ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ โรคโควิด-19 ทำให้โลกของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตของทุกคนบนโลก ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal, ภาคธุรกิจ ที่ต้องปรับรูปแบบบริการ หรือสินค้า ให้เข้ากับวิถีชีวิตคน ฯลฯ ไม่เว้นแม้แต่ "อุตสาหกรรมอาหาร" ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ก็ยังต้องปรับตัว เพื่อรองรับผู้บริโภค ที่หันมาดูแลในเรื่องของสุขภาพกันมากขึ้น เลือกวัตถุดิบที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มากกว่าจะมองแค่เรื่องของราคา รวมถึงการซื้อวัตถุดิบมาปรุงอาหารรับประทานเอง แทนการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน
ธนาคารกรุงเทพ (Bangkok Bank SME) รายงานข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ระบุว่า จากการเก็บข้อมูลของฝ่ายจัดซื้อสินค้า ที่มาจากท้องถิ่นและต่างประเทศ รวมถึงทีมงานด้านอาหารของบริษัทกว่า 50 ราย ชี้ให้เห็นว่า เทรนด์อาหารและเครื่องดื่มในปี 2021 มีแนวโน้มเปลี่ยนไปอย่างมาก หากเทียบกับช่วงก่อนที่จะมีการระบาดของโรคโควิด-19 พฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภคยุค 2021 จะเน้นเลือกซื้อสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ ปรุงอาหารรับประทานเอง
ซึ่งสินค้าที่ยังมีแนวโน้มเติบโตดี ยังเป็นกลุ่มอาหารที่เรียกว่า "ซุปเปอร์ฟู้ด" อาหารที่มีคุณค่าโภชนาการสูง อุดมไปด้วยวิตามิน และมีประโยชน์ต่อร่างกาย อาทิ กลุ่มฟังก์ชันนอลฟู้ด หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำหน้าที่ให้คุณค่าทางอาหารที่จำเป็นกับร่างกาย เช่น ปรับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ชะลอการเสื่อมโทรมของอวัยวะต่างๆ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโปรไบโอติกส์ เชื้อจุลินทรีย์ หรือแบคทีเรีย และยีสต์ชนิดดี ที่พบได้ในร่างกายของมนุษย์ ฯลฯ เรียกว่าอะไรที่ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ดูจะเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ และใช้เวลาน้อยในการตัดสินใจที่จะควักเงินจ่าย
อย่างไรก็ตาม แม้ประเด็นเรื่อง "คุณค่าทางโภชนาการ" ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริโภคยุคใหม่ใช้เป็นปัจจัยในการตัดสินใจแล้ว ยังมีผู้บริโภคทั่วโลกอีกไม่น้อยที่ให้ความสนใจกับการสร้างค่านิยมการรักษาสิ่งแวดล้อม และกระแสรักษ์โลก มุ่งมองหาผลิตภัณฑ์หรือวิธีการที่จะใช้วัตถุดิบในการประกอบอาหารให้คุ้มค่า ลดขยะจากอาหารให้เหลือน้อยที่สุด หรือที่เรียกว่า Zero Waste
นอกจากนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สะท้อนถึง เทรนด์อาหารในอนาคต (Future Foods) โดยนอกจากฟังก์ชันนอล ฟู้ด แล้ว ผู้บริโภคยังจะมองหาวัตถุดิบ หรือผลิตผลทางการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารเคมี อย่างอาหารเกษตรอินทรีย์ (Organic Foods), อาหารทางการแพทย์ (Medical Foods) ซึ่งไม่ใช่ยาหรืออาหารเสริม แต่เป็นอาหารที่ออกแบบมาเพื่อผู้ป่วยเฉพาะโรค ที่ไม่สามารถทานอาหารปกติได้ รวมถึงอาหารจากพืชหรือสัตว์ที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบดั้งเดิม แต่เป็นอาหารที่ได้รับการปรับแต่งโดยกระบวนการผลิตแบบใหม่ (Novel Foods) เช่น การใช้นาโนเทคโนโลยีในการผลิต รวมถึงแหล่งอาหารใหม่ อย่าง แมลง สาหร่าย ยีสต์ เป็นต้น
ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวกับธุรกิจด้านอาหารเอง ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งธุรกิจด้านอาหารที่น่าจับตามอง ในปี 2021
ผู้เขียน : เจ๊ดา วิภาวดี
กราฟิก : Sathit Chuephanngam
ข้อมูล : bangkokbanksme