ทุกวันนี้ระบบส่งกำลังอัตโนมัติมีการทำงานที่ก้าวล้ำไปไกลมาก การเปลี่ยนเกียร์ ขึ้น-ลง ภายในระบบส่งกำลัง กลายเป็นเรื่องที่สามารถจัดการได้ด้วยโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย นอกจากนี้ อัตราทดเกียร์ที่หลากหลายยังช่วยให้เครื่องยนต์อยู่ในช่วงที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ที่ความเร็วแตกต่างกัน ซึ่งจำเป็นต้องมีวิธีใดวิธีหนึ่ง ในการปลดการเชื่อมต่อเครื่องยนต์ออกจากระบบเกียร์เมื่อรถจอดอยู่ เกียร์อัตโนมัติทำงานโดยแทบไม่มีการจัดการของคนขับเลย นอกจากการปรับโหมดขับเคลื่อน คนขับเลื่อนคันเกียร์เพื่อเชนเกียร์ หรือใช้แป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift ลดหรือเพิ่มเกียร์บนเส้นทางภูเขา การขับแบบเปลี่ยนเกียร์ด้วยตนเองบนเส้นทางปกติ โดยเฉพาะทางราบ ไม่ใช่เส้นทางขึ้น-ลงเขา ก็แทบจะไม่มีความจำเป็น เนื่องจากซอฟต์แวร์ที่ควบคุมการทำงานของเกียร์จะเข้ามารับหน้าที่ทั้งหมดและทำการปรับอัตราทดให้สมดุลกับความเร็วและการใช้คันเร่ง มีข้อสงสัยว่า ในการใช้งานปกติทุกวัน เมื่อเลื่อนคันเกียร์จาก P ไป R หรือ D บ่อยครั้ง ทำให้เกียร์พังเร็วจริงหรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่จริงครับ 

เลื่อนคันเกียร์บ่อยๆ เกียร์พังจริงหรือไม่

...

ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า เลื่อนคันเกียร์บ่อยๆ จะทำให้เกียร์สึกหรอนั้นไม่จริงเสมอไป เนื่องจากกลไกในการเลื่อนคันเกียร์ จากตำแหน่งหนึ่ง ไปยังอีกตำแหน่งหนึ่งนั้น ถูกออกแบบให้สามารถใช้งานได้ยาวนานหลายปี บางคันอายุกว่า 20 ปี เกียร์ออโต้ที่เลื่อนไปมาเพราะใช้งานเป็นประจำทุกวันก็ยังไม่พัง อาจมีอาการหลวมบ้าง แต่ถ้าขับใช้งานถูกต้อง ไม่เร่งแซงบ่อยครั้ง ไม่เปลี่ยนเกียร์ขึ้นลงเล่นๆ เปลี่ยนน้ำมันเกียร์ตามระยะการใช้งานท่ีสี่หมื่นกิโลเมตร เกียร์ก็อยู่รับใช้จนเครื่องพังไปแล้วเกียร์อัตโนมัติก็ยังไม่ได้พังตาม

เลื่อนคันเกียร์บ่อยๆ เกียร์พังจริงหรือไม่

การขับในลักษณะที่ไม่ถูกต้องต่อการใช้งานเกียร์อัตโนมัติ อาจทำให้เกียร์สึกหรอเร็วกว่าปกติ เช่น เมื่อขับบนทางราบก็ยังเปลี่ยนเกียร์เองไปมาบ่อยครั้งด้วยความสนุก น้ำมันหล่อลื่นเกียร์ไม่เคยเปลี่ยน ขับรถกระชากกระชั้น ออกตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรง เลื่อนคันเกียร์จาก R ไปที่ D หรือจาก D ไปที่ R ในขณะที่รถกำลังเคลื่อนตัว แบบนั้นจะทำให้เกียร์สึกหรอเร็วกว่า การเลื่อนคันเกียร์จากตำแหน่งจอด P ไปที่เกียร์ถอย R หรือเกียร์เดินหน้า D เมื่อรถหยุดนิ่งอยู่กับที่ก็เลื่อนได้เลยไม่ต้องกลัวพัง แค่สังเกตการณ์รอบๆ รถก่อนว่าไม่มีเด็กเล็กหรือหมาแมวอยู่แถวๆ แนวที่จะทำการเคลื่อนตัว 

เลื่อนคันเกียร์บ่อยๆ เกียร์พังจริงหรือไม่

คาเกียร์ D เอาไว้นานๆ แล้วเหยียบเบรกขณะรอสัญญาณไฟ ในขณะที่รถติดสาหัส จะทำให้เกียร์ร้อนขึ้นโดยไม่มีความจำเป็น ความร้อนที่สะสมเป็นเวลานานจะทำให้เกียร์สึกหรอ อายุการใช้งานหดสั้นลง นอกจากนั้นยังอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากความพลั้งเผลอหลงเกียร์ได้ง่าย ควรใส่เกียร์ว่างหรือเกียร์ N แล้วดึงเบรกมือหรือกดใช้งานเบรกมือไฟฟ้า เพื่อป้องกันรถไหล ได้พักขาไปในตัว ลดอุณหภูมิการทำงานของเกียร์ขณะรถติดหนักในวันที่อากาศภายนอกร้อนจัดอีกด้วย

เลื่อนคันเกียร์บ่อยๆ เกียร์พังจริงหรือไม่

...

เมื่อจะทำการสตาร์ตที่ตำแหน่งเกียร์ P ก่อนเหยียบเบรกแล้วกดปุ่มสตาร์ต หรือบิดกุญแจเพื่อสตาร์ต ควรตรวจการณ์รอบๆ รถว่ามีเด็กเล็กหรือหมาแมวอยู่ใกล้กับรถหรือไม่ รถเก่าดูให้แน่ใจว่าเท้าเหยียบเบรกไม่ใช่คันเร่ง ก่อนที่จะย้ายคันเกียร์มายังตำแหน่ง R หรือ D ค่อยๆ คลายน้ำหนักเท้าออกจากแป้นเบรก อัตราทดเกียร์ออกตัวของเกียร์อัตโนมัตินั้นปรับมาให้ตอบสนองอย่างรวดเร็วว่องไวเป็นพิเศษ ไม่ควรใช้คันเร่งมากเกินไปในขณะออกตัวเพื่อถอยหรือเดินหน้า หากมีรถอยู่ข้างหน้าและอยู่ในระยะที่ไม่ไกลนัก แรงออกตัวของเกียร์ 1 จะทำให้คุณเบรกไม่ทัน อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ อย่าลืมเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ทุกๆ 40,000 กิโลเมตร และเปลี่ยนกรองเกียร์เมื่อวิ่งครบ 80,000 กิโลเมตร. 

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/