เศรษฐกิจไทยศักยภาพต่ำลง ซมพิษโควิด-19 ธปท.แนะรัฐปรับโครงสร้างทันที

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เศรษฐกิจไทยศักยภาพต่ำลง ซมพิษโควิด-19 ธปท.แนะรัฐปรับโครงสร้างทันที

Date Time: 29 ก.ย. 2563 07:25 น.

Summary

  • ธปท.ชี้พิษโควิด-19 ทำเศรษฐกิจไทยศักยภาพต่ำลง การแข่งขันลด แต่ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสวนทาง จี้รัฐปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจทันที ก่อน “ทุน” หมด

Latest

HSBC ชี้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คิด หลังรัฐเร่งลงทุน กระตุ้นบริโภค ต่างชาติเชื่อมั่น จ่อลงทุนไทยเพิ่ม

ธปท.ชี้พิษโควิด-19 ทำเศรษฐกิจไทยศักยภาพต่ำลง การแข่งขันลด แต่ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสวนทาง จี้รัฐปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจทันที ก่อน “ทุน” หมด พร้อมแนะหยุดมาตรการเบี้ยหัวแตก แจกเงินเหวี่ยงแห แต่เจาะกลุ่มที่จำเป็น

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการของ ธปท.ประจำปี 2563 ในหัวข้อ “ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ทำอย่างไรให้เกิดได้จริง” ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มความรุนแรงของความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจ และสังคมไทย ความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งลดทอนความสามารถในการแข่งขัน มากขึ้น ส่งผลต่อศักยภาพการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ดังนั้น ต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้เกิดผลได้จริง และต้องทำทันที เพื่อรองรับชีวิตวิถีใหม่ เพราะธุรกิจหลังโควิด-19 จะมีการแข่งขันสูงขึ้น ดังนั้น เศรษฐกิจไทยต้องจัดสรร โยกย้ายทรัพยากร ไปสู่ธุรกิจที่มีผลิตภาพสูง และเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มในทุกห่วงโซ่การผลิต “หลังโควิด หลายอุตสาหกรรมทั่วโลกยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินสูงอีกหลายปี หากไม่ถูกจัดการ หรือโยกย้ายไปสู่ภาคการผลิตอื่น ผลิตภาพโดยรวมของเศรษฐกิจไทยจะยิ่งต่ำลง รวมทั้งผู้ประกอบการในภาคการผลิตเหล่านี้จะมีทุนลดลงเรื่อยๆ ขาดภูมิคุ้มกันที่จำเป็น ที่จะเผชิญภัย และความท้าทายในอนาคต”

นอกจากนี้ ต้องลดพึ่งพาภาคเศรษฐกิจใดภาคหนึ่งมากจนเกินไป จากปัจจุบัน ที่พึ่งพาการส่งออกมาก โดยต้องกระจายทรัพยากร และกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง โดยรัฐต้องสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ บนรากฐาน 3 ด้าน คือ 1.คนไทยและธุรกิจไทยต้องมีผลิตภาพสูง มีความสามารถในการแข่งขัน 2.ต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดี รับมือสถานการณ์ต่างๆ ที่ผันผวน ซับซ้อนและคลุมเครือในอนาคต 3.การกระจายผลประโยชน์จากการเติบโตเศรษฐกิจ ต้องทั่วถึง ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น “ประเทศเรามีความอ่อนแอ 3 ด้านนี้เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นผ่านการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจภาคครัวเรือน โดยรายได้ ของประชากรที่มีรายได้สูงสุด 1% แรกของประเทศ มูลค่าสูงถึง 20% ของรายได้ของประชากรทั้งประเทศ ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดมีเพียง 5% ของทั้งหมด แต่ครองส่วนแบ่งรายได้ 85% ของการผลิตนอกภาคเกษตร ความเหลื่อมล้ำนี้ เป็นอาการและสาเหตุของปัญหาสังคมอีกมาก”

อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการหลังจากนี้ควรทำภายใต้แนวคิด 3 ด้านคือ 1.การเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้น ต้องสอดคล้องกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความยั่งยืน แม้การให้เงินเยียวยาผู้ตกงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบรุนแรงยังจำเป็น แต่ต้องทำควบคู่กับการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนาทักษะแรงงาน เพิ่มผลิตภาพของผู้ประกอบการ และปรับตัวไปสู่วิถีธุรกิจที่มีศักยภาพสูงในโลกหลังโควิด ไม่เช่นนั้น การออกมาตรการช่วยเหลือแบบเหวี่ยงแหสำหรับทุกคน จะทำให้ทรัพยากรที่มีจำกัด ถูกใช้แบบเบี้ยหัวแตก ขาดประสิทธิผล และไม่คุ้มค่า ด้านที่ 2 การปฏิรูปโครงสร้างจะไม่เกิดขึ้นได้จริง หากไม่สามารถย้ายทรัพยากรจากภาคเศรษฐกิจหนึ่งไปสู่อีกภาคเศรษฐกิจหนึ่งได้ ดังนั้น รัฐต้องสนับสนุนการโยกย้ายทรัพยากรจากภาคเศรษฐกิจที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินไปยังภาคเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงกว่า ส่วนด้านที่ 3 ยกระดับชนบท โดยให้ท้องถิ่นเป็นเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เพราะโควิดทำให้แรงงานย้ายกลับภูมิลำเนามากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งจะต้องทำให้แรงงานเหล่านี้ เปลี่ยนเป็นพลังพลิกฟื้นเศรษฐกิจในต่างจังหวัด.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