หากจะพูดถึงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และบำรุงผิว ไม่ว่าจะเป็นโลชั่น สบู่เหลว แชมพู ในท้องตลาดบ้านเรา ก็มีให้เลือกมากมายหลายยี่ห้อ หลายช่วงราคา ซึ่งแต่ละแบรนด์ ก็จะนำเสนอจุดเด่นของตัวเองในแบบต่างๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเนื้อสัมผัส ส่วนผสม กลิ่น หรือแม้กระทั่งจุดขายในเรื่องของการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
"เจ๊ดา" ได้มีโอกาสพูดคุยกับ น้ำผึ้ง ภมรรัตน์ พรรณรัตนพงศ์ นักธุรกิจเจ้าของแบรนด์ "Hug" แบรนด์ที่นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้กับธุรกิจ โดยคำว่า Hug หรือ ฮัก แปลความหมายเป็นได้ทั้งความรัก ที่ตั้งใจอยากส่งมอบสุขภาพที่ดีให้กับคนในครอบครัว คนรอบข้าง รวมถึงสิ่งแวดล้อม และหมายถึงการกอดซึ่งเป็นการแสดงความรักที่เราได้เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในเวลาเดียวกัน เปรียบเสมือนถ้าเราช่วยกันดูแลธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติก็จะดูแลเรา
น้ำผึ้ง ภมรรัตน์ เล่าให้เราฟังว่า ก่อนหน้านี้ ตนมีหน้าที่พา อากง ไปพบแพทย์เป็นประจำ โดยเฉพาะ โรคผิวหนัง จนเกิดคำถามกับตัวเองว่า ทำไมพออายุเยอะขึ้น เราต้องไปหาหมอ ซึ่งต้องเสียทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายจำนวนมาก จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถป้องกัน ดูแลสุขภาพตั้งแต่ตอนที่เรายังแข็งแรงอยู่
ซึ่งจากการที่เรียนวิทยาศาสตร์มา ก็ค้นพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อปัญหาผิวของเราในอนาคต ก็มาจากสิ่งที่เราใช้ในทุกๆ วัน ซึ่งมีสารเคมี เป็นส่วนประกอบ ทำให้ตัดสินใจที่จะสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ใช้ในชีวิตประจำวันสูตรอ่อนโยน ผลิตจากส่วนผสมธรรมชาติใกล้เคียง 100% มากที่สุด หลีกเลี่ยงสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อผิวเช่น SLS, Paraben และ Silicone
"ความตั้งใจของแบรนด์ HUG คือการพัฒนาสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่ดีต่อสุขภาพผิวให้กับลูกค้าซึ่งเปรียบเสมือนคนในครอบครัวของเรา และเราพยายามสนับสนุนวัตถุดิบออร์แกนิกของประเทศไทยซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ของเรา โดยใช้บรรจุภัณฑ์ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม บ้านหลังใหญที่สุด ซึ่งก็คือโลกของเรา ให้น้อยที่สุด" น้ำผึ้ง ภมรรัตน์ พรรณรัตนพงศ์ เจ้าของแบรนด์ "Hug"
ในการพัฒนาสินค้าสำหรับ HUG จะเน้นเลือกวัตถุดิบธรรมชาติที่ดีต่อสุขภาพผิวและสามารถแก้ปัญหาผิวได้จริง ที่เราเลือก "ข้าวไทยออร์แกนิก" เพราะข้าวเป็นสิ่งที่ผูกพันกับคนไทยมานาน โดยเฉพาะ "ข้าวหอมมะลิสุรินทร์" ข้าวหอมมะลิเกรดที่ดีที่สุดของไทยที่ได้มาตรฐาน GI และ "ข้าวหอมนิล" ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ประหนึ่งเป็นการป้อนอาหารให้ผิวเหมือนกับที่เรารับประทานข้าวในทุกๆ วัน โดยเรารับซื้อ "ข้าว" จากเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์โดยตรง
อีกทั้ง เราต้องการยกระดับวัตถุดิบออร์แกนิกของไทย จึงร่วมมือกับนักวิจัย และภาครัฐ พัฒนาวัตถุดิบเหล่านี้ เพื่อยกระดับมาตรฐานไปสู่ตลาดโลกด้วย
