พิษโควิดชีวิตมีแต่หนี้ หนี้นอกระบบเฟื่องฟู

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

พิษโควิดชีวิตมีแต่หนี้ หนี้นอกระบบเฟื่องฟู

Date Time: 18 มิ.ย. 2563 05:02 น.

Summary

  • ก้าวเข้าสู่เดือนที่หกของการแพร่ระบาด “โควิด-19” ที่กำลังลุกลามไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อ “เศรษฐกิจไทยถดถอยดิ่งลงเหว” ครั้งเลวร้ายที่สุดนับแต่วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540...

Latest

“วายุภักษ์” ดันหุ้นพุ่งลิ่วเกือบ 39 จุด คลังเผยไทม์ไลน์กองทุนชัดเจนหนุนส่งดัชนียืนเหนือ 1,400 จุด

ก้าวเข้าสู่เดือนที่หกของการแพร่ระบาด “โควิด-19”

ที่กำลังลุกลามไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อ “เศรษฐกิจไทยถดถอยดิ่งลงเหว” ครั้งเลวร้ายที่สุดนับแต่วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540...

มีผลให้ประกอบการ “ธุรกิจรายย่อย” พ่อค้าแม่ค้า ผู้มีรายได้น้อยไม่น้อย ต่างมีความจำเป็นต้องหันหน้าเข้าหา “เงินกู้นอกระบบดอกเบี้ยโหด” ในการนำเงินมาประคอง “หมุนเวียนธุรกิจ” ที่มียอดขายลดลง

ไม่เว้นแม้แต่ “เกษตรกร” ก็เดือดร้อนจากราคาพืชผลตกต่ำมายาวนาน เพราะต้องเผชิญกับปัญหา “ภัยแล้ง” ทำให้พืชผลเสียหาย ซ้ำร้ายยังมารับผลกระทบจากการระบาดโควิค-19 นี้อีกด้วย ส่งผลให้การทำมาหากินหารายได้ต่อครัวเรือนเกือบจะทำไม่ได้ จนเป็นความเดือดร้อนจากการขาดรายได้อย่างแสนสาหัสเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นใด ก็จำเป็นต้องนำโฉนดที่ดินค้ำประกันเงินกู้มาใช้จ่ายไปก่อน เพราะภาระต้องกินต้องใช้ทุกวัน กลายว่าปัญหาหนี้สินเดิมหนักอยู่แล้ว ต้องบานปลายขึ้นไปอีก

ปัญหาคนหันหน้าพึ่งพาหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นนี้ รศ.ดร.วิทยาธร ท่อแก้ว ประธานหลักสูตรนวัตกรรมการสื่อสารทางการเมืองและการปกครองท้องถิ่น ม.สุโขทัยธรรมาธิราช บอกว่า เรื่องวิถีการจัดการธุรกิจ และการใช้ชีวิตในยามวิกฤตินี้ถูกพูดกันมานาน แต่ไม่มีใครหยิบยกขึ้นมาใช้กัน...

ซ้ำร้าย...“ผู้ประกอบการธุรกิจ” กลับไม่มีแผนรองรับเผชิญเหตุวิกฤติโรคระบาดรุนแรง ทั้งที่ “โลก” เคยย้ำเตือนมาตลอดว่า มีแนวโน้มโอกาส “เกิดโรคอุบัติใหม่” หรือ “เกิดสงครามเชื้อโรค” ขึ้นได้ทุกเมื่อ และอาจจะแพร่กระจายเชื้อโรคไปทั่วโลก แต่ “องค์กรธุรกิจ” กลับไม่มีใครสนใจ ในเรื่องการจัดทำแผนเผชิญเหตุกรณีนี้

กระทั่ง “ทั่วโลก” ต้องเผชิญกับโรคระบาดขึ้นจริง แต่ก็ยังโชคดี... “ประเทศไทย” มีความสามารถในการป้องกันยับยั้งการติดเชื้อโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี เพราะรากฐานของระบบสาธารณสุขมีความแข็งแรง โดยเฉพาะหน่วยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ที่เรียกติดปากว่า “อสม.” ที่เป็นเสมือน “มดงานตัวจิ๋ว”

ในการดูแลสุขภาพถึงหน้าประตูบ้าน เบื้องหลังความแข็งแกร่งของสาธารณสุขไทย มีหน้าที่คอยให้ความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพ การรักษาโรคง่ายๆ ช่วยงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการที่บ้าน ป้องกันโรคติดต่อ ตลอดจนติดตามปัญหาสุขภาพต่างๆ

ในช่วงแรก...การระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ต่างจังหวัด มีการติดต่อแพร่เชื้อจาก “คนเมืองกรุง” ทำให้ อสม.มีภารกิจเป็น “ด่านหน้า” ในการช่วยเคาะประตูบ้านช่วยคัดกรอง สนับสนุนการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดในระดับชุมชน มีการรายงานสถานการณ์ให้ สนง.สาธารณสุขอำเภอทุกวัน

