ประมงไทยดิ้นสู้ฟัด ตัดวงจรบ่วงนายทุน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ประมงไทยดิ้นสู้ฟัด ตัดวงจรบ่วงนายทุน

Date Time: 20 ธ.ค. 2561 05:01 น.

Summary

  • สถานการณ์เลวร้ายเรือประมงไทย ขาดทุน สิ้นเนื้อประดาตัว...นับตั้งแต่ปี 2558 เรื่อยมาจนถึงวันนี้ อย่าได้ถามว่าแค่ประมงปัตตานีเท่านั้นหรือที่เจ๊งสนิท เอาว่า...ในประเทศทั้งอันดามั

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

สถานการณ์เลวร้ายเรือประมงไทย ขาดทุน สิ้นเนื้อประดาตัว...นับตั้งแต่ปี 2558 เรื่อยมาจนถึงวันนี้ อย่าได้ถามว่าแค่ประมงปัตตานีเท่านั้นหรือที่เจ๊งสนิท เอาว่า...ในประเทศทั้งอันดามัน ทั้งอ่าวไทย...เรือไทยที่ทำมาดั้งเดิมคิดว่าเหลือออกทะเลหาปลากันไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว

ส่วนหนึ่ง...รัฐบีบให้เลือกเดิน หากอยู่ในเมืองไทยไม่ได้ก็ต้องออกไปหาปลาน่านน้ำต่างประเทศเป็นเรือเทศ มาเลเซีย กัมพูชา พม่า ส่วนที่สอง...ทำไม่ได้ ไม่ถูกต้องก็ต้องจอด ส่วนที่สาม...หมดทุน ทุกสิ่งทุกอย่างก็จอด

และสี่...คุณไม่มีแรงงานก็จอด ทุกๆสิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลโดยตรงให้เรือประมงไทยลดลงไปเรื่อยๆ ที่อยู่ได้ก็เหมือนฝืนทนอยู่ เพื่อให้ดำรงชีวิตเลี้ยงลูก เลี้ยงครอบครัว พยายามประคองอาชีพให้มีรายได้พออยู่ได้

ถ้าชาวประมงแท้ๆไม่ทำอย่างอื่น พวกเขามีอาชีพเดียวเท่านั้น

ถ้ายังมีเรืออยู่ ถ้าได้ออกทะเล จับหาปลามาได้ก็ยังพออยู่ได้ แต่มีเรืออยู่แล้วไม่ออก หนี้สินที่มีก็ไม่มีปัญญาที่จะใช้ หนี้ก็เพิ่มอีก...ไม่มีเงินเข้า มีแต่เงินออก ฉะนั้นได้ทู่ซี้ออกเรือไปจับปลาย่อมดีกว่าอยู่เฉยๆ

เฝ้าจับตา...อนุสัญญา C188 ที่ทางรัฐบาลผู้เกี่ยวข้องออกมาบอกว่า ทางเขาประชุมกับพวกเราและเราก็รับฟังแล้ว รู้เรื่องแล้ว 6 ครั้ง ใน 6 จังหวัด ความจริงด้านฝั่งชาวประมงมีว่า...พวกเราบอกเลยว่าไม่รับ ขอค้าน ลายเซ็นยืนยันคือการเข้าร่วมรับฟัง ยื่นข้อเสนอ หากแต่ไม่ได้เซ็นไปเพื่อยอมรับอนุสัญญา C188

กลุ่มตัวแทนเรือประมงจังหวัดปัตตานีย้ำว่า...เราไม่ยอมรับ อนุสัญญา C188 อย่างเหตุการณ์...ที่กระทรวงแรงงานมีคนไปล้มเวทีเขา แล้วก็เดินออกจากห้องประชุมกันหมด

“คนไทย” ต้องเห็นใจคนไทยด้วยกัน เห็นแก่อนาคตประเทศชาติ อย่าให้อะไรมาบังตาได้ ความจริงก็คือความจริง และถ้าความจริงในวันนี้อาจจะไม่จริงในอีก 5 ปี...10 ปีข้างหน้า แต่ถ้าเลือกข้างให้คนไทยเราได้มีทางเดิน มีที่ยืนหยัดได้ด้วยลำแข้งของตนเองจะไม่ดีกว่าหรือ

“คนไทยต้องดูแลคนไทยด้วยกันก่อน บางคนยังไม่ได้รับการดูแลดีเท่าคนต่างด้าวที่ได้สิทธิคุ้มครองตามข้อบังคับแรงงานประมงอย่างนี้เลยด้วยซ้ำไป”

