หลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงเป็นคนแรกถึงมติต่างๆ ของ ครม. ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่ออกมาก็มีทั้งการช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และเตรียมวงเงินเยียวยาประชาชนอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลขก็ไม่เท่ากับการระบาดในรอบแรก และมาในชื่อโครงการ “เราชนะ” ส่วนลักษณะของโครงการนี้ก็คล้ายกับโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” นั่นเอง ในช่วงนั้นรัฐบาลจ่ายเงิน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้กับผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนด นอกจากนี้ ยังมีมาตรการและโครงการต่างๆ ที่เคาะสดๆ ร้อนๆ บางส่วนก็แง้มให้ดูก่อนที่จะกำหนดระยะเวลาดำเนินการ มีดังนี้
มาตรการช่วยค่าไฟฟ้า สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและวิสาหกิจ) จำนวนกว่า 23.7 ล้านราย โดยบ้านอยู่อาศัย ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ใช้ฟรี 90 หน่วยแรก ถ้าใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟ ตามเงื่อนไข ส่วนกิจการขนาดเล็ก ไม่รวมส่วนราชการและวิสาหกิจ ให้ใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก เป็นเวลา 2 เดือน รอบใบแจ้งหนี้เดือน ก.พ.-มี.ค. 2564
เงื่อนไขมาตรการช่วยค่าไฟฟ้ากรณีที่ใช้เกิน 150 หน่วยต่อเดือน
1. ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับบิล ธ.ค. 2563 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้จริง
2. หากใช้ไฟฟ้ามากกว่าบิล ธ.ค. 2563 ให้คิดค่าไฟฟ้าดังนี้
มาตรการช่วยค่าน้ำประปา โดยลดค่าน้ำประปาร้อยละ 10 สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและวิสาหกิจ) ใบแจ้งหนี้เดือน ก.พ.-มี.ค. 2564 จำนวนกว่า 6.76 ล้านราย
ส่วนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้ที่ใช้ไฟไม่ถึง 50 หน่วยติดต่อกัน 3 เดือน ใช้ไฟฟ้าฟรี ถ้าใช้เกิน 50 หน่วยต่อเดือน ก็ใช้สิทธิ์ตามมาตรการในวงเงินไม่เกิน 230 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน แต่หากใช้เกิน 230 บาท ก็ต้องจ่ายค่าไฟ สำหรับค่าน้ำ ได้สิทธิ์ใช้ฟรีในวงเงิน 100 บาทต่อครัวเรือน/เดือน
อินเทอร์เน็ต จะมีการเพิ่มความเร็วและแรงของอินเทอร์เน็ตบ้าน อินเทอร์เน็ตโทรศัพท์มือถือ และลดค่าใช้จ่ายผู้ใช้บริการ สนับสนุนการ Work From Home และโหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ฟรี ไม่คิดดาต้าเป็นเวลา 3 เดือน
เตรียมเปิดให้ลงทะเบียนใหม่ 1 ล้านสิทธิ์ ปลายเดือน ม.ค. 2564 จะนำเข้า ครม. ในวันที่ 19 ม.ค. 2564 ส่วนเรื่องการลงทะเบียนกำหนดไว้คร่าวๆ เมื่อ ครม.เห็นชอบในวันที่ 19 ม.ค. 2564 จะเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 20 ม.ค. 2564 โดยผู้ลงทะเบียนสำเร็จจะสามารถใช้จ่ายได้ในวันที่ 25 ม.ค. 2564
เป็นมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ครอบคลุมทุกกลุ่ม หรือที่เรียกกันว่ามาตรการเยียวยา ซึ่ง ครม. พิจารณาวงเงิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน เรื่องนี้จะนำเสนอในวันที่ 19 ม.ค. เช่นกัน โดยผู้ที่ลงทะเบียนผ่านเกณฑ์จะเริ่มใช้เงินได้ภายในสิ้นเดือน ม.ค. เป็นอย่างเร็ว หรือต้นเดือน ก.พ. เป็นอย่างช้า
