นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวยอมรับเศรษฐกิจโลกมีความผันผวนจนเกิดปัญหากระทบเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงไทย และนั่นเป็นสัญญาณให้เห็นถึงความท้าทายว่า เศรษฐกิจประเทศไทยมีความเสี่ยง และอาจต้องเผชิญหน้ากับปัญหานี้ต่อไปอีกระยะ
ดังนั้นในระยะสั้นจึงต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นตรงจุด รวดเร็ว ทันการ โปร่งใส อาทิ การดูแลผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ดูแลเกษตรกร และกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว และแจกเงิน 1,000 บาทในระยะ 2-3 เดือน เท่านั้น เป็นต้น เพื่อช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยหมุนเวียนต่อไป
นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) ให้มีกำลังซื้อและสามารถลงทุนได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากหากเศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็งจะส่งผลดีกับเศรษฐกิจในภาพรวม รวมทั้งถ้าหากไม่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในปี 63 ประเทศไทยจะไม่สามารถฟื้นตัวตามต่างประเทศ ได้ทัน “เมื่อประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นแล้ว รัฐบาลเตรียมจัดสรรงบประมาณในปี 64 เพื่อปรับเปลี่ยนทิศทางในการเดินหน้าประเทศ โดยจะมีการทำข้อตกลงทางการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้า รวมถึงเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามแผนที่กำหนดไว้”
สำหรับการจัดสรรงบประมาณในปี 63 และ 64 ได้ร่วมกับสำนักงบประมาณ เพื่อจัดงบประมาณให้เหมาะสมเพราะมีงบอยู่จำกัด โดยในระยะสั้นจะบริหารจัดการเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงขณะนั้น ส่วนในระยะยาวจะจัดสรรงบเพื่อปรับเปลี่ยนประเทศ อาทิ ภาคการส่งออกจะไม่ส่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเท่านั้น แต่จะมีการแปรรูป เป็นต้น โดยยืนยันว่ากระทรวงการคลังยังมีงบเหลือบางส่วนที่จะนำมาออกมาตรการกระตุ้นได้เพิ่มเติมหากเศรษฐกิจมีปัญหา
ส่วนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14.6 ล้านคนที่ได้รับเงินเพิ่มจากรัฐบาล และสามารถกดเป็นเงินสดได้ โดยมีบางส่วนนำเงินที่ได้จากบัตรคนจนไปซื้อสุรานั้น ได้ตักเตือนไม่ให้เกิดเรื่องนี้อีก ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินผลของมาตรการแจกเงินให้ผู้ถือบัตรคนจนเพิ่ม ซึ่งยังเร็วเกินไปที่จะให้คำตอบว่ามาตรการได้ผลดีหรือไม่.