ขายเกินราคาคุก 5 ปีปรับ 1 แสน พาณิชย์สั่งห้ามขายหน้ากากอนามัยเกิน 2.50 บาท

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ขายเกินราคาคุก 5 ปีปรับ 1 แสน พาณิชย์สั่งห้ามขายหน้ากากอนามัยเกิน 2.50 บาท

Date Time: 6 มี.ค. 2563 08:35 น.

Summary

  • “พาณิชย์” กำหนดราคาขายสูงสุด “หน้ากากอนามัย” ที่ผลิตได้ในประเทศชิ้นละ 2.50 บาท ส่วนสต๊อกเก่าที่ขายตรงสู่ผู้ค้าทั่วไปให้เวลา 3 วันเคลียร์สต๊อกให้หมด ตั้งแต่ 9 มี.ค.นี้ ต้องขาย 2.50 บาท

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

“พาณิชย์” กำหนดราคาขายสูงสุด “หน้ากากอนามัย” ที่ผลิตได้ในประเทศชิ้นละ 2.50 บาท ส่วนสต๊อกเก่าที่ขายตรงสู่ผู้ค้าทั่วไปให้เวลา 3 วันเคลียร์สต๊อกให้หมด ตั้งแต่ 9 มี.ค.นี้ ต้องขาย 2.50 บาทเท่านั้น!! ใครขายเกินราคาระวังคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท ส่วนหน้ากากนำเข้าให้ขายได้โดยบวกค่าบริหารจัดการรวมได้ไม่เกิน 60% ของต้นทุน พร้อมสั่งคุมเข้ม “เจลล้างมือ” ห้ามปรับราคาก่อนได้รับอนุญาต หลังพบราคาขึ้นพรวด แต่ยันไม่ขาดแคลน ไม่ต้องตื่นกักตุน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยราคาแพง และการกระจายหน้ากากอนามัย ว่า เมื่อวันที่ 5 มี.ค.63 ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กำหนดราคาจำหน่ายปลีกสูงสุดหน้ากากอนามัยแบบสีเขียวที่กำลังเป็นที่ต้องการใช้ในประเทศ ไม่เกินชิ้นละ 2.50 บาท สำหรับหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้ในประเทศ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ทันที

แต่สำหรับหน้ากากอนามัยสต๊อกเก่าที่โรงงานขายตรงให้กับผู้จำหน่ายต่างๆ ก่อนหน้านี้ในราคาสูงกว่าที่ส่งให้กับกระทรวงพาณิชย์ กกร.ให้เวลาเคลียร์สต๊อกให้หมดภายใน 3 วัน และตั้งแต่วันจันทร์ที่ 9 มี.ค.63 เป็นต้นไป ผู้ค้าปลีกทุกรายจะต้องจำหน่ายปลีกชิ้นละ 2.50 บาททั้งหมด หากขายเกินราคาสูงสุดที่กำหนดจะมีโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 โดยจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ต้นทุนการผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศสูงขึ้น จากการนำเข้าวัตถุดิบ โดยเฉพาะฟิลเตอร์ (แผ่นกรองเชื้อโรค) ที่สูงขึ้น โดยโรงงานผู้ผลิตแจ้งว่า ราคาฟิลเตอร์นำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัวจากเดิม แต่การที่ กกร. ออกประกาศกำหนดให้ราคาปลีกสูงสุดไม่เกินชิ้นละ 2.50 บาท ส่งผลให้โรงงานมีต้นทุนส่วนที่เกินจากราคาขายอยู่ ดังนั้น จึงได้สั่งการให้กรมการค้าภายในศึกษาโครงสร้างต้นทุนการผลิตหน้ากากอนามัยว่าเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ เพื่อกระทรวงจะเสนอให้ ครม.เศรษฐกิจ และ ครม.อนุมัติงบประมาณมาช่วยเหลือผู้ผลิต เพื่อให้ราคาขายปลีกหน้ากากอนามัยยังคงอยู่ที่ชิ้นละ 2.50 บาทได้ นอกจากนี้ กกร.ยังได้ออกประกาศกำหนดให้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตก่อนปรับขึ้นราคา เพื่อแก้ปัญหาราคาแพง เพราะพบว่าขณะนี้ราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำหรับหน้ากากอนามัยนำเข้านั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนได้ลงนามในประกาศ กกร.เมื่อวันที่ 5 มี.ค. และมีผลทันที กำหนดให้ผู้นำเข้าต้องแสดงต้นทุนนำเข้ากับกรมการค้าภายใน และบวกค่าบริหารจัดการ เช่น ต้นทุนค่าบริหาร การขนส่ง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบริหารงานบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ค่าใช้จ่ายอื่นๆ และค่าตอบแทน รวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 60% ของต้นทุนนำเข้า เช่น สินค้านำเข้าชิ้นละ 100 บาท ราคาขายบวกได้เป็น 160 บาท หรือราคานำเข้า 1 บาท บวกได้เป็น 1.60 บาท เป็นต้น สำหรับการกำหนดราคาจำหน่ายปลีกสูงสุดดังกล่าวไม่รวมหน้ากากอนามัยแบบผ้าที่เป็นหน้ากากทางเลือก ที่รัฐบาลกำลังส่งเสริมและผลักดันให้มีการผลิตในขณะนี้

สำหรับการห้ามกักตุนนั้น กกร.ยังไม่ได้ออกประกาศกำหนดให้ผู้ที่มีหน้ากากอนามัยเกินกว่าปริมาณที่กำหนด จะต้องแจ้งปริมาณการครอบครอง เพราะยังไม่ได้กำหนดปริมาณการครอบครองที่ชัดเจน เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อผู้ที่เก็บหน้ากากอนามัยที่บริสุทธิ์ เช่น โรงพยาบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากมีการเปลี่ยนแปลงหรือเห็นว่ามีปัญหาก็จะออกคำสั่ง กกร.เพื่อบังคับใช้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดพฤติกรรมห้ามกักตุน คือ 1.การเก็บสินค้าไว้ในสถานที่อื่นนอกเหนือจากที่ได้แจ้งไว้กับเจ้าหน้าที่ 2.ไม่นำหน้ากากที่มีเพื่อจำหน่ายออกจำหน่ายตามปกติ 3.ปฏิเสธการจำหน่าย 4.ประวิงการจำหน่าย และการส่งมอบโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หากพบใครมีพฤติกรรมเหล่านี้จะมี ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายจุรินทร์กล่าวต่อถึงแผนกระจายหน้ากากอนามัยว่า โรงงานที่มีอยู่ 11 โรงงาน กำลังผลิตรวมกันวันละ 1.2 ล้านชิ้น ลดลงจากเดิม 1.35 ล้านชิ้น เพราะมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบ หรือมียอดรวมเดือนละ 36 ล้านชิ้น ซึ่งต้องส่งให้ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยทั้งหมดในจำนวนนี้วันละ 700,000 ชิ้น มอบให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปกระจายให้โรงพยาบาล สถานพยาบาลทุกสังกัด ส่วนอีก 500,000 ชิ้น กรมการค้าภายในจะเป็นผู้ระบายให้กับประชาชน ผ่านช่องทางที่มีอยู่เดิม ทั้งร้านค้าส่ง ค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ ร้านธงฟ้า และรถโมบายวันละ 111 คัน แยกเป็นกรุงเทพฯและปริมณฑล 21 คัน และต่างจังหวัด 90 คัน มีหน้ากากวันละ 300,000 ชิ้นไปขาย กรุงเทพฯ และปริมณฑลขายวันละ 5,000-10,000 ชิ้น และต่างจังหวัด 3,000-5,300 ชิ้น

ด้านนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า จากการหารือกับผู้ผลิตพบว่า ต้นทุนการผลิตหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นจริง มาอยู่ที่ชิ้นละ 3-4 บาท ขณะที่ กกร.กำหนดให้ต้องขายส่งให้กับศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยที่ชิ้นละ 2 บาท สำหรับราคาขายสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับไวรัสโควิด-19 นั้น จากการเก็บข้อมูลของ สนค.พบว่า ราคาเดือน มี.ค.63 สูงขึ้นมากจาก ก.พ.63 โดยแอลกอฮอล์ราคาขึ้น 2.74%, เจลล้างมือเพิ่มขึ้น 5.42% และถุงมือยางเพิ่มขึ้น 1.81% เพราะความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นมาก แต่ยืนยันว่าสินค้ามีเพียงพอ ไม่ขาดแคลน ที่สำคัญไทยผลิตได้เองและใช้วัตถุดิบในประเทศ ผู้ผลิตกำลังเร่งผลิตอยู่ประชาชนจึงไม่มีความจำเป็นต้องกักตุน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