“อนุสัญญา C188 คุ้มครองใคร? ไม่ได้คุ้มครองคนไทย ขอเสริมว่าทำไมพวกเราจึงขึ้นมาเรียกร้องถึงกรุงเทพฯก็เพราะว่าเราไม่เชื่อใจการทำงานของภาครัฐ ด้วยเหตุว่ามีการประชุมมาหลายครั้งแล้วเราก็มีมติของสมาคมฯ ซึ่งประชุมร่วมกันกับสมาชิกสมาคมท้องถิ่น 22 จังหวัด”

และ...มีมติร่วมกันว่าคัดค้าน “อนุสัญญา C188” คัดค้านเป็นมติว่าไม่รับ

แต่...อยู่ๆมา สนช.รับร่างนี้แล้วก็ออกมาบอกว่า ได้ผ่านความเห็นชอบของชาวประมง...“เห็นด้วย” สวนทางกับการดำเนินการที่ผ่านมาทั้งหมดที่เรายืนยันหนักแน่นว่า “ไม่เห็นด้วย” ฉะนั้นเราจึงไม่ยอมรับในข้อบังคับที่ประกาศออกมา เป็นการหักหลัง...สวนทางมติคัดค้านชัดเจน

ถ้าหากรับก็จะมีการเคลื่อนไหวของชาวประมง...

ประมงไทยจะสูญพันธุ์ ใคร? ได้ประโยชน์ คือ “การนำเข้า”

ทุกวันนี้มาตรา 90 มาตรา 92 ห้ามนำเข้าสัตว์น้ำที่มิชอบด้วยกฎหมาย ห้ามอยู่แล้วแต่เหตุไฉนจึงนำเข้ามาได้ คำว่า “มิชอบด้วยกฎหมาย” ก็คือการทำประมงขาดการรายงาน ไร้การควบคุมแหล่งที่มาของสัตว์น้ำก็ไม่รู้ แต่ทำไม? เอาเข้ามาได้

เทียบเคียงกับสถานการณ์เรือประมงทุกวันนี้...จับปลาได้น้อย เรืออยู่น้อยลำ แต่ก็นำเข้าเพิ่มเติม ฉะนั้น...สัตว์น้ำล้นตลาดประเทศไทย ปลาพม่า ปลากัมพูชา ปลาอินโดนีเซียบุกเข้ามาในบ้านเราปริมาณเพียงพอไม่ได้ขาดแคลน ผู้บริโภคก็ไม่ได้เดือดร้อน

ต้นทุนตลาดนำเข้า...แรงงานต่ำ ค่าแรงคนงานในเรือประมงอยู่ที่ 320 บาทแรงงานพม่า กัมพูชาบนฝั่งอาจจะน้อยกว่านี้ ต้นทุนถูกก็ขายได้ราคาถูก...ปลาจะละเม็ดเรือหาปลามาได้ขายกิโลกรัมละ 150 บาทไซส์ใหญ่ (2 ตัว 1 กิโลกรัมหรือตัวละ 7–8 ขีด) ทุกวันนี้เหลือ 60 บาทเท่านั้น

“นำเข้าสัตว์น้ำที่ไม่มีแหล่งที่มา...เป็นการนำเข้ามาโดยมิชอบ คือว่าเรือประมงไทยที่นำสัตว์น้ำเข้ามาขาย จับได้...เราจะมีซีบุ๊ก มีล็อกบุ๊ก ซึ่งมีที่มาแหล่งจับสัตว์น้ำชัดเจน แต่...การนำเข้าสัตว์น้ำของภาคอุตสาหกรรมไม่มีที่มา แต่ทำไมนำเข้ามาได้...เขาใช้อำนาจอะไรในการนำสัตว์น้ำที่ไม่มีแหล่งที่มาเข้ามาในราชอาณาจักร”

ในตลาดดูเหมือนสัตว์น้ำไม่ได้ขาดทั้งที่เรือประมงไทยจับสัตว์น้ำได้น้อยลงก็เพราะมีปริมาณนำเข้าป้อนเข้ามาเสริมจากภาคอุตสาหกรรมนั่นเอง...ผู้ที่มีอำนาจโปรดได้ไปหยิบข้อมูลมาดูที ทำได้อย่างไร...ที่น่าหดหู่ใจ นำเข้ามาแบบภาษี 0 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย

