“กระตุ้นสวัสดิการสังคม ดูแลสินค้าเกษตร” ทางรอดเศรษฐกิจไทย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

“กระตุ้นสวัสดิการสังคม ดูแลสินค้าเกษตร” ทางรอดเศรษฐกิจไทย

Date Time: 14 พ.ย. 2563 09:00 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • เสียงของนักวิชาการ เสนอนายกรัฐมนตรี เร่งแก้ปัญหา โจทย์ใหญ่คือกระตุ้นสวัสดิการสังคม ดูแลสินค้าเกษตร เพื่อช่วยคนไทยทั้งประเทศ

Latest


เสียงของนักวิชาการ เสนอนายกรัฐมนตรี เร่งแก้ปัญหา โจทย์ใหญ่คือกระตุ้นสวัสดิการสังคม ดูแลสินค้าเกษตร เพื่อช่วยคนไทยทั้งประเทศ

6 ปีแล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำหน้าที่ผู้นำรัฐบาลในการบริหารประเทศไทย แต่หากไม่นับช่วงเวลาที่เป็นรัฐบาลคสช. หลังรัฐประหาร เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีตามเส้นทางการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามพรรคพลังประชารัฐ จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เป็นระยะเวลาครึ่งทางในวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เกือบ 2 ปีที่ผ่านไป รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ เผชิญหน้ากับไฟทางการเมืองที่คุกรุ่นจนร้อนฉ่า ปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก การเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งสถานการณ์สงครามการค้ายังไม่ทันจะคลี่คลายไปในทางที่ดี ก็เกิดโรคระบาดไวรัสโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติมปัญหาให้หนักอึ้งขึ้นไปอีก แม้แต่เก้าอี้ขุนคลังที่กลายเป็นศึกเก้าอี้ดนตรี เปลี่ยนคนนั่งถึง 3 คน ในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ในมุมมองของ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นว่า รัฐบาลมีโจทย์ 3 โจทย์ที่ต้องขบคิด และมีการบ้านกองใหญ่ถึง 3 เรื่อง ที่ต้องทำในครึ่งปีหลังของวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ตัดเกรด 2 ปีแรกรัฐบาลประยุทธ์

เดชรัต เริ่มต้นให้ความเห็นว่า รัฐบาลประยุทธ์มี 3 เรื่องที่ต้องขบคิด

อย่างแรก ว่าด้วยเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้หรือไม่ สอง ว่าด้วยเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำได้หรือไม่ และสาม ว่าด้วยการสร้างความยั่งยืน

ในฐานะอดีตอาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัย เดชรัต ประเมินว่า ถ้าเปรียบทั้ง 3 เรื่องเป็นวิชาเรียน เกรดที่จะลงใบเกรด เขาจะให้เกรด D+ ในวิชาการเติบโตทางเศรษฐกิจ, เกรด F ในวิชาความเหลื่อมล้ำ และเกรด C ในวิชาสร้างความยั่งยืน

“คงต้องบอกไว้แบบนี้ว่า ภาวะเศรษฐกิจมันก็แย่ มีการชะลอตัว ทั้งจากประเด็นสงครามการค้า ต่อด้วยโควิด-19 แต่สิ่งที่เรียกว่าค่อนข้างแย่ เป็นเพราะโครงการกระตุ้นของรัฐบาล อย่างโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมเลย เช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ ที่ยังไม่เกิดผลชัดเจนนัก”

ขณะที่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเดชรัต ประเมินว่า ควรได้เกรด F เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำยังไม่ลดลงเท่าไรนัก ซึ่งครั้งหนึ่งในช่วงที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เคยมีอำนาจพิเศษ โดยที่อำนาจนี้ควรนำไปใช้แก้ไขปัญหาเดิมๆ ที่เคยมี

“แต่เอาเข้าจริงแล้วมันกลับส่งผลตรงกันข้าม เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ไม่ลดลง ซ้ำร้ายยังกระจุกในบางกรณี เช่น ความเหลื่อมล้ำในเชิงทรัพย์สิน”

เดชรัต ขยายความต่อไปว่า ความเหลื่อมล้ำ ถือเป็นหนึ่งในโจทย์ทางการเมือง โดยเมื่อ 6 ปีที่แล้ว มีความพยายามปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่ทางปฏิบัติไม่ได้มีการดำเนินการ มีการยกเว้นกฎหมาย มีการยอมให้ควบรวมของบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งที่น่าจะเข้าข่ายผูกขาดทางการค้า ซึ่งข้อมูลลักษณะแบบนี้มันสร้างอารมณ์ที่ทำให้ประชาชนเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่สถานการณ์ของวิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด-19 การช่วยเหลือของรัฐบาลก็ทำได้ช้า และลงไปไม่ถึงกลุ่มคนที่เดือดร้อนที่สุด

