นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เบิกม่าน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเติบโตของ “นวัตกรรมใหม่” ล้วนเป็นไปอย่างก้าวกระโดด โลกเราหมุนไปข้างหน้าด้วยความเร็วที่ยากจะคาดเดาจากพลังของความคิดสร้างสรรค์ที่ถูกต่อยอดไม่รู้จบ
ปรากฏการณ์นี้ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ภาคธุรกิจสามารถนำเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์โซลูชั่นใหม่ๆ ตอบโจทย์ลูกค้าได้เหนือความคาดหวัง อีกทั้งผู้บริโภคก็ใช้ชีวิตสะดวกสบายยิ่งขึ้น สะท้อนสู่การเติบโตของเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง จึงไม่แปลกอะไรนักที่หลายประเทศเลือกทุ่มเม็ดเงินมหาศาลเพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ในฐานะกลยุทธ์สำคัญเพื่อสร้างความเติบโต
โดยปี 2019 ที่ผ่านมา “บลูมเบิร์ก อินโนเวชั่น อินเด็กซ์” ได้เผยผลสำรวจในหัวข้อประเทศที่มีการลงทุนและพัฒนานวัตกรรมมากที่สุด วิเคราะห์จากตัวชี้วัดหลายด้าน เช่น เม็ดเงินในการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ปริมาณสิทธิบัตร จำนวนนักวิจัย และบริษัทไฮเทคที่เป็นมหาชน พบว่า 10 อันดับแรกซึ่งได้แก่ เกาหลีใต้ ฟินแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ อิสราเอล สิงคโปร์ สวีเดน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ ฝรั่งเศส ล้วนเป็นชาติที่โดดเด่นในการส่งออกนวัตกรรม สะท้อนชัดว่าหากประเทศใดเป็นเจ้าของนวัตกรรมจำนวนมาก ก็ยิ่งหมายถึงศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลกที่สูงกว่าชาติอื่นๆ
“บัญชีนวัตกรรมกลุ่ม ปตท.” งานวิจัยศักยภาพสูง พร้อมจำหน่ายเชิงพาณิชย์
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ผู้อ่านหลายท่านอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับ “บัญชีนวัตกรรมไทย” บัญชีดังกล่าวคือหนึ่งในนโยบายสำคัญจากภาครัฐเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางนวัตกรรมของประเทศ ทำให้เกิดเป็นมาตรฐานเพื่อรวบรวมผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรมของไทยให้เป็นระบบ ทำให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งนอกจากการสนับสนุนนวัตกรรมจากหน่วยงานภาครัฐแล้ว หน่วยงานเอกชนและรัฐวิสาหกิจต่างๆ มีวิธีการในการสนับสนุนเช่นเดียวกัน
ที่น่าสนใจเป็นพิเศษและอยากชวนผู้อ่านไปลองทำความรู้จักก็คือ “บัญชีนวัตกรรมกลุ่ม ปตท.” ผลงานจากองค์กรแนวหน้าของประเทศที่โดดเด่นในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่มาเป็นระยะเวลายาวนานในหลากหลายธุรกิจ โดยบัญชีนวัตกรรมของกลุ่ม ปตท. ถูกจัดทำขึ้นเพื่อตอบรับนโยบายจากภาครัฐ รวมถึงเพื่อผลักดันงานวิจัยจำนวนมากที่มีศักยภาพในการเติบโตเชิงพาณิชย์และมีความพร้อมในการทำตลาด (Tier 1: Product for commercial use) ให้เป็นที่รู้จัก และสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ง่ายยิ่งขึ้น
ผลงานชิ้นนี้เป็นมติร่วมกันของบริษัทในเครือ ได้แก่ PTT, GC, IRPC, TOP, PTTEP, OR และ GPSC ซึ่ง “เห็นชอบและให้การสนับสนุน เพื่อแต่ละบริษัทดำเนินการออกนโยบายในการทำบัญชีนวัตกรรมและนโยบายจัดซื้อจัดจ้างที่สามารถจัดหาสินค้าในบัญชีได้ในวิธีพิเศษ” ภายในประกอบด้วยผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่กลุ่มบริษัทได้คิดค้นขึ้นจำนวน 31 ชนิด ครอบคลุมในหลากหลายธุรกิจ สามารถนำไปต่อยอดได้ทั้งภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ บางส่วนที่น่าสนใจก็อาทิ
COFFEE CHAFF
