โควิด-19 ภัยแล้ง ทุบเศรษฐกิจเจ๊ง 8.4 แสนล้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

โควิด-19 ภัยแล้ง ทุบเศรษฐกิจเจ๊ง 8.4 แสนล้าน

Date Time: 13 มี.ค. 2563 08:52 น.

Summary

  • ศูนย์พยากรณ์ฯ ได้ปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 63 ลงจากเดิมขยายตัว 2.8% เหลือ 1.1% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการ ระบาดไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก

Latest

HSBC ชี้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คิด หลังรัฐเร่งลงทุน กระตุ้นบริโภค ต่างชาติเชื่อมั่น จ่อลงทุนไทยเพิ่ม


กดจีดีพีโต 1.1% แรงงานอ่วม 2.3 ล้านคน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์พยากรณ์ฯ ได้ปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 63 ลงจากเดิมขยายตัว 2.8% เหลือ 1.1% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการ ระบาดไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่มีผลต่อพืชผลทางการเกษตร, ความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบลงทุนและปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยได้รับความเสียหายรวม 841,498 ล้านบาท และมีผลต่อแรงงานที่เกี่ยวข้องกว่า 2.3 ล้านคน ซึ่งมีทั้งบริษัทเลิกจ้าง, ลดการทำงานโอที, ลดชั่วโมงการทำงาน หรือหยุดงานชั่วคราว เป็นต้น

ทั้งนี้ หากพิจารณาผลกระทบเป็นรายเหตุการณ์พบว่า ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยรวม 749,077 ล้านบาท แบ่งเป็นกระทบต่อการท่องเที่ยว 401,825 ล้านบาท, กระทบต่อการบริโภคเอกชนลดลง 117,333 ล้านบาท, กระทบการลงทุนภาคเอกชนลดลง 93,894 ล้านบาท และกระทบต่อการส่งออกสินค้าลดลง 136,025 ล้านบาท ที่เหลือก็จะเป็นผลกระทบจากภัยแล้ง 54,220 ล้านบาท, ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เสียหาย 6,200 ล้านบาท และปัญหาความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณเสียหาย 32,000 ล้านบาท

“แรงงานที่ได้รับผลกระทบกว่า 2.3 ล้านคนนั้น ขอย้ำว่าทั้งหมดไม่ได้ถูกเลิกจ้าง แต่มีทั้ง ถูกเลิกจ้าง ถูกลดเวลาทำงาน ลดชั่วโมงทำงาน ซึ่งกระทบต่อรายได้ของแรงงานและอื่นๆ ส่วนผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 มีแรงงานได้รับผลกระทบกว่า 1.67 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในธุรกิจภัตตาคารและโรงแรม 629,064 คน, การค้าส่งและค้าปลีก 283,472 คน, การบริการ 180,391 คน, การขนส่งและการสื่อสาร 42,515 คน, การผลิตอาหาร 25,671 คน การเพาะปลูก 400,128 คน เป็นต้น ขณะที่ภัยแล้งมีผลกระทบแรงงาน 643,613 คน เป็นกลุ่มเกษตรกรรม 623,065 คน, อุตสาหกรรมเคมี 1,561 คน, ค้าส่งค้าปลีก 9,961 คน, การบริการ 2,091 คน เป็นต้น”

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน ก.พ.63 อยู่ระดับ 64.8 ปรับลดลง 12 เดือนต่อเนื่อง ต่ำสุดในรอบ 251 เดือน หรือ 20 ปี 11 เดือน นับตั้งแต่เดือน เม.ย.42 เป็นต้นมา แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมีมุมมองต่อเศรษฐกิจไม่ดีอย่างมากทั้งเรื่องของรายได้ การจ้างงานและอื่นๆ ทำให้ผู้บริโภคต้องระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