“ที่น่าสนใจ ยังมีประเด็นความเหลื่อมล้ำในด้านสวัสดิการอีกด้วย โดยเฉพาะรัฐบาลในชุดพลังประชารัฐ มีการหาเสียงเสนอเรื่องสวัสดิการไว้เยอะแยะมากมาย แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้ดำเนินการเลย เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรับถ้วนหน้า 1,000 บาท”

ในด้านการสร้างความยั่งยืน จากที่เห็นก็มีหลายโครงการของรัฐบาลที่พยายามผลักดัน เกรดที่พอจะให้ได้ จึงอยู่ที่เกรด C

ทั้งนี้การสร้างความยั่งยืนของรัฐบาล ในมุมมองของเดชรัต ถือว่ามีความน่าประทับใจเป็นเรื่องของโครงการการปรับภูมิทัศน์ในเชิงพื้นที่ การทำให้พื้นที่ริมคลองเป็นพื้นที่ที่ชุมชนสามารถอยู่อาศัยได้อย่างมั่นคงขึ้น รวมถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

“แต่เรื่องของสิ่งแวดล้อมมันก็จะมีโจทย์ที่ทำได้ไม่ดีซ้อนทับเช่นกัน เช่น การยกเลิกผังเมืองในบางช่วงเวลา ที่ทำให้กลายเป็นพื้นที่ที่ให้ทุกคนลงไปในชุมชนที่ยกเลิกผังเมือง ซึ่งก็คือเขตโครงการ EEC”

เมื่อพูดถึงประเด็น EEC ที่ระยะหลังถูกพูดถึงน้อยลงไปมาก แต่เดชรัต เชื่อว่า โครงการ EEC จะยังเป็นโครงการที่รัฐบาลเดินหน้าผลักดันต่อไป

“ผมคิดว่า ความเอาจริงเอาจังเป็นคำถามที่น่าสนใจ ถ้ายังจำกันได้ ก่อนหน้า ดร.สมคิด เคยมีการผลักดันเศรษฐกิจพิเศษ 10 เขต แต่เมื่อ ดร.สมคิดเข้ามา เศรษฐกิจพิเศษที่ว่านั้น ก็ไม่ได้ดำเนินการอะไรมากนัก อาจมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานบ้าง แต่สิ่งที่เรียกว่าเศรษฐกิจพิเศษก็ไม่เกิดขึ้น ตรงนี้น่าเป็นห่วงว่า EEC จะเข้าข่ายลักษณะเดียวกันหรือไม่”

อย่างไรก็ตาม เดชรัต ยังมองว่า EEC มีจุดที่เป็นบวกจากการที่มีโครงสร้างพื้นฐานเดิม กับความสนใจของนักลงทุนที่อยากขยายจากพื้นที่เดิมก็พอมีอยู่บ้าง แต่เมกะโปรเจกต์ที่จะทำให้ประเทศไทยเคลื่อนที่ไปสู่ระดับที่สูงขึ้น (Shift) หรือเกิดสิ่งที่เรียกว่า S-Curve คงยังไม่เห็น

การบ้านครึ่งเทอมหลังรัฐบาลประยุทธ์

เดชรัต สุขกำเนิด
เดชรัต สุขกำเนิด

เดชรัต ประเมินว่า สิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องมีด้วยกัน 3 อย่าง

อย่างแรก การกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจจะต้องมาจากเมกะโปรเจกต์ แล้วหวังว่าจะกระจายลงไปเศรษฐกิจฐานราก แต่สถานการณ์โควิด-19 คิดว่าโมเดลนี้ไม่ง่ายนัก

“ผมอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลองคิดถึงเศรษฐกิจฐานรากจริงๆ ให้เศรษฐกิจฐานรากเกิดความเข้มแข็งอย่างแท้จริง ซึ่งดำเนินการได้สองทาง ทางแรก การเพิ่มสวัสดิการผู้สูงอายุและเด็กเล็กให้ทั่วถึง ถ้วนหน้า ทางที่สองการดูแลราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่ราคาตก ที่มีการดูแลราคาสินค้าเกษตรน้อยเกินไป”

เดชรัต ขยายความต่อไปว่า การประกันรายได้เกษตรกรสามารถช่วยได้ แต่กรณีของข้าวหอมมะลิที่ช่วยเพียงแค่ 14 ตันต่อครัวเรือน ซึ่งส่วนที่เกินก็จะได้ราคาที่น้อย ทำให้เศรษฐกิจฐานรากก็จะไม่เข้มแข็ง

ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่านการเพิ่มสวัสดิการสังคม บวกกับการมีราคาสินค้าเกษตรที่ดี ควรเป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญลำดับแรกๆ (Priority) ของช่วงเวลานี้

“รัฐบาลไม่ควรท่องคาถาปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด” ก่อนที่เดชรัตจะกล่าวต่อไปว่า “ที่จริงแล้วไม่ใช่หมายความว่าไปแทรกแซงราคา แต่เมื่อเห็นว่าข้าวราคาลดลงแล้ว รัฐบาลเข้าไปกระตุ้นได้ ทั้งการซื้อเก็บ หรือออกมาตรการชะลอสินเชื่อเพื่อรอการขายข้าวที่ดีพอ มันจะไม่ตกเร็วนัก”

