ธปท.เตรียมต่อเวลา “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้” ไปจนถึงเดือน มิ.ย.จ่อเพิ่มไกล่เกลี่ยสินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อกู้ยืม กยศ.รวมทั้งไกล่เกลี่ยหนี้รายสถาบัน จากเดิมช่วยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล โดยช่วงที่ผ่านมามีลูกหนี้สมัครรับไกล่เกลี่ยหนี้จำนวนมากกว่า 4 แสนรายการ
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในเร็วๆนี้ ธปท.จะมีการต่ออายุโครงการ “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรและสินเชื่อส่วนบุคคล” ที่ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 ก.พ. จนถึงวันที่ 14 เม.ย.นี้ โดยจะขยายออกไปจนถึงเดือน มิ.ย. 2564 โดย ธปท.กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการหารือเพื่อสร้างมาตรฐานกลางในคดีผู้บริโภคประเภทอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมจากเดิมที่รับไกล่เกลี่ยหนี้บัตรและสินเชื่อส่วนบุคคล อาทิ คดีสินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อกู้ยืมกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) พร้อมเตรียมการไกล่เกลี่ยหนี้รายสถาบันอีกด้วย โดยล่าสุด ณ วันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมามีจำนวนลูกหนี้ลงทะเบียนรับการช่วยเหลือไกล่เกลี่ยหนี้ในโครงการมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรและสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งสิ้น 225,453 คน เป็นสินเชื่อทั้งสิ้น 462,840 รายการ
“ธปท.มองว่า กลไกการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่สำคัญยิ่งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ดังนั้น การทำงานร่วมกับเสาหลักในกระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างวัฒนธรรมการไกล่เกลี่ยหนี้ในระบบการเงินไทยจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ธปท.ได้ร่วมมือกับสำนักงานอัยการสูงสุด ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการอบรมและเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายและความรู้ด้านการเงินเพื่อใช้ในการไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาท (MOU) โดย ธปท.จะร่วมส่งเสริมความรู้ความเชี่ยวชาญทางการเงินแก่พนักงานอัยการของสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยและเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางกฎหมายให้กับลูกหนี้ โดยประชาชนสามารถติดต่อมาที่สายด่วน 1157 เพื่อขอรับคำปรึกษาข้อกฎหมาย หรือติดต่อที่สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิฯ จำนวน 112 แห่งทั่วประเทศ”
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวต่อว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ ธปท. ได้จับมือกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมครบทั้ง 3 เสาหลัก โดยที่ผ่านมา ธปท.ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรม โดยในปี 2564 ธปท. และพันธมิตร ได้ตั้งเป้าจะลดปริมาณคดีทางการเงินที่จะเข้าสู่ศาลด้วยการไกล่เกลี่ยได้ไม่ต่ำกว่า 300,000 คดี คิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนคดีแพ่ง เพราะการฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นภาระทั้งต่อตัวลูกหนี้และเจ้าหนี้ เป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสที่ระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศต้องแบกรับ ซึ่งรายงานของธนาคารโลกระบุว่าการดำเนินคดีแพ่งในไทยมีค่าใช้จ่ายคิดเป็น 16.9% ของทุนทรัพย์ ที่สำคัญแต่ละปีมีคดีเข้าสู่กระบวนการศาลจำนวนมาก โดยในปี 2562 มีเกือบ 1.9 ล้านคดี และเป็นคดีแพ่งถึง 1.2 ล้านคดี.