“อาคม” สั่งขยายบัตรแมงมุมครอบคลุมถึงเรือด่วน-มอเตอร์เวย์-ทางด่วน เร่งให้ใช้ได้ภายใน 1 ปี พร้อมผุดเฟส 2 ร่วมกับแบงก์พาณิชย์เปิดบัตรระบบอีเอ็มวี จ่ายค่าโดยสารผ่านบัตรเครดิต
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดตัวบัตรโดยสารร่วม หรือ “บัตรแมงมุม” ภายใต้แนวคิด “แมงมุม เชื่อมโยงความสุข ทุกการเดินทาง ด้วยบัตรใบเดียว” ว่า ได้สั่งการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เร่งขยายการใช้บัตรโดยสารร่วมหรือบัตรแมงมุมไปยังโครงข่ายคมนาคมระบบอื่นๆด้วย โดยเตรียมที่จะเจรจากับผู้ประกอบการเรือโดยสาร ได้แก่ เรือด่วนเจ้าพระยา และเรือคลองแสนแสบให้เข้าร่วมด้วย รวมไปถึงการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการบัตรอีซี่พาสใช้ชำระค่าทางด่วนในกรุงเทพมหานคร, กรมทางหลวง (ทล.) ผู้ให้บริการบัตรเอ็มพาสใช้ชำระค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ และการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งในอนาคตจะเปิดเดินรถไฟฟ้าชาน เมืองสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต และรถไฟธรรมดา
“อีซี่พาสและเอ็มพาสนั้นจะเร่งรัดดำเนินงาน แต่ต้องใช้เวลาในการติดตั้งระบบหัวอ่านบัตรแมงมุม โดยจะพยายามเร่งรัดให้ใช้ได้ภายในปีนี้ ส่วนเรือด่วนเจ้าพระยาคาดว่าจะเข้าร่วมได้เร็วเพราะ ว่าปัจจุบันมีการพัฒนาท่าเรือให้เป็นระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์แล้ว”
ขณะที่วานนี้ (22 มิ.ย.) เป็นวันแรกที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิด ให้ประชาชนทั่วไปเข้ารับบัตรแมงมุม ณ สถานีรถไฟฟ้า เตาปูน เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร และตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.เป็นต้นไป ประชาชนจะสามารถนำ บัตรแมงมุมไปใช้สำหรับการเดินทางรถไฟฟ้าสาย สีม่วงและน้ำเงิน และในเดือน ต.ค.2561 จะสามารถใช้ได้กับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และรถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นำร่องจำนวน 2,600 คัน
ส่วนการพัฒนาบัตรโดยสารร่วมในระยะที่ 2 ต่อจากบัตรแมงมุม โดยนำระบบอีเอ็มวี (Euro/ Master Card และ Visa) หรือบัตรเครดิตมาใช้นั้น จะมีการเชื่อมระบบบัตรแมงมุมไปยังบัตรอื่นๆอีกหลายประเภท เช่น บัตรเครดิต บัตรเดบิต รวมไปถึงในโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการระบบขนส่งมวลชน ซึ่งเป็นระบบอีเอ็มวี คาดว่าใช้เวลาในการพัฒนาและเปิดบริการภายในอีก 10-12 เดือน
ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวต่อถึงความคืบหน้าในการเจรจาให้บีทีเอส ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้เดินรถสายสีเขียวระยะแรก ช่วง หมอชิต-แบริ่ง และสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า เข้าร่วมในระบบบัตรแมงมุมว่า ปัจจุบันบีทีเอสมีบัตรโดยสารของตัวเองคือ บัตรแรบบิทอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้ได้สั่งให้ รฟม.เร่งเจรจาให้บีทีเอสเข้าร่วมกับระบบบัตรแมงมุมด้วย เพื่อให้ประชาชนเดินทางสะดวกมากขึ้นโดยบัตรโดยสารเพียงใบเดียว อย่างไร ก็ตาม ในอนาคต รฟม.จะต้องโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายคือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และสำโรง-สมุทรปราการ ให้กรุงเทพมหานคร ซึ่งจ้างบีทีเอสเดินรถสายสีเขียวส่วนแรกในปัจจุบัน จึงได้สั่งการให้ รฟม.ไปศึกษาเพิ่มเติม โดยอาจจะต้องกำหนดเป็นเงื่อนไขให้บีทีเอสต้องเข้าร่วมระบบ บัตรแมงมุมด้วย หาก กทม.จะรับโอนสายสีเขียว ส่วนต่อขยายจาก รฟม.ไปบริหาร คาดว่าจะได้ข้อสรุปผลการศึกษาเร็วๆนี้
ขณะที่นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รฟม.จะแจกบัตรแมงมุมให้แก่ประชาชนทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ บัตรบุคคลทั่วไป (สีน้ำเงิน) บัตรผู้สูงอายุ (สีทอง) และบัตรนักเรียน/ นักศึกษา (สีเงิน) ซึ่งสามารถติดต่อขอรับได้ที่รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงทุกสถานี โดยบัตรบุคคลทั่วไปรับได้ตั้งแต่วันที่ 23-29 มิ.ย.2561 และ 2-5 ก.ค.2561 จำนวน 16,000 ใบ/วัน สถานีละ 1,000 ใบ/วัน สำหรับบัตรนักเรียน/นักศึกษาและ บัตรผู้สูงอายุ รับได้ในวันที่ 30 มิ.ย. และ 1 ก.ค.2561 ประเภทละ 5,000 ใบ/วัน สถานีละ 312 ใบ/ ประเภท/วัน
นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้บริหาร รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดเผยถึงผลการเปิดประมูลโครงการติดตั้งซอฟต์แวร์และหัวอ่านบัตรโดยสารร่วม (บัตรแมงมุม) ด้วยวิธีคัดเลือก กรอบวงเงิน 140 ล้านบาท ว่า คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างได้ตัวผู้ชนะการประมูลแล้วคือ บริษัท สมาร์ทเทคโนโลยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนจากประเทศจีน ซึ่งเสนอราคาต่ำที่สุด ที่ 105 ล้านบาท.