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการเก็บภาษีที่มาจากบนฐานทรัพย์สิน ทั้งภาษีมรดกและภาษีที่ดิน ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรแสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังในปี 2564

“เรื่องของภาษีที่ดิน ถ้าปีนี้ลด 90% คำถามคือ แล้วปีหน้าจะมองว่าเศรษฐกิจยังค่อยไม่ดีก็ลดต่อไปหรือไม่ ซึ่งตรงนี้จะมีผลเสีย ทำให้ที่ดินเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำหน้าที่ก็จัดเก็บภาษีก็เก็บได้น้อย ทีนี้มันก็จะวนกลับไปสองเรื่องข้างต้น ก็คือ สวัสดิการสังคมและเศรษฐกิจฐานราก”

นโยบายเศรษฐกิจ VS. ตัวนายกรัฐมนตรี?

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง

“ในฐานะคนดู” เดชรัตเรียกตัวเองเอาไว้อย่างนั้น ให้ความเห็นในการกลับเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังอีกครั้งของ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ท่านเงียบไปนิดหนึ่ง อยากให้ส่งสัญญาณในเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่านี้”

เดชรัต เสริมว่า ถ้าเราดูจากสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศก็ยังไม่คลี่คลาย แม้จะมีข่าวของวัคซีนก็ตาม ส่วนประเทศเพื่อนบ้านก็มีการล็อกดาวน์ ขณะที่ประเทศไทยเองก็เพิ่งหมดระยะเวลายืดการชำระหนี้ออกไป ที่เพิ่งผ่านพ้นเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

“ดังนั้น มันมีความจำเป็นที่จะต้องมีสัญญาณบางอย่างว่าเราจะเดินหน้าอย่างไร โดยเฉพาะอารมณ์ในช่วงปลายปี ซึ่งมีความสำคัญในการบริหารจัดการว่าจะเตรียมเงินลงทุนปีต่อไปอย่างไร ในช่วง 1-2 เดือน สัญญาณจากรัฐมนตรีคลังที่ออกมาคุยกับสาธารณชนจะเป็นประโยชน์ยิ่ง”

พร้อมกันนี้ ยังมีประเด็นสองประเด็นที่ซ้อนทับกันอย่างแยกไม่ออก ระหว่างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจอยู่ที่นโยบายหรือตัวของนายกรัฐมนตรี ในความเห็นของเดชรัตแล้ว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่สองปัจจัยนี้เท่านั้น แต่ยังมีความเกี่ยวข้องกับบรรยากาศทางการเมือง ถ้าไม่เคลียร์ตรงนี้ให้ชัดเจน ก็จะเป็นปัญหา

“อันที่จริง บรรยากาศของโควิด-19 ก็ทำให้ความรู้สึกอยากจับจ่ายใช้สอยก็ลดลงโดยปริยายอยู่แล้ว” เดชรัตกล่าวต่อไปว่า แต่ความเชื่อมั่นในตัว พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เหตุการณ์โควิด-19 เป็นต้นมา เวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดแล้วจะมีพลังในทางการเมืองน้อยมาก สิ่งนี้ทำให้เราอยู่ในสภาวะที่มีผู้นำที่ไม่สามารถสร้างหรือกระตุ้นความเชื่อมั่นจากสถานการณ์วิกฤติขึ้นมาได้เลย

หยุดอยู่แค่นี้ หรือไปต่อ?

สำหรับการเลือกตั้งครั้งถัดไป เดชรัต มองว่า จะเป็นเรื่องยากของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะการลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐ

“ตอนนี้คนอาจจะยังไม่ทวงนโยบายที่เคยหาเสียง แต่เมื่อถึงเวลาของการเลือกตั้งครั้งหน้า นโยบายเดิมจะถูกหยิบมาเทียบทันทีว่า อันไหนทำแล้ว อันไหนยังไม่ทำ”

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว เดชรัต มองว่า พรรคประชาธิปัตย์อาจยังไม่มีคะแนนความนิยมเพิ่มขึ้นมากนักในเชิงการเมือง แต่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคประชาธิปัตย์ สามารถพูดได้ว่า มีการดำเนินการนโยบายประกันรายได้ไปแล้ว แต่พรรคพลังประชารัฐยังไม่เห็น

“ถ้าพรรคพลังประชารัฐคิดจะอยู่ในวงการการเมือง โดยไม่พึ่ง 250 ส.ว. คุณประยุทธ์จะต้องนำนโยบายที่ตัวเองหาเสียง หรือพรรคพลังประชารัฐเคยหาเสียงมาดำเนินการ แล้วต้องเห็นผลภายใน 2 ปี ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่”.

ผู้เขียน: Wiwat Rungsaensusakul
กราฟิก: Taechita Vijitgrittapong


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