เราอาจจะยังไม่ใช่สินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบออร์แกนิก 100% ถ้าให้คำจำกัดความ "HUG" คือ "Clean Beauty" มากกว่า โดยเราพยายามทำให้ผลิตภัณฑ์มีความอ่อนโยนต่อผู้ใช้มากที่สุด เช่น สบู่เหลว ที่ทำมาจากส่วนผสมธรรมชาติ 95% ส่วนอีก 5% ที่เหลือ แม้จะยังคงต้องมีส่วนผสมที่เป็นสารเคมีเป็นส่วนประกอบ แต่เราก็พยายามเลือกใช้ส่วนผสมที่มีความอ่อนโยนมากที่สุด และใส่ในสัดส่วนน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เช่น ใส่เพื่อช่วยรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ หรือช่วยปรับสมดุลให้เป็นมิตรต่อผิว ทั้งหมดนี้คือ เราต้องหาจุดสมดุลว่าทำอย่างไรให้สินค้ามีคุณภาพดีที่สุดอย่างสมเหตุสมผล
นอกจาก "HUG" จะให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพสินค้าต่อผู้ใช้ผลิตภัณฑ์แล้ว ในฐานะผู้ผลิตยังมีความตั้งใจในเรื่องการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม จึงมีแนวคิดในการลดขยะจากบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
สิ่งที่ทำได้ในตอนแรกคือ เริ่มจากทำบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ 1 ลิตร เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องบรรจุภัณฑ์ให้ลูกค้า และช่วยลดขยะให้สิ่งแวดล้อม ซึ่งตอบโจทย์การใช้ในครอบครัวใหญ่
จากนั้นก็มีการปรับขนาดของผลิตภัณฑ์ ให้ตอบโจทย์ลูกค้าหลายกลุ่มมากขึ้น พร้อมกับนำไอเดีย "รีฟิล" (Refill) หรือการที่ลูกค้าสามารถนำขวดบรรจุภัณฑ์เก่าที่มีอยู่แล้วมาเติมผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของร้านได้ ซึ่งในต่างประเทศมีมานานแล้ว
ช่วงแรกๆ น้ำผึ้ง ภมรรัตน์ ยอมรับว่า คอนเซปต์รีฟิล อาจจะยังใหม่สำหรับคนไทย ต่างจากชาวต่างชาติ ดังนั้น พนักงานต้องสื่อสารกับลูกค้า รวมถึงการทำป้ายอธิบายคอนเซปต์รีฟิล ว่าเราทำขึ้นมาเพื่ออะไร หลักๆ คือ ช่วยลดขยะที่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งลูกค้าสามารถนำขวด หรือบรรจุภัณฑ์ มาเติมผลิตภัณฑ์ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นขวดของแบรนด์ก็ได้ ซื้อได้ตั้งแต่ปริมาณ 1 กรัมขึ้นไป พร้อมกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ว่า คอนเซปต์รีฟิล มีข้อดีอย่างไร เช่น สามารถซื้อในปริมาณน้อยๆ เพื่อไปทดลองใช้ก่อนได้ หรือมีการคิดราคาลดพิเศษ เนื่องจากไม่มีการคิดค่าแพ็กเกจ เป็นต้น ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า 2 ปีที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ ตนมีความเข้าใจผิดเหมือนกับหลายๆ คน ว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" ต้องทำอาชีพเกษตรและรวยไม่ได้ ซึ่งขัดแย้งกับการทำธุรกิจที่เรายังต้องการกำไรอยู่ แต่พอได้ศึกษาหลักปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" ทำให้เราเข้าใจเป้าหมายชีวิตและธุรกิจของเราว่าเราจะใช้ชีวิตให้มีคุณค่าความหมายอย่างไร ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการทำธุรกิจเพื่อสังคม
คำว่า "พอ" ไม่ใช่การ "หยุด" แต่เป็นความมั่นคงในจุดยืนของแบรนด์ โดยสิ่งที่ Hug ตั้งใจทำคือเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยเราให้ความสำคัญกับผู้ที่มีส่วนร่วมในการทำธุรกิจตั้งแต่ต้นทางวัตถุดิบที่เราใช้ไปจนถึงปลายทางที่ได้รับผลกระทบซึ่งก็คือสิ่งแวดล้อม
คำว่า "พอ" จึงเหมือน ภูมิคุ้มกัน ที่ช่วยบริหารความโลภในการทำธุรกิจ ซึ่งถ้าเราทำธุรกิจด้วยความโลภ มีแต่ความอยากขาย อยากได้กำไร ถ้าไม่มีอะไรมาเบรก วันหนึ่งเราก็อาจจะพลาดได้ ดังนั้น การวางแผน บริหารความเสี่ยง และรู้จักยืดหยุ่น พร้อมรับมือ ปรับตัวตามสถานการณ์ จึงทำให้เรายังสามารถดำเนินธุรกิจต่อได้
ผู้เขียน : เจ๊ดา วิภาวดี
กราฟฟิก : Theerapong Chaiyatep