"คลัง แบงก์ชาติ สภาพัฒน์" เผย สัญญาณเศรษฐกิจดีขึ้น หลังวิกฤติโควิด-19

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

"คลัง แบงก์ชาติ สภาพัฒน์" เผย สัญญาณเศรษฐกิจดีขึ้น หลังวิกฤติโควิด-19

Date Time: 11 พ.ย. 2563 23:12 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • ไทยรัฐกรุ๊ปจัดเวที ถกประเด็นเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 รองนายกฯ ชี้ ตัวเลข ศก.ไตรมาส 3 ดีขึ้นแน่นอน แม้จีดีพีจะยังติดลบ ด้านคลังเผยยุทธศาสตร์ ดันเศรษฐกิจ ต้องดันจากฐานราก

Latest


ไทยรัฐกรุ๊ป จัดเวที ถกประเด็นเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 รองนายกฯ ชี้ ตัวเลข ศก.ไตรมาส 3 ดีขึ้นแน่นอน แม้จีดีพีจะยังติดลบ ด้านคลังเผยยุทธศาสตร์ ดันเศรษฐกิจ ต้องดันจากฐานราก


เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 63 สื่อในเครือไทยรัฐกรุ๊ป อันได้แก่ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ไทยรัฐออนไลน์ และไทยรัฐทีวี เชิญผู้กำหนดนโยบาย และภาคธุรกิจ มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ในงาน "Sharing Our Common Future : ร่วมแรง เปลี่ยนแปลง แบ่งปัน" ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ

นายสราวุธ วัชรพล บรรณาธิการบริหาร บริษัท วัชรพล จำกัด กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของงานครั้งนี้ว่า จากปัญหาโควิด-19 หลายคนคงเห็นแล้วว่าโลกทั้งใบตอนนี้อาการหนัก แม้จะมีข้อมูลความคืบหน้าเรื่องวัคซีนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังต้องใช้เวลาอีกสักพัก ซึ่งงานเสวนาครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือกับ ปตท. และอีกหลากหลายองค์กรที่ร่วมกันหาทางออกของประเทศ โดยมีผู้ที่รู้จริงมาร่วมเสวนา ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และงานเสวนาครั้งนี้ ถือเป็นวันสำคัญมากสำหรับไทยรัฐกรุ๊ป ที่ดำเนินกิจการมา 70 ปีเต็ม

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยปี 2564 ยอมรับว่า โควิด-19 เป็นโจทย์ที่ยากสำหรับทุกคน แต่ถือว่าไทยประสบความสำเร็จในการรับมือ แม้ช่วงสามเดือนแรกอยู่ด้วยความไม่แน่ใจ ธุรกิจไม่รู้จะปรับตัวอย่างไร แต่ก็มีความร่วมมือกันฝ่าฟันปัญหามาได้ โดยรัฐบาลทุ่มค่าใช้จ่ายมหาศาลเพื่อดูแล และเยียวยากลุ่มเปราะบางราว 8 แสนกว่าล้านบาท ดำเนินโครงการไทยมีงานทำ โครงการเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง และโครงการช้อปดีมีคืน เป็นมาตรการเยียวยาประเทศ

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ดัชนีทางเศรษฐกิจต่างๆ ดีขึ้นต่อเนื่อง ในระยะ 5 เดือนที่ผ่านมา รายงานของไอเอ็มเอฟได้ปรับการพยากรณ์เศรษฐกิจของไทยให้ดีขึ้นกว่าประเทศต่างๆ ในอาเซียน สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปีนี้ จะรอประกาศในวันจันทร์ที่ 16 พ.ย. นี้ ซึ่งผลออกมาน่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและดีกว่าเดิม

“เชื่อว่าไตรมาส 2 หรือกลางปีหน้า ทุกคนจะรู้สึกถึงการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลเตรียมพร้อมทุกเรื่อง เรื่องการเตรียมการลงทุน ทั้งอีอีซี ศูนย์วิจัย เพื่อเปลี่ยนจากปี 2563 ที่เน้นการตั้งรับประคับประคอง เข้าสู่ปี 2564 ที่จะเน้นปฏิบัติการเชิงรุก ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาประเทศไทย พร้อมกับมาตรการเปิดนักท่องเที่ยว มาตรการเปิดรับนักลงทุน เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาถืออสังหาริมทรัพย์ในไทย และให้ได้วีซ่าระยะยาว 10 ปี ได้เริ่มอย่างจริงจัง แต่ต้องการความมั่นใจจากเอกชนทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันดึงดูดนักลงทุนเข้ามา"

