อุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งค่ายรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ระส่ำพิษโควิด-19 ต้องทยอยปลดแรงงานในระบบที่มีกว่า 7.5 แสนคน ล่าสุดค่ายฟอร์ดและมาสด้าลดคนหันไปใช้เอาต์ซอร์สแทน ขณะที่ค่ายมิตซูบิชิเปิดโครงการสมัครใจออก ด้านนิสสันไม่ต่อสัญญากับพนักงานสัญญาจ้าง 300 คน ขณะที่ยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือน เม.ย.ทรุดตัวลงหนัก ทำยอดขายได้เพียง 33,300 คัน ตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี ชงมาตรการรัฐช่วย
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อยอดการจำหน่ายและการผลิตรถยนต์ในประเทศและการส่งออกให้ชะลอตัวลง และยังกระทบต่อเนื่องไปยังผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ผู้ผลิตอุปกรณ์ตกแต่งภายในรถยนต์ รวมถึงตัวแทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) ฯลฯ โดยทั้งหมดนี้จะมีแรงงานที่ได้รับผลกระทบรวม 750,000 คน ทำให้ขณะนี้ยอมรับว่าค่ายรถยนต์ในประเทศกำลังปรับตัวลดพนักงานให้สอดรับกับการผลิตที่ลดลง โดยจะมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลกว่าจะยืดเยื้อมากน้อยเพียงใด
“ยอมรับว่ายอดจำหน่ายรถยนต์ปีนี้จะลดลงมากเกือบทุกค่ายผู้ผลิต แม้ค่ายรถยนต์ได้ปิดไลน์การผลิตไปเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และแม้ว่าเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้อาจเริ่มกลับมาผลิตได้บางส่วน แต่กำลังการผลิตก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะค่ายรถยนต์ยังมีสต๊อกรถยนต์ที่เหลือค้างจำหน่ายอยู่จำนวนมาก”
ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลอาจผ่อนคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 2 แต่ ส.อ.ท.มองว่ากำลังซื้อของประชาชนในประเทศและการส่งออกก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ประกอบกับโรงงานผลิตรถยนต์ หากจะกลับมาผลิตรอบใหม่ต้องเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันโควิด-19 ทำให้อัตรากำลังการผลิตคงไม่ได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นแรงงานส่วนหนึ่งจึงเกินความจำเป็นและค่ายรถยนต์และโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ก็จะเลือกวิธีการลดต้นทุน คือเลิกจ้างพนักงานบางส่วนด้วยการจ้างออก แล้วจ่ายเงินตามกฎหมายแรงงาน เพื่อลดต้นทุน
นายสุรพงษ์กล่าวว่า กลุ่มยานยนต์ ได้ประเมินไว้ว่าหากโควิด-19 ยืดเยื้อถึงเดือน มิ.ย.จะส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์ จากเป้าหมายเดิมปีนี้ ตั้งเป้าว่าประเทศไทยจะมีการผลิตรถยนต์ 1.9 ล้านคันก็จะเหลือเพียง 1.4 ล้านคัน และหากยืดเยื้อถึงเดือน ก.ย.-ต.ค.จะเหลือเพียง 1 ล้านคันเท่านั้นหรือหายไป 50% ดังนั้นแรงงานในอุตสาหกรรมยาน-ยนต์จะได้รับผลกระทบมากน้อยขึ้นอยู่ที่กับความยืดเยื้อของโควิด-19
“กลุ่มรถยนต์ ได้เสนอแนวทางเพื่อลดผลกระทบต่อคลัสเตอร์ยานยนต์ ซึ่งจะรวมถึงการรักษาระดับการจ้างงานในกลุ่มนี้ไว้ให้มากที่สุดให้กับกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเมื่อเร็วๆนี้ โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญได้แก่ เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนให้ผู้ที่นำรถยนต์เก่าที่มีอายุงาน 20 ปีไปแล้วที่มีอยู่รวม 2 ล้านคัน มารีเทิร์นเพื่อซื้อรถยนต์ใหม่ โดยรัฐบาลจ่ายเงินส่วนต่างจำนวนหนึ่งให้ผู้จำหน่ายรถยนต์แทนประชาชน ซึ่งไม่เพียงกระตุ้นยอดขายในประเทศ แต่ยังช่วยลดปัญหามลพิษพีเอ็ม 2.5 เหมือนที่สหรัฐฯและเยอรมนีได้ใช้รูปแบบนี้ในการฟื้นฟูประเทศจากวิกฤติเศรษฐกิจ และเสนอให้รัฐบาลยืดเวลาชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะครบการจ่ายเดือน ส.ค.นี้ หากเป็นไปได้ต้องการให้ยืดไปอีก 1 ปี เพื่อนำเงินไปหมุนเวียนใช้จ่าย ซึ่งรวมถึงการคงรักษาพนักงานเอาไว้ เป็นต้น”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือน เม.ย.63 แบบไม่เป็นทางการ ทรุดตัวลงอย่างรุนแรงเมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. หรือลดลง 50% โดยทำยอดขายได้เพียง 33,300 คันเท่านั้น ถือว่าตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี ดังนั้นค่ายรถยนต์ต่างๆจึงเริ่มปรับนโยบายด้านคนแล้ว อาทิ ค่ายฟอร์ดและมาสด้ามีนโยบายลดคนพร้อมจ่ายชดเชยตามกฎหมายแรงงานและหันไปใช้เอาต์ซอร์สแทน ค่ายมิตซูบิชิก็ได้เปิดโครงการสมัครใจลาออก ค่ายนิสสันตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับพนักงานสัญญาจ้าง 300 คนจาก 1,900 คนเพื่อดูความชัดเจนของสถานการณ์โควิด-19 เป็นต้น
ขณะที่นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 อย่างรุนแรง เนื่องจากทุกประเทศมีการปิดเมือง หรือล็อกดาวน์ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. ซึ่งกระทบต่อการจ้างงาน ภาคการผลิตและการส่งออก ทำให้การบริโภคของประชาชนลดลง รวมถึงการลงทุนใหม่ๆด้วย ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นมูลค่าถึง 15% ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายประเทศ (จีดีพี) ก็ได้รับผลกระทบด้วย “ปีนี้การส่งออกสินค้าจะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เพราะหลายประเทศรวมถึงไทย มีการปิดเมืองและปิดประเทศ ขณะที่การท่องเที่ยวก็มีปัญหาเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว และยังจะมีปัญหาต่อไปคือจำนวนนักท่องเที่ยวที่เคยคาดว่าจะมีสูงถึง 40 ล้านคน คงไม่ได้ตัวเลขนี้แล้ว และกว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นปกติต้องใช้เวลาอีกนาน”
สำหรับเศรษฐกิจไตรมาส 1 ปี 63 (ม.ค.-มี.ค.) ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะแถลงวันที่ 18 พ.ค.นี้ คาดว่าจะออกมาไม่ดีนัก ที่สำคัญตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกนั้นมีเดือน มี.ค.เพียงเดือนเดียวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขณะที่ไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.) คาดว่าจะได้รับผลกระทบเต็มๆ และรุนแรงมากกว่า จึงต้องทำใจว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 จะไม่ดี เพราะรับผลกระทบจากการปิดเมือง.