เก็บภาษีความหวานลิตรละบาท เริ่ม 1 ต.ค.นี้ คาดโกยรายได้เพิ่ม 3.5 พันล้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เก็บภาษีความหวานลิตรละบาท เริ่ม 1 ต.ค.นี้ คาดโกยรายได้เพิ่ม 3.5 พันล้าน

Date Time: 10 ก.ย. 2562 07:35 น.

Summary

  • กรมสรรพสามิต เดินหน้าเก็บภาษีความหวาน 1 ต.ค.นี้ เพิ่มอีกเท่าตัว คาดมีรายได้เพิ่มเป็น 3,500 ล้านบาทต่อปี พร้อมเล็งเสนอรัฐบาลจัดเก็บภาษีความเค็ม หวังดูแลสุขภาพคนไทย-กลุ่มผู้สูงวัย

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

กรมสรรพสามิต เดินหน้าเก็บภาษีความหวาน 1 ต.ค.นี้ เพิ่มอีกเท่าตัว คาดมีรายได้เพิ่มเป็น 3,500 ล้านบาทต่อปี พร้อมเล็งเสนอรัฐบาลจัดเก็บภาษีความเค็ม หวังดูแลสุขภาพคนไทย-กลุ่มผู้สูงวัย

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยภายหลังการประชุม The Conference of Sugar Sweeten Beverage Excise Taxation เรื่องการปรับภาษีความหวานว่า ในวันที่ 1 ต.ค.62 จะปรับขึ้นอัตราภาษีความหวานอีกเท่าตัว หลังจากได้ปรับโครงสร้างภาษีไปแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน หรือตั้งแต่ปี 60 ซึ่งส่งผลให้เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสมส่วนใหญ่ ประมาณ 10-14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร (มล.) จะเสียภาษีเพิ่มเป็น 1 บาทต่อลิตร จากเดิมเสียที่ 50 สตางค์ต่อลิตร คาดว่ากรมสรรพสามิตจะสามารถจัดเก็บภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นเป็น 3,500 ล้านบาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้นได้อีกประมาณ 1,500 บาท จากปัจจุบันจัดเก็บภาษีได้ 2,000 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้ประกอบการยังไม่ค่อยปรับเปลี่ยนสินค้าให้มีความหวานน้อยลงมากเท่าที่ควร เพราะกลัวยอดขายลดลง แต่มีบางยี่ห้อได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความหวานน้อยลง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค และยังขายผลิตภัณฑ์เดิมที่มีปริมาณน้ำตาลเท่าเดิม เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มรายได้หลัก ซึ่งส่วนนี้ผู้ผลิตจะแบกรับภาระต้นทุนภาษีไว้เอง “ผู้ผลิตน้ำอัดลมบางยี่ห้อได้ปรับขึ้นราคาขายไปแล้ว 2 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นการปรับขึ้นราคาจากภาระต้นทุน และภาระทางภาษีที่ปรับขึ้นใหม่”

สำหรับภาษีความหวาน กรมจะจัดเก็บในอัตราขั้นบันไดทุก 2 ปี โดยปรับเพิ่มเป็น 2 เท่า สูงสุดถึง 5 บาทต่อลิตร คือ หลังจากวันที่ 1 ต.ค.64 ภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสม 10-14% จาก 1 บาทต่อลิตร จะเพิ่มเป็น 3 บาทต่อลิตร และในวันที่ 1 ต.ค.66 จะเพิ่มจาก 3 บาทต่อลิตร เป็น 5 บาทต่อลิตร ซึ่งกรมเชื่อว่า หลังจากนี้ผู้ประกอบการจะปรับเปลี่ยนสูตรในเครื่องดื่ม เพื่อลดความหวานลงเอง เพราะไม่ต้องการแบกรับภาระต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้น

“ในช่วงที่กรมสรรสามิตเริ่มเก็บภาษีความหวานจากเครื่องดื่มเมื่อ 2 ปีก่อน พบว่า มีกลุ่มเครื่องดื่มที่ได้ปรับลดปริมาณน้ำตาลให้น้อยลง เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว จาก 60-70 สินค้า เพิ่มเป็น 200-300 สินค้า และมีน้ำดำบางค่ายลดปริมาณน้ำตาลลงจาก 10% เหลือเพียง 7.5% ทำให้เครื่องดื่มดังกล่าวเสียภาษีในอัตราเดิม”

นายณัฐกรกล่าวต่อว่า นอกจากภาษีความหวานแล้ว กรมสรรพสามิตยังตรียมเสนอให้รัฐบาล จัดเก็บภาษีสินค้าที่มีความเค็ม เพื่อดูแลสุขภาพประชาชน และรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยแนวทางการจัดเก็บภาษีจะคล้ายกับภาษีความหวานในเครื่องดื่มคือ กำหนดปริมาณโซเดียม (เกลือ) ที่อยู่ในสินค้าต่างๆ เช่น ขนม อาหารกึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น โดยคิดจากปริมาณเกลือที่ควรบริโภคต่อวัน ที่จะกำหนดให้ไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัม แต่ต้องจำแนกอีกครั้งว่า สินค้าแต่ละประเภทควรมีปริมาณโซเดียมผสมเท่าใด และยืนยันว่าการเก็บภาษีความเค็ม จะไม่เก็บจากเครื่องปรุงรส เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว เป็นต้น

“ภาพรวมการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต คาดว่าจะชะลอตัวเล็กน้อย จากภาวะเศรษฐกิจและการบริโภคที่ชะลอตัวลง คาดว่าจนถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันสิ้นปีงบประมาณ 62 กรมจะเก็บภาษีได้ 584,000 ล้านบาท ตามเป้าหมายที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดให้จากเป้าหมายในเอกสารงบประมาณ 620,000 ล้านบาท ส่วนในปีงบประมาณ 63 กรมตั้งเป้าหมายการจัดเก็บภาษีได้ที่ 640,000 ล้านบาท”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