ผลิตภัณฑ์ผลิตจากเยื่อกาแฟซึ่งเป็นกากของเสียจากการคั่วกาแฟ นำมาผสมรวมกับพลาสติกใน 3 กลุ่ม ได้แก่ Bioplastics, Commodity Plastic และ Recycled Plastic เพื่อนำไปใช้ขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ช่วยลดปริมาณของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม เปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยความสามารถในการย่อยสลายทางชีวภาพได้มากที่สุดถึง 100%
EV WALL CHARGER
เพื่อตอบรับการมาถึงของพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นอนาคตของการขับเคลื่อน ผลิตภัณฑ์เติมไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบ AC Normal Charg สำหรับติดตั้งบนผนังจึงได้ถูกพัฒนาขึ้น สามารถติดตั้งได้ทั้งที่พักอาศัยหรืออาคารจอดรถ ใช้แหล่งจ่ายไฟแบบ 1 เฟส 220 โวลต์ กำลังไฟฟ้าตั้งแต่ 3.5-7 กิโลวัตต์ เติมไฟฟ้าให้กับรถยนต์แบบ PHEV พร้อมระบบกำหนดสิทธิ์การเติมและเก็บข้อมูลใช้งาน ทำงานควบคู่กับ Application อัจฉริยะ
HEAVY DUTY CLEANER
ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถขจัดสิ่งสกปรก คราบเหนียวต่างๆ ออกได้ง่าย รวดเร็ว โดยไม่มีส่วนผสมของกรดและเบส จึงทำให้ไม่กัดกร่อนโลหะในอุปกรณ์ต่างๆ สามารถใช้ล้างสิ่งตกค้างในวาล์ว รวมถึง Lubricant และ Sealant เดิมให้คลายออก มีจุดวาบไฟสูง (มากกว่า 60C) และช่วยปกป้องผิวจากความชื้น
INI AUTOMATIC FOOD WASTE COMPOSTER
เครื่องย่อยสลายขยะเศษอาหารอัตโนมัติ ด้วยกระบวนการทางชีวภาพ โดยอาศัยจุลินทรีย์และสูตรเอนไซม์ประสิทธิภาพสูง ซึ่งสามารถย่อยสลายขยะเศษอาหารให้เป็นวัสดุปรับปรุงดินได้ภายใน 12 ชั่วโมง และยังมีธาตุอาหารครบถ้วน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการบำรุงต้นไม้ให้เจริญงอกงาม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับแนวคิดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy
PM ALERT AIR QUALITY MONITOR SYSTEM
ระบบ Smart Sensor สำหรับการตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วยเทคโนโลยี Laser Scattering ส่งข้อมูลผ่านการเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สายแบบ NB-IOT ติดตั้งได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ตรวจวัดปริมาณฝุ่น PM 2.5 เพื่อส่งค่าการวัดไปยังระบบบริหารจักการข้อมูลบน Cloud Server แสดงผลผ่าน Direct Text Message, Web Application และ Web API สำหรับการนำข้อมูลไปใช้งานบน Platform อื่นๆ
เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของผลงานสร้างสรรค์ภายในบัญชีนวัตกรรมกลุ่ม ปตท. ซึ่งล้วนนำไปใช้งานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งสิ้น นับเป็นอีกก้าวที่สำคัญของวงการนวัตกรรมไทยหลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางด้าน ปตท.เองก็มีการลงทุนใน “วังจันทร์วัลเลย์” เพื่อสร้างให้เป็นเมืองหลวงแห่งเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีทั้งการบ่มเพาะบุคลากรสายวิทยาศาสตร์ และการสนับสนุนนักวิจัยให้ผลิตผลงานได้อย่างเต็มความสามารถ กล่าวได้ว่าเป็นสัญญาณอันดีที่พร้อมแสดงให้นานาชาติเห็นแล้วว่า ไทยเองก็พร้อมร่วมแข่งขันในเวทีนวัตกรรมโลก ในฐานะประเทศผู้ส่งออกนวัตกรรมคุณภาพในอนาคต
ผู้สนใจสามารถเข้าชมบัญชีนวัตกรรมกลุ่ม ปตท. ฉบับเต็มได้ที่นี่ https://www.pttplc.com/uploads/Product/20201113-PTTGroupInnovationCatalogue2020.pdf
และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมทั้งรายละเอียดผลิตภัณฑ์ และในส่วนการจัดซื้อจัดจ้าง สามารถติดต่อโดยตรงได้คุณวิชย์กรณ์ เจียมอ่อน โทร. 03-524-8385