จากนั้น ในการสัมมนาเรื่อง เศรษฐกิจหลังโควิด-19 : จุดยืนของไทยในเวทีโลก มีตัวแทน 3 ขุนพลผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ ได้แก่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อร่วมหาแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้ให้เห็นภาพอย่างมีความหวังว่า แม้อุโมงค์จะมืดมิด แต่ก็ย่อมมีแสงสว่าง ฉะนั้น เศรษฐกิจไทยที่ไถลลงไปแล้ว ก็ต้องลุกขึ้นให้ได้ หากมองย้อนเทียบวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 ที่ผลกระทบเกิดจากข้างบนลงไปข้างล่าง ในวันนี้ วิกฤติโควิด-19 ปี 2563 เกิดจากข้างล่างที่เป็นฐานราก แล้วกระทบขึ้นมาข้างบนเรื่อยๆ แต่ยืนยันว่า เศรษฐกิจตอนนี้ดีกว่าปี 2540 ทั้งภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจ ทั้งราคาสินค้าเกษตร และการที่รัฐบาลมีมาตรการระยะสั้น ตั้งแต่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการชิมช้อปใช้ โครงการคนละครึ่ง ก็ทำให้คนออกมาจับจ่ายแบบแกรนด์เซลส์ ซึ่งต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจใหญ่และเอสเอ็มอีระดับกลางยังไปได้อยู่ แต่เศรษฐกิจระดับชาวบ้านไปไม่ได้ ต้องลงไปช่วยให้มีกำลังซื้อ วันนี้เริ่มมองเห็นภาพ ที่กิจการเล็กๆ เริ่มดีขึ้น เพราะมาตรการระยะสั้น ดังนั้น เราต้องไม่ลืมเศรษฐกิจข้างล่าง

ในเรื่องการท่องเที่ยว จากผลกระทบทำให้นักท่องเที่ยวหายไปเกือบ 40 ล้านคน โรงแรมปิด แต่พอมีโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ก็ช่วยธุรกิจโรงแรม รวมถึงมาตรการช่วยจ่ายค่าตั๋วเครื่องบิน 40% ก็ทำให้ตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจในภาพรวมดีขึ้น ตอนนี้ รัฐบาลต้องกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ ในระหว่างที่รอกำลังซื้อต่างประเทศเข้ามา

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากเหตุการณ์โควิด-19 ในปีนี้จีดีพีน่าจะติดลบประมาณ 8% โดยวิกฤติจะแตกต่างจากปี 2540 และวิกฤติอื่น ที่ความรู้สึกไม่ได้กระทบกับคนส่วนมาก

"โควิด-19 ตัวเลขการส่งออกติดลบ แต่ยังไม่หนักเท่ารอบนี้  ที่กระทบการจ้างงาน ทั้งการเลิกจ้าง และจำนวนชั่วโมงการจ้างงานลดลง รายได้ลดลง และหนี้เพิ่มขึ้น

"เสถียรภาพของประเทศไทยรอบนี้ เราดีกว่าวิกฤติครั้งก่อนๆ เพราะทุนสำรองต่างประเทศยังสูง และสภาพคล่องสูง หนี้เสีย หรือ เอ็นพีแอลยังน้อยกว่าวิกฤติครั้งก่อน การคลังยังเข้มแข็งไม่มีปัญหาอะไร"

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ตั้งแต่เกิดโควิด-19 มา จุดต่ำสุดของเศรษฐกิจอยู่ที่ไตรมาส 2 ของปี 2563 ตอนนั้นทุกอย่างถูกแช่แข็งหมด ขณะเดียวกัน ต่างประเทศก็ล็อกดาวน์ด้วย แต่ตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แนวโน้มเริ่มดีขึ้น แต่ดีขึ้นเท่าไร ขอให้รอตัวเลขภาวะเศรษฐกิจวันจันทร์นี้

"ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ แม้ยังติดลบอยู่ แต่ก็ติดลบน้อยลง ตอนนี้ถึงสิ้นปีถ้าไม่มีเหตุการณ์ระบาดรอบ 2 ขึ้นมาก็คงจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ต้องอย่าลืมว่าครั้งนี้ความไม่แน่นอนยังสูง เพราะยังไม่รู้จะได้วัคซีนเมื่อไหร่" นายดนุชากล่าว


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์