตรประชาชนทายาทสำเนาทะเบียนบ้าน
4. สำเนาบันทึกประจำวันในคดีของพนักงานสอบสวน หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นถึงแก่ความตาย เพราะการประสบภัยจากรถ

เมื่อเตรียมเอกสารเรียบร้อยแล้ว สามารถทำเรื่องขอเบิกเงิน จากบริษัทประกันภัยรถยนต์ที่เราซื้อพ.ร.บ.มา ซึ่งสามารถดูได้ที่กรมธรรม์ และ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ สำหรับรถจักรยานยนต์  ซึ่งจะมีการเบิกจ่ายเงินภายใน 7 วัน โดยพ.ร.บ.จะคุ้มครองผู้เสียหายในส่วนของคนเท่านั้น ส่วนทรัพย์สิน หรือ ตัวรถจะไม่ได้รับการคุ้มครอง

ฉะนั้น ผู้ขับขี่รถยนต์ ควรจะทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ หรือที่เราเรียกว่าประกันรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นชั้น 1 ชั้น 2 หรือชั้น 3 ก็ควรทำไว้เช่นกัน เพื่อประกันความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