ปรับเงื่อนไขง่ายขึ้น จ่อลุยเฟส 2 ชิมช้อปใช้ พบซื้อของร้านค้า เงินสะพัด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ปรับเงื่อนไขง่ายขึ้น จ่อลุยเฟส 2 ชิมช้อปใช้ พบซื้อของร้านค้า เงินสะพัด

Date Time: 2 ต.ค. 2562 12:34 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • "อุตตม" ฟุ้ง "ชิมช้อปใช้" หัวรถจักรกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ คนให้การตอบรับดี จ่อขยาย เฟส 2 ปรับเงื่อนไขให้ง่ายขึ้น เผยยอด "ช้อป" ใช้จ่ายสูงสุดในกลุ่มร้านค้าชุมชน โอทอป ธงฟ้าฯ

Latest


"อุตตม" ฟุ้ง "ชิมช้อปใช้" หัวรถจักรกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ คนให้การตอบรับดี จ่อขยาย เฟส 2 ปรับเงื่อนไขให้ง่ายขึ้น เผยยอด "ช้อป" ใช้จ่ายสูงสุดในกลุ่มร้านค้าชุมชน โอทอป ธงฟ้าฯ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ มาตรการ "ชิมช้อปใช้" คือหัวรถจักรดึงการบริโภคในประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรายงานตัวเลขมาตรการในช่วง 3 วันแรก วันที่ 27-29 ก.ย. ที่ผ่านมา มีผู้ไปใช้สิทธิ์แล้ว 370,523 คน มียอดการใช้จ่าย 294 ล้านบาท และกว่าร้อยละ 50 ของการใช้จ่าย หรือประมาณ 148 ล้านบาท เป็นการใช้จ่ายในร้าน “ช้อป” ซึ่งอยู่ในกลุ่มร้านค้าชุมชน โอทอป ร้านวิสาหกิจชุมชน และร้านธงฟ้าประชารัฐ

นอกจากนี้รองลงมา คือร้าน “ชิม” หรือร้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่มียอดใช้จ่ายประมาณ 60 ล้านบาท และร้าน “ใช้” เช่น โรงแรม โฮมสเตย์ มียอดใช้จ่ายประมาณ 7 ล้านบาท ด้านร้านค้าทั่วไปซึ่งรวมถึงรายใหญ่ มียอดใช้จ่ายราว 79 ล้านบาท ถือว่าน้อยกว่าการใช้จ่าย 2 รายการแรกมาก

ทั้งนี้เป้าหมายของโครงการนี้ คือการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และเน้นไปที่เศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะเกิดประโยชน์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อธิบายง่ายๆ ให้เห็นภาพ เช่น ซื้อไอศกรีม 1 ถ้วย หมายถึง พ่อค้าได้รับเงิน พ่อค้าก็เอาเงินไปซื้อวัตถุดิบ ครีม เนย หรือผลไม้ มาเป็นวัตถุดิบขายต่อ ผู้ผลิตครีมเนย ก็ได้ขายวัตถุดิบ เงินหมุนไปเป็นค่าแรงคนงาน หรือผลไม้ ชาวสวนก็ได้รับเม็ดเงิน ฯลฯ

“ทุกท่านคงเห็นแล้วใช่ไหมครับว่า การกระตุ้นการบริโภคก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนอย่างไร และที่สำคัญโครงการแบบนี้ ส่งผลด้านจิตวิทยา เกิดความคึกคักในการจับจ่ายใช้สอย ผมเชื่อว่าเงิน 1,000 บาทต่อคน ที่ได้รับไป จะมีจำนวนไม่น้อยที่จ่ายเพิ่มเติมอีกมาก เม็ดเงินจะสะพัดเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว”

สำหรับผลที่ได้ในมาตรการนี้ ถือว่าประชาชนให้การตอบรับเป็นอย่างดี แม้จะมีปัญหาเชิงเทคนิคและการเรียนรู้ของผู้รับสิทธิบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามชี้แจง ปรับปรุง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ร่วมโครงการทั้งผู้ใช้สิทธิและร้านค้า อย่างเต็มที่

ล่าสุดนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปศึกษาแนวทางของการขยายมาตรการดังกล่าวออกไป เนื่องจากเห็นว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นอีก โดยอาจจะมีการกำหนดเงื่อนไขและรูปแบบของมาตรการ ให้ง่ายต่อการเข้าถึงของประชาชนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีการศึกษาและนำเอาผลการดำเนินงานของมาตรการในระยะแรก มาวิเคราะห์ถึงข้อดี ข้อเสียอีกครั้งหนึ่ง เช่น การลงทะเบียนเพื่อใช้จ่ายในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง อาจกำหนดให้ใช้ได้ทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดที่ผู้ลงทะเบียนมีภูมิลำเนาอยู่ รวมทั้งสนับสนุนร้านค้าชุมชน วิสาหกิจชุมชน และการท่องเที่ยวในเมืองรอง เข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตามมาตรการในระยะแรกนี้ ยังคงเปิดใช้จนถึงวันที่ 30 พ.ย. โดยประชาชนที่ลงทะเบียน หากเงิน 1,000 บาท ในแอพฯ “เป๋าตัง” หมดแล้ว ยังสามารถเติมเงินในกระเป๋า 2 หรือ G-Wallet เพื่อใช้สิทธิ์ รับเงินคืน (Cash Back) 15% ของยอดเงินที่เติมและใช้จ่ายในร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการผ่านแอพฯ ได้อีก เช่น เติมเงินจ่ายสินค้าและบริการ 1,000 บาท จะได้รับเงินคืน 150 บาท เป็นต้น โดยสามารถรับเงินคืนสูงสุด 4,500 บาท หรือจากยอดใช้จ่าย 30,000 บาท

“สุดท้าย ผมขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยกันอย่างเต็มที่ ทำให้มาตรการนี้สามารถตอบสนองเป้าหมายที่วางไว้ได้ ที่สำคัญขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกท่าน ที่ช่วยกันเดินหน้าต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจที่รุมเร้าจากปัจจัยภายนอกประเทศ หากเราสร้างความเข้มแข็งภายในสำเร็จ เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตยั่งยืนได้อย่างแน่นอนครับ”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