ผู้ใช้สิทธิ์เราเที่ยวด้วยกัน ที่มีการจองที่พักในช่วงเดือน ม.ค. ถึง ก.พ. 2564 สามารถเลื่อนการเดินทางออกไปได้จนถึงเดือน เม.ย. 2564 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และ ครม. ยังมอบหมายให้ ททท. พิจารณาแนวทางในการขยายระยะเวลาโครงการที่เหมาะสม และปรับปรุงโครงการเราเที่ยวด้วยกันให้มีความรัดกุม เพื่อให้โครงการนี้สามารถเป็นอีกเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวภายในประเทศตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี
มาตรการเยียวยาแรงงานในระบบประกันสังคม ให้ลดหย่อนการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค. 2564 โดยลูกจ้างลดเหลือ ร้อยละ 3 ขณะที่นายจ้าง ก็ลดเหลือร้อยละ 3 เช่นกัน
กรณีว่างงาน
มาตรการทางการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 7 แห่ง ที่อยู่ภายใต้กำกับกระทรวงการคลัง โดยกระทรวงการคลังได้รับการขออนุมัติจาก ครม. ขยายเวลา 3 โครงการ คือ
ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% ให้ชำระเพียง 10% ส่วนยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ ลดเหลือ 0.01% และจะนำเสนอ ครม. ภายใน 2 สัปดาห์นี้
ไม่เพียงเท่านั้น ครม. ยังอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุน หรือประโยชน์อื่นใด ที่ได้รับจากมาตรการหรือโครงการดังต่อไปนี้คือ มาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบอื่นๆ ของการแพร่ระบาดของโควิด-19, โครงการเราเที่ยวด้วยกัน, โครงการกำลังใจ และโครงการคนละครึ่งเฟส 1 ช่วงเดือน ต.ค. ถึง ธ.ค. 2563 โดยให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2563 ซึ่งการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งนี้จะช่วยบรรเทาภาระทางภาษีและยังช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว ภาคธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค และช่วยให้การบริโภคภายในประเทศขยายตัว เป็นผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
แม้ว่าจะมีมาตรการต่างๆ ออกมาให้ได้เห็นหน้าค่าตาแบบจับต้องได้ แต่หลายคนก็ยังเป็นห่วงว่างบประมาณนั้นยังจะเหลือใช้จ่ายในการเยียวยาอีกเท่าไหร่ ในเรื่องนี้ นายกฯ ตู่ ก็ย้ำเองว่า รัฐบาลมีเงินเพียงพอสำหรับการดูแลเศรษฐกิจในรอบการระบาดใหม่นี้ เพราะเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ใช้ไป 5 แสนกว่าล้าน ยังเหลือประมาณ 4.9 แสนล้านบาท ไหนจะงบกลางของงบประมาณปี 2564 อีกประมาณ 1.3 แสนล้านบาท รวมกันแล้ว 6 แสนล้านบาท ในเรื่องเงินเราไม่มีปัญหา พร้อมจะใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงจุด และทันการณ์ ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่าเรารับมือโควิด-19 ได้ ที่สำคัญที่สุดคือเราทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อจะผ่านมันไปได้อีกครั้ง เหมือนที่เราร่วมมือกันทำสำเร็จมาแล้ว
รัฐบาลทยอยออกมาตรการและโครงการ รวมถึงสานต่อในหลายส่วนที่เคยดำเนินการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ช่วยเหลือและลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนอย่างน้อยๆ ก็ 2 เดือน ตามที่คาดการณ์ว่าน่าจะสามารถควบคุมการระบาดของโควิดรอบนี้ได้ ซึ่งการจะควบคุมได้นั้นก็ต้องมาจากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนจึงจะเกิดผลสำเร็จโดยเร็ว เชื่อว่าการรวมพลังของคนไทยในครั้งนี้จะช่วยให้เราเอาชนะเจ้าเชื้อร้ายจนทำให้ประเทศกลับมาฟื้นตัว ประชาชนใช้ชีวิตอย่างมีความสุขแบบไม่ประมาทและไม่ต้องถูกจำกัดอีกครั้ง.
ผู้เขียน : กิณรีสีอังกาบ
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun