นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% จาก สินค้าที่สั่งซื้อออนไลน์และส่งไปรษณีย์เข้ามาจากต่างประเทศทุกชนิดราคาจากที่ขณะนี้ได้รับการยกเว้นหาก มูลค่าสินค้าไม่เกิน 1,500 บาทว่า การจัดเก็บภาษีเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ผลิตและขายสินค้าในประเทศ ที่ต้องเสียแวต 7% ตั้งแต่สินค้าบาทแรก ซึ่งขณะนี้การค้าออนไลน์ขยายตัวสูงมาก ทำให้สินค้าจากต่างประเทศอาศัยช่องว่างของการยกเว้นภาษีดังกล่าว เข้ามาขยายตลาดในไทย
ดังนั้น แนวคิดยกเลิกการยกเว้นแวตสำหรับสินค้าส่งทางไปรษณีย์มูลค่าไม่เกิน 1,500 บาทนั้น เป็นการทำให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ประกอบการในไทยที่เสียภาษีถูกต้องและอยู่ในระบบภาษี กับผู้ประกอบการในต่างประเทศ โดยในต่างประเทศเองก็มีการเก็บภาษีในลักษณะนี้เช่นกันไม่ได้มีแต่เฉพาะในประเทศไทย
“หลังจากนี้คงต้องเสนอไปยังรัฐบาล คณะกรรมการปฏิรูปภาษีให้เตรียมแก้ไขกฎหมายของกรมศุลกากรและกรมสรรพากร เพื่อยกเลิกการยกเว้นภาษีแวตสำหรับสินค้าส่งไปรษณีย์มูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ซึ่งหากรัฐบาลเห็นด้วยน่าจะเริ่มได้ในปี 2563 ทันที โดยก่อนหน้านี้สภาหอการค้าไทยเคยเรียกร้องให้ยกเลิกการยกเว้นภาษี เพราะมองว่าสร้างความไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย”
ด้านนายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า หากของที่นำเข้ามาเป็นของส่วนตัวที่นำติดตัวไปต่างประเทศ แล้วไปลืมทิ้งไว้ และโรงแรมส่งกลับมา ไม่ถือว่าเข้าข่ายต้องเสียภาษี แต่เจ้าของจะต้องมีหลักฐานไปแสดงยืนยันว่าเป็นของที่นำออกไปจากไทยและลืมทิ้งไว้ที่โรงแรมจริงๆ รวมถึงต้องดูสภาพของสิ่งของด้วย อาทิ ถ้ามีสภาพเก่า หรือไม่ใช่ของราคาแพงที่ซื้อขายกันเป็นสินค้ามือ 2 ในต่างประเทศ ก็ไม่น่าจะต้องเสียภาษี เป็นต้น
ด้านนางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ โฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า ในการเก็บแวตจากสินค้านำเข้าทางไปรษณีย์นั้น จะอิงตามการเสียภาษีของกรมศุลกากร หากมีการเก็บภาษีศุลกากร เจ้าหน้าที่จะเก็บให้กับกรมสรรพากรด้วย ซึ่งหากเจ้าของที่ลืมของไว้มีหลักฐานมาแสดงว่าไม่ใช่ของที่ซื้อมาจากต่างประเทศ ก็ไม่ต้องเสียภาษี.