นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า ผลสำรวจพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนไทยที่มีอายุระหว่าง 8 ถึง 12 ปี จำนวน 1,300 คนทั่วประเทศ ผ่านแบบสำรวจออนไลน์ DQ Screen Time Test ซึ่งเป็นชุดเดียวกันกับเด็กประเทศอื่นๆ รวมกลุ่มตัวอย่างทั่วโลกทั้งสิ้น 37,967 คน โดย WEF Global press release ได้เผยแพร่งานวิจัยระดับโลกในเรื่องพลเมืองดิจิทัลของโลกนี้ พบว่าเด็กไทยมีโอกาสเสี่ยงภัยจากออนไลน์ถึง 60% ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 56% และเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านพบว่าฟิลิปปินส์ 73% อินโดนีเซีย 71% เวียดนาม 68% และสิงคโปร์ 54% ซึ่งจากรายงานดังกล่าวพบว่าเด็กไทยใช้เวลากับหน้าจอท่องอินเตอร์เน็ต 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 3 ชั่วโมง โดยเข้าอินเตอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนสูงสุด 73%
นายณัฐพล กล่าวว่า ภัยออนไลน์หรือปัญหาจากการใช้ชีวิตดิจิทัลของเด็กไทยที่พบมากที่สุดมี 4 ประเภท คือ 1.กลั่นแกล้งทางออนไลน์ ทั้งด่ากันด้วยข้อความหยาบคาย ตัดต่อภาพ 49%, 2.เข้าถึงสื่อลามกและพูดคุยเรื่องเพศกับคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ 19%, 3.ติดเกม 12% และ 4.ถูกล่อลวงออกไปพบคนแปลกหน้า 7% ขณะที่กิจกรรมที่เด็กไทยนิยมใช้เมื่อเข้าอินเตอร์เน็ตมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ ดูวีดิโอออนไลน์ 73%, ค้นหาข้อมูล 58%, ฟังเพลง 56%, เล่นเกม 52% และการรับส่งอีเมลหรือแชตข้อความผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ 42% นอกจากนี้ พบว่าเด็กไทยใช้โซเชียลมีเดีย ถึง 98% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 12% และในจำนวนนี้ใช้งานสม่ำเสมอมากถึง 50% เช่น โพสต์รูป โพสต์คอมเมนต์ ซื้อหรือขายของออนไลน์ สำหรับโซเชียลมีเดียที่เด็กไทยนิยมใช้มากที่สุด ได้แก่ ยูทูบ 77%, เฟซบุ๊ก 76%, ไลน์ 61%, อินสตาแกรม 24%, ทวิตเตอร์ 12% และสแนปแซต 4%.