มีผลให้สามารถแยก “ผู้ติดเชื้อไวรัส” ออกจากชุมชน และเฝ้าระวังกักผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย 14 วัน ทำให้การติดเชื้อลดน้อยลงเรื่อยๆ จนการติดเชื้อระดับชุมชนไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ ในบางพื้นที่ทำมาหากินเสมือนปกติด้วยซ้ำ

ส่วนสาเหตุ...ที่เกิดผลกระทบคนในชุมชนนั้นมาจาก “รัฐบาล” การประกาศ “เคอร์ฟิว” ทำให้ “ธุรกิจต้องหยุดกิจการชั่วคราว” ส่งผลถึง “ประชาชน” ไม่สามารถประกอบอาชีพทำมาหากินได้ตามปกติ

กลายเป็นปรากฏการณ์ “วิถีชีวิตใหม่” อาจต้องมองกันต่อว่า ในรูปแบบทำมาหากิน “เช้าชามเย็นชาม” คงไม่ได้กันอีกต่อไป หรือจะเป็นรูปแบบ “หาเช้ากินค่ำ” ก็คงไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะเมื่อวงจร “วิถีชีวิตแบบเก่า” ต้องถูกเผชิญเหตุการณ์โรคระบาดรุนแรงถึงขั้นต้องตัดวงจรการดำรงชีวิตแบบกะทันหัน

ย่อมส่งผลกระทบเกิดปัญหาชีวิต ไม่เว้นแม้แต่ “ธุรกิจ” ก็ต้องสะดุดหยุดลงด้วยเช่นกัน

เรื่องนี้มีปัจจัยเกิดจากในช่วงที่ผ่านมา “องค์กรธุรกิจ” มองโลกสวยหรูมากเกินไป จนไม่มีการเขียนแผน “รับมือ” ในการเผชิญเหตุโรคระบาดร้ายแรงนี้ เมื่อเกิดผลกระทบแบบกะทันหันขึ้น ก็ส่งผลให้วงจรระบบธุรกิจทุกประเภทหยุดลงอย่างไม่มีทางเลือก

เช่นนี้แล้ว...ย่อมมีผลเกี่ยวพันถึง “มนุษย์เงินเดือน” ต้องกลายเป็น “ถูกเลิกจ้าง” ทำให้ไม่มีรายได้ แม้ว่า “รัฐบาล” มีสวัสดิการช่วยเหลืออยู่บ้าง แต่ทดแทนรายได้ที่สูญเสียไปไม่ได้ โดยเฉพาะภาคประชาชน “คนหาเช้ากินค่ำ” ที่มีหนี้เดิมอยู่แล้ว เมื่อขาดรายได้แบบไม่ทันตั้งตัวเพียง 1 เดือน จะเกิดผลกระทบอย่างแสนสาหัส

มีสาเหตุในช่วงหนึ่ง...“คนไทย” ถูกหล่อหลอมแนวคิดที่ว่า “นำเงินในอนาคตมาใช้” ตั้งแต่สมัยปี 2548 เป็นต้นมา “ผู้นำรัฐบาลยุคหนึ่ง” มักพูดอยู่เสมอว่า...

สามารถนำสิ่งนั้นมาจำนอง หรือนำสิ่งนี้มาจำนำ หรือเปิดให้ราชการ “กู้ยืมเงิน” ทั้งหมดนี้คือ การนำเงินในอนาคตมาใช้ก่อนทั้งสิ้น หากเกิดเหตุแบบไม่คาดคิด ย่อมมีปัญหาขาดสภาพคล่องทันที

ทว่า...“บุคคล” มีวินัยในเรื่องวางแผนการเงินดี มีการอดออมเก็บเงินสำรองไว้ใช้ยามจำเป็นอย่างน้อย 6 เดือน ย่อมอยู่รอดปลอดภัย ไม่เดือดร้อนมาก แต่ถ้าคนไม่มีเงินออม เช่น คนหาเช้ากินค่ำ ทั้งในต่างจังหวัด และคนชุมชนเมือง เมื่อไม่มีงานทำ หรือค้าขายไม่ได้เช่นนี้ ก็ย่อมทำให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นได้แบบนี้

สังเกต “คนเดือดร้อน” ต่างเดินทางไปร้อง “กระทรวงการคลัง” กลายเป็นภาพแห่งความ “เศร้าใจ” แต่ความโชคร้ายนี้ก็ยังมีความโชคดี “ในเรื่องคนไทยช่วยเหลือกัน” ยกตัวอย่าง...“ศาสนา” ก็มีบทบาทเข้ามาค้ำจุน ด้วยการ “เปิดโรงทาน” เกิดขึ้นมากมาย ในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน เป็นต้น

ประเด็นสำคัญ...“เศรษฐกิจสะดุดยุคโควิด-19” ก็เริ่มมี “หนี้นอกระบบ” เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่า “รัฐบาล” เคยแก้ปัญหานี้แล้ว แต่หนี้นอกระบบกำลังจะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง เพราะเข้าถึงคนง่าย ประกอบกับคนก็มีความเดือดร้อนเดิมอยู่ เมื่อเข้า “ตาจน” ต้องจำใจยอมกู้เงินดอกเบี้ยโหด กลายเป็น “ติดกับหนี้นอกระบบ” ตามมา...

