ครม.อัดเงิน 22,400 ล้านบาทไฟเขียว “ไทยเที่ยวไทย” ลดค่าห้องพัก40% สูงสุด 3,000 บาทต่อคืน คนหนึ่งได้สูงสุด 15,000 บาทแถมได้เงินส่วนลดค่าเที่ยว-ค่าอาหาร 600 บาทต่อการจองที่พัก 1 คืน สูงสุด 5 คืน นายกฯย้ำพร้อมรับมือระบาดรอบ 2
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกสำนักนายกฯ แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่ง ประเทศไทย (ททท.) เพื่อฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศภายใต้วงเงิน 22,400 ล้านบาท โดยใช้เงินเยียวยาเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 400,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 โครงการ ระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่เดือน ก.ค.-ต.ค.63 รวมเวลา 4 เดือน ได้แก่
1.โครงการกำลังใจโดยรัฐสนับสนุนค่าเดินทางของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวม 1.2 ล้านคน ให้เดินทางโดยการใช้บริการกับบริษัทนำเที่ยวซึ่งรัฐจะสนับสนุนงบประมาณเดินทางไม่เกินคนละ 2,000 บาท สำหรับการเดินทางที่ไม่น้อยกว่า 2 วัน 1 คืน วงเงิน 2,400 ล้านบาท
2.โครงการเราไปเที่ยวกัน โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าโรงแรมที่พักในลักษณะร่วมจ่าย (Co-pay) จำนวน 5 ล้านคน ในอัตรา 40% ของค่าห้องพักแต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน และสนับสนุนค่า อาหารและค่าใช้จ่ายสถานที่ท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการ และ ททท.จะแจ้งรายชื่อแก่ธนาคารกรุงไทยจำนวน 600 บาทต่อห้องต่อคืน โดยส่วนนี้ใช้เป็นส่วนลดค่าอาหารและค่าสถานที่ท่องเที่ยว โดยจะต้องมีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่จังหวัดในทะเบียนบ้านของประชาชนผู้จองที่พัก วงเงินรวม 18,000 ล้านบาท
3.โครงการเที่ยวปันสุข สนับสนุนการเดินทางของประชาชนไม่น้อยกว่า 2 ล้านคนโดยการ จำหน่ายบัตรโดยสารของผู้ประกอบการขนส่งด้านการท่องเที่ยว 3 กลุ่ม ได้แก่ สายการบินในประเทศ รถขนส่งไม่ประจำทางข้ามจังหวัด-รถเช่าในอัตรา 40% แต่ไม่เกิน 1,000 บาท โดยผู้ที่จองตั๋วเครื่องบินที่ลงทะเบียนโครงการเราไปเที่ยวกันจะได้สิทธิในการลดราคาตั๋วเครื่องบินในแพ็กเกจนี้ด้วย ใช้เงินทั้งหมด 2,000 ล้านบาท
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยเพื่อฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศ ได้แก่ ผู้ประกอบการโรงแรมที่พัก ธุรกิจนำเที่ยว และการขนส่งที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด โดยกระทรวง และ ททท.ต้องจัดทำรายละเอียดเสนอ ครม.ภายใน 2 สัปดาห์ เรื่องระบบการจัดลงทะเบียนที่จะ ให้ธนาคารกรุงไทยจัดทำแพลตฟอร์ม-แพ็กเกจที่จะจัดทำจะเป็นแบบใด รวมถึงการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน เพื่อใช้เป็นช่องทางรวบรวมข้อมูล และรายละเอียด โดยโรงแรม-โฮมสเตย์ที่เข้าร่วมจะต้องจดทะเบียนถูกต้องเท่านั้น
ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า ประชาชนที่เข้าร่วมในโครงการเราไปเที่ยวกัน 1 คนจะได้ 1 สิทธิ พักโรงแรมได้ไม่เกิน 5 คืน ซึ่งเงื่อนไขที่วางไว้ว่ารัฐบาลจ่ายให้ 40% ไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน เท่ากับราคาห้องสูงสุดจะอยู่ที่คืนละ 7,500 บาท ถ้าใช้สิทธิเต็ม 5 คืน เท่ากับรัฐบาลจะจ่ายค่าที่พัก 15,000 บาทแทนผู้ใช้สิทธิ โดยผู้ใช้สิทธิต้องจ่าย 60% ก่อนเป็นเงิน 22,500 บาท และเงิน 40% จำนวน 15,000บาท รัฐบาลจะจ่ายให้ผู้ประกอบการ ไม่ใช่คืนมาที่ผู้เข้าพัก ส่วนเรื่องส่วนลดค่าตั๋วเครื่องบินในโครงการเที่ยวปันสุข มี 2 รูปแบบคือ สายการบินได้มีข้อตกลงกันว่าจะทำตั๋วโดยสารไป-กลับ ราคาพิเศษ 2,500 บาท ซึ่งสามารถนำไปร่วมกับโครงการเราไปเที่ยวกันได้ แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ใช้ตั๋วราคาพิเศษดังกล่าวก็สามารถซื้อตั๋วทั่วไปแต่ได้ส่วนลด 40% แต่ไม่เกิน 1,000 บาทได้ นอกจากนี้ ผู้ใช้สิทธิจะได้รับ E-Voucher หรือบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง 600 บาทต่อคืน ไม่เกิน 5 คืน เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนลด ค่าอาหารหรือค่าเข้าแหล่งท่องเที่ยว มีข้อแม้ว่าต้องเป็นจังหวัดเดียวกับที่โรงแรมที่เข้าพักตั้งอยู่
ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า แพ็กเกจกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศที่เบื้องต้นจะใช้งบ 22,400 ล้านบาท เพื่อเยียวยาและช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว อยู่ในส่วนของวงเงิน 400,000 ล้านบาท ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 3-4 ของปี 63 ให้ขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมาเพราะภาคการท่องเที่ยวเป็นกลไกสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ
“สิ่งสำคัญตอนนี้ จะต้องเริ่มต้นกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศก่อน ซึ่งภาคการท่องเที่ยวถือเป็นอีกเครื่องยนต์ที่สามารถใช้ได้ จึงต้องเริ่มต้นที่การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อประคองเศรษฐกิจให้สามารถเดินหน้าต่อได้ โดยต้องเน้นให้คนไทยเที่ยวไทย เพราะการกระตุ้นภาคท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังทำไม่ได้ ขณะที่ในส่วนของมาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวนั้น ยังไม่มี เพราะการใช้มาตรการภาษีจะต้องพิจารณาตามความจำเป็น”
อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้า กระทรวงการคลังจะสรุปเรื่องของการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) สำหรับสายการบินที่เดือดร้อนจากโควิด-19 และกำลังจะกลับมาดำเนินกิจการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การท่องเที่ยวด้วย.