นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ “สถานภาพแรงงานไทย : กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท ในกลุ่มอาชีพข้าราชการ รับจ้าง พนักงานเอกชน รัฐวิสาหกิจ และรับจ้างรายวัน ว่า ในปีนี้แรงงานไทยมีหนี้สินเฉลี่ย 158,855 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 15.1% จากปีก่อน เป็นการขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หากเทียบปีต่อปี เพราะแรงงานส่วนใหญ่เข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้ง่าย ประกอบกับสินค้าต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า มีการจัดทำโปรโมชันพิเศษจูงใจ
“ผลของการเป็นหนี้ ทำให้ครัวเรือนของแรงงานไทยต้องผ่อนชำระเฉลี่ยเดือนละ 7,200 บาท จากที่ส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 10,000-15,000 บาท ผู้ที่เป็นหนี้ในระบบจะจ่ายเฉลี่ยเดือนละ 7,138 บาท และหนี้นอกระบบ 4,028 บาท และส่วนใหญ่มีปัญหาการชำระหนี้ และแก้ปัญหาด้วยการกู้เงินจากแหล่งอื่นมาหมุนไปก่อน ส่วนบางรายยอมผิดนัดชำระหนี้ หรือชำระหนี้ช้าบ้างก่อนที่เงินเดือนจะออก แต่ส่วนใหญ่สามารถหาวิธีการชำระหนี้ได้”
ทั้งนี้ แรงงานที่ตอบส่วนใหญ่ 36.8% บอกว่ากู้เงินเพื่อใช้จ่ายทั่วไปมากที่สุด อีก 19% บอกว่า กู้เพื่อซื้อทรัพย์ เช่น รถยนต์ จักรยานยนต์, ส่วน 15.7% กู้เป็นค่ารักษาพยาบาล, 13.7% กู้ซื้อบ้าน, 8.3% นำไปลงทุน ซึ่งแม้ว่าหนี้จะพุ่งขึ้น แต่ก็พบว่า สถานการณ์ยังไม่อยู่ในขั้นวิกฤติ เพราะแรงงานยังมีศักยภาพชำระหนี้อยู่ แต่อาจผิดนัดบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติทั่วไป สำหรับกิจกรรมในวันแรงงาน คาดว่าจะมีการใช้จ่ายในช่วงวันหยุดแรงงาน 2,164 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะทำกิจกรรมท่องเที่ยวตามสถานที่จัดงานแรงงาน ดูหนัง สังสรรค์และไปซื้อของ ไม่ถือว่าคึกคักมากนัก เพราะแรงงานยังกังวลสถานการณ์ของเศรษฐกิจอยู่ โดยสิ่งที่แรงงานต้องการให้รัฐบาลดูแลคือ ค่าครองชีพ การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ การดูแลเรื่องฝีมือแรงงาน เป็นต้น.