ต้องยอมรับว่า...“คนหาเช้ากินค่ำ” คือ ผู้มีสภาพทางการเงินไม่คล่องตัว ยกตัวอย่าง...เมื่อ “เปิดโรงเรียน” มักมีค่าใช้จ่ายซื้อชุดนักเรียน สมุดหนังสือ แม้มีนโยบายเรียนฟรี แต่ยังมีส่วนหนึ่งต้องมีค่าใช่จ่ายเช่นเดิม

ในยามปกติ...ทุกครั้งเปิดเทอมแรก “โรงรับจำนำ” ต้องเตรียมเงินไว้อยู่เสมอ เพราะมีผู้ปกครองต่างนำสิ่งของเข้าไปจำนำ เพื่อนำเงินนี้มาใช้จ่ายในช่วงเปิดเรียนใหม่ และยิ่งประเทศ...เกิดวิกฤติโรคระบาด เช่นนี้ทำให้หลายคนต้องนำสิ่งของไปเข้าโรงรับจำนำแล้วด้วยซ้ำ

เมื่อไม่มีทรัพย์สิน ที่ต้องนำไปจำนำอีกต่อไป สุดท้ายก็ต้องหันหน้าไปพึ่งพา “หนี้นอกระบบ”

เพราะในช่วงโควิด-19 นี้ที่ทำให้คนขาดรายได้ เช่น “พนักงาน” เคยมีเงินเดือนเฉลี่ย 2 หมื่นบาท เมื่อรายได้นี้หายไป แต่กลับมีค่าใช้จ่ายผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าใช้จ่ายประจำวัน จนต้องหารายได้ในส่วนอื่นมาทดแทน

ต้องเข้าใจว่า...“คนหาเช้ากินค่ำ” คงไม่สามารถ “กู้ยืมเงินในระบบ” เพราะไม่มี “เครดิต” หรือ “หลักประกัน” ให้สถาบันการเงินปล่อยเงินให้กู้ยืมได้ อีกทั้งเกิดโรคระบาดแบบนี้ ยิ่งทำให้การปล่อยเงินกู้ระวังมากขึ้น

ทำให้ต้องมา “กู้เงินนอกระบบ” ที่เป็นเรื่องสมยอมกันทั้ง 2 ฝ่าย มีนายทุนปล่อยเงินกู้เดินเข้าชุมชนเคาะถึงประตูหน้าบ้านด้วยซ้ำ ทำให้การเงินกู้นอกระบบนี้มีความสะพัดอย่างมาก

ดังนั้น...“ระดับประเทศ” ต้องรณรงค์การสอนเรื่อง “การออมเงินกันใหม่” ที่เรียกว่า “สร้างวินัยการออม” ถ้าต้องการลงทุนควรมีเงินอยู่ 100% เพื่อป้องกันการขาดทุนอนาคต ที่ไม่ใช่ไม่มีเงินกลับไปกู้ยืม 100% หากเกิดวิกฤติขึ้นอาจเผชิญกับการล้มสลายได้ เพราะไม่มีความแข็งแรงรากฐานการลงทุน

โดยเฉพาะ “ธุรกิจการเงินสมัยใหม่” เน้นการ “กู้ยืมเงินมาลงทุนก่อน” กลายเป็น “หนี้ล่วงหน้า” เพราะทุกคนไม่เคยมีชุดความคิดออมเงินกัน เมื่อเกิดโรคระบาดทำให้เห็นปัญหา “วิถีชีวิต” มากมาย ทั้งธุรกิจ โรงแรม พ่อค้า แม่ค้า ต้องเผชิญการขาดสภาพคล่องอย่างเต็มรูปแบบ

เรื่อง “หนี้” คือ การใช้เงินของอนาคต ที่อาจมีผลกระทบอย่างไม่รู้ตัว ต่อไปคงหันกลับมาดูพื้นฐานในเรื่องการวางแผน “ออมเงินครอบครัว” ให้มีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายยามจำเป็น

เช่นเดียวกับ “ประเทศ” ต้องมีเงินออมสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน มิฉะนั้น “เศรษฐกิจ” ก็จะเดินต่อไม่ได้...พังพินาศเช่นกัน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