“จุรินทร์” ลงพื้นที่อีสาน อบรมสตาร์ทอัพและการค้าออนไลน์ ปลูกประชาธิปไตยกินได้ให้เกษตรกรและนักธุรกิจรุ่นใหม่ก้าวหน้าไปกับสื่อดิจิทัล
วันที่ 2 ธ.ค. 2562 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานสัมมนา หัวข้อ “เศรษฐกิจทันสมัย เกษตรไทยก้าวหน้าไปกับสื่อดิจิทัล” ซึ่งจัดขึ้นที่ จ.อุบลราชธานี โดยกล่าวในช่วงหนึ่งว่า การจัดงานนี้เป็นนโยบายของกระทรวงพาณิชย์และนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตการแปรรูปและบริการ มี 4 กลุ่มที่เกี่ยวข้อง คือ 1. เกษตรกร 2. นักศึกษา 3. ผู้ประกอบการ และ 4. วิทยุชุมชน
นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปอีกว่า โลกเปลี่ยนไป จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้ผู้ผลิตสามารถสื่อสารโดยตรงกับผู้บริโภค และจะสามารถทำให้เกษตรกรไทยสามารถขายสินค้าเกษตรได้ในราคาต่อหน่วยที่ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของกิจกรรมวันนี้ที่จัดขึ้นเพื่อสร้างองค์ความรู้และความตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และสนับสนุนให้เกษตรกรไทยมีการปรับตัว ใช้ช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสมในการเข้าถึงผู้บริโภค รวมทั้งสร้างโมเดลธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ “ประเทศไทย มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และแผนการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าในทุกมิติตามการเปลี่ยนโลกของธุรกิจดิจิทัล
“ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลกำลังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีการดำเนินธุรกิจในแบบเดิม และส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในวงกว้าง รวมถึงภาคการเกษตรที่กำลังเผชิญกับโอกาสและความท้าทายนี้เช่นกัน การก้าวให้ทันเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะส่งผลในด้านบวกอย่างมหาศาลให้กับเศรษฐกิจการเกษตร ลดช่องว่างระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ซึ่งปรากฏการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
การพัฒนาภาคการเกษตรแบบยั่งยืน คือ การพัฒนาจากต้นน้ำ ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตหรือเพิ่มผลิตภาพ จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเป็นการพัฒนาเกษตรยุคใหม่ หรือ Smart Farmer ด้วยการช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ โดยมีสถานีวิทยุชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างองค์ความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมและขยายโอกาสทางการตลาดของคนในชุมชนในนามของกระทรวงพาณิชย์ ผมมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้ภาคการเกษตรของประเทศมีความเข้มแข็ง งานนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวให้บรรลุสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์”