เร่งหาเงินกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี งบปี63 ช้า ทำเงินหาย 8 หมื่นล้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เร่งหาเงินกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี งบปี63 ช้า ทำเงินหาย 8 หมื่นล้าน

Date Time: 17 มิ.ย. 2562 07:15 น.

Summary

  • นายลวรรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า การที่งบประมาณปี 63 ออกล่าช้าไป 3 เดือน จากเดิม ต.ค.62 เป็น ม.ค.63 ทำให้ไม่มีเม็ดเงินลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

สศค.ตั้งหน้ารอนโยบายรัฐบาล

นายลวรรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า การที่งบประมาณปี 63 ออกล่าช้าไป 3 เดือน จากเดิม ต.ค.62 เป็น ม.ค.63 ทำให้ไม่มีเม็ดเงินลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ 63 ได้รับผลกระทบราว 70,000-80,000 ล้านบาท ดังนั้น สศค.จึงต้องหาวิธีมาชดเชยเม็ดเงินในเศรษฐกิจที่สูญเสียไป คือการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประจำปี อาทิ นำงบมาอบรมพัฒนาข้าราชการ การเร่งรัดเบิกจ่ายโครงการที่ต้องดำเนินการในไตรมาสที่ 2 หรือ 3 มาเบิกจ่ายในไตรมาสแรกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประจำปีลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งการหามาตรการมาชดเชยนั้น เป็นเรื่องแรกที่ รมว.คลังใหม่ควรรับทราบ โดย สศค.จะรอฟังความคิดเห็น ก่อนที่จะเสนอมาตรการที่เตรียมไว้ให้พิจารณา ทั้งนี้ ปี 63 สศค.จะยังคงกรอบงบประมาณไว้ที่ 3.2 ล้านล้านบาทตามเดิม แต่อาจมีการเปลี่ยนไส้ในหรือนโยบายต่างๆ หลังรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารแล้ว

ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่นั้น ยังรอดูความชัดเจนเรื่องแนวทางปฏิบัติ เพราะปัจจุบัน สศค.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังตีความไม่เหมือนกัน อาทิ การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% จะลดหย่อนตามขั้นบันได หรือคิดเป็น 10% ของรายได้ ส่วนเรื่องการเพิ่มเงินเบี้ยคนสูงอายุ 1,000 บาท จะจ่ายยังไง เช่น ผู้สูงอายุที่ได้ 600-800 บาทต่อเดือน จะได้เพิ่มเป็น 1,000 บาท แต่ผู้สูงอายุที่ได้เงิน 1,000 บาทอยู่แล้วก็เท่ากับไม่ได้รับเงินเพิ่ม นอกจากนี้ จะแจกเงินแค่ผู้สูงอายุที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือแจกให้ผู้สูงอายุทั่วประเทศ เป็นต้น ซึ่งต้องมาหารือรายละเอียดกัน

นายลวรรณยังกล่าวถึงสิทธิประโยชน์ภาษีกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่นำไปลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งจะครบกำหนดในปี 63 นั้น ขณะนี้ สศค.กำลังหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์กองทุนใหม่ ที่จะนำมาทดแทนกองทุน LTF เดิม เช่นอาจกำหนดสัดส่วนให้ลงทุนในกองทุนที่รัฐบาลสนับสนุน เช่น กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือกองทุนเอสเอ็มอี โดยหลักเกณฑ์สำหรับกองทุนใหม่นั้นจะเสร็จก่อนกองทุนเดิมหมดอายุแน่นอน ทั้งนี้ กองทุน LTF เดิมไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำได้ เพราะคนที่มีรายได้สูงได้ประโยชน์มากกว่าผู้มีรายได้น้อย และการที่จัดตั้งกองทุนนี้ขึ้นมาเพราะต้องการให้มีนักลงทุนสถาบันในตลาดมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ก็เติบโตขึ้นมากแล้ว นอกจากนี้ สศค.กำลังหารือภายในว่าถ้ามีหรือไม่มีกองทุนจะกระทบกับตลาดหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