ราวๆ 6 เดือนที่แล้ว สถานการณ์ลักษณะนี้คล้ายๆแบบเดียวกับการนำเข้ากุ้ง แล้วชาวนากุ้งออกมาประท้วง รัฐบาลบอกว่ากุ้งนำเข้าราคาถูก กุ้งไทยราคาแพง แล้วก็ต่อสู้กันในเรื่องของการนำเข้าถึงจะถูกแต่ก็นำโรคเข้ามาด้วย ไม่มีการตรวจสอบ รัฐบาลจึงต้องยอมรับไม่ให้นำเข้ากุ้ง

ขณะที่ชาวประมงต้องสูญเสียอิสรภาพไปเลย เสมือนไม้ซีกงัดไม้ซุงกับกลุ่มนายทุนกลุ่มใหญ่เฉพาะกลุ่มที่ทำธุรกิจส่งออกไปต่างประเทศในภาพรวมประมงทั้งหมด...ทำอย่างไรก็ได้ให้ลดจากร้อยเหลือ 10-20 จากนั้นก็เป็นผลประโยชน์ที่ “นำเข้า” จากต่างประเทศมาเพื่อ “ผลิต” และก็ “ส่งออก” ต่อไป

“ไม่แน่ว่าอาจจะมีใครได้ค่าคอมฯค่าหัวกิโลฯ ตกลงกับต่างประเทศ กุ้งเลี้ยง ปลาเลี้ยง ทูน่า...พวกเราเรือประมงพาณิชย์ต้องรับเคราะห์เป็นตราบาป

ในช่วงเวลาที่ คสช.เข้ามาบริหารบ้านเมืองมีการแก้ปัญหาปลดล็อกใบเหลืองประมงไทย เล่าลือกันไปทั่วว่าตัวแทนที่เป็นหัวหน้าเราแต่ไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อเรา...พวกกลุ่มชาวประมงเลย นับตั้งแต่ปี 2558 จุดเริ่มปัญหามาถึง 2561 ถือว่าเราอดทนมาก...เพราะกฎระเบียบที่เคร่งครัดรัดกุมจนแน่นขยับไม่ได้”

“เราก็หวังกันว่าทำตามเรียบร้อยแล้วก็คงได้ออกเรือไปหาปลาหารายได้ ตาม 12 รายการทำเรียบร้อยแล้ว แต่พออยู่มาอีกอาทิตย์สองอาทิตย์ก็ขยับเพิ่มเป็น 15 รายการ แล้วก็ออกมาเป็น 20...30 รายการออกมาเรื่อยๆ”

พ.ร.ก.ประมง พ.ศ.2558 มีนัยว่าทุกหน่วยงานต้องฟังกรมประมงเป็นใหญ่ รวมหน่วยงานอื่นๆก็ต่างคนต่างออกเลยรุมเร้า ตอนนี้อาจจะกว่า 300 ข้อเข้าไปแล้วที่ต้องทำ ต้องปฏิบัติตาม

กฎหมายมีแล้วก็ยังแถมด้วยประกาศต่างๆซึ่งไม่ได้หยุดนิ่ง บางครั้งบอกว่าเรือขนาด 10 ตันกรอสขึ้นไปเป็นเรือประมงพาณิชย์ อยู่มาวันดีคืนดีก็บอกว่าไม่จำกัดตันกรอส แต่จำกัด 7 เครื่องมือ จะต้องเป็นประมงพาณิชย์โดยปริยาย เช่น อวนลาก ครอบช้อนยกปลากะตัก อวนล้อม เรือปั่นไฟ เรือคราด

ถามว่าชาวบ้านที่ทำเรืออยู่เมื่อก่อนประกาศไว้แบบนั้น ทำไมทุกวันนี้มาเปลี่ยน แล้วถ้าเรือพวกนี้ที่ชาวบ้านไม่รู้เลยว่าจะต้องวัดให้เป็นเรือประมงพาณิชย์ไปโดยปริยาย ก็ถูกล็อกเรือไม่ให้ทำการประมง ตกสำรวจ

กฎออกมามาก ทำไมชาวประมงเป็นหนี้?...ในเมื่อบอกว่า 12 ข้อ ก็พยายามทำเพื่อออกทำมาหากิน อย่างที่เกริ่นกล่าวไว้ในช่วงแรก...ชาวประมงจะมีอาชีพเดียวคือทำประมง จะไม่มีไร่ นา สวนยาง สวนปาล์ม

“พวกเราเป็นชาวประมงตัวจริง...เราอดทนมามาก พร้อมสู้ไม่หนี แต่ภาครัฐอย่างน้อยต้องมีช่องให้เราเดินได้” สุ้มเสียงยืนยันแน่นหนักจากกลุ่มตัวแทนเรือประมงจังหวัดปัตตานี.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