เมื่อต้องใช้รถใช้ถนน สัญญาณต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สัญญาณเสียงแตร ไฟเลี้ยว ไฟสูง ไฟถอย ไฟเบรก ไฟฉุกเฉิน หรือสัญญาณมือ ล้วนแล้วแต่มีความจำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิด การมองไม่เห็น ที่อาจกลายมาเป็นอุบัติเหตุรุนแรง การให้สัญญาณเมื่อขับรถยนต์ถือเป็นหัวใจลำดับต้นๆ ในด้านความปลอดภัย

จะเปลี่ยนช่องทาง ทำไมไม่เปิดไฟเลี้ยวล่ะครับ?

การแจ้งเตือนรถร่วมทาง หรือบอกความตั้งใจให้กับผู้ใช้รถรอบๆ ตัวคุณล่วงหน้า เป็นการสื่อความหมายให้รถยนต์คันอื่นทราบว่าคุณกำลังจะทำอะไร จะไปทางไหน สัญญาณไฟเลี้ยวล่วงหน้าที่ใช้ต้องชัดเจนตรงกับความคิดและการกระทำที่จะเกิดขึ้นต่อไป หากสัญญาณที่ให้ไม่ถูกต้องหรือคลุมเครือไม่ชัดเจน หรือไม่เปิดไฟเลี้ยวเพื่อให้สัญญาณก่อนที่จะเลี้ยวหรือเปลี่ยนช่องทาง สิ่งที่จะตามมาก็คือการแปลสัญญาณผิด คนที่ขับโดยไม่ใส่ใจต่อการให้สัญญาณล่วงหน้า อาจเกิดอันตรายและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่มีทั้งเล็กน้อยและรุนแรงถึงชีวิต ลืมเปิดไฟเลี้ยว หรือเลี้ยวกะทันหันโดยไม่เปิดไฟสัญญาณ หรือไม่สนใจต่อรถรอบข้าง เป็นการขับที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรืออาจสร้างความขุ่นเคืองให้กับผู้ที่ขับตามหลัง เมื่อยกไฟเลี้ยวไปแล้วล่วงหน้า ก่อนที่จะเปลี่ยนช่องทาง ก็มักจะมีคนขับรถที่ไม่สนใจในสัญญาณไฟเลี้ยวอีกเหมือนกัน อาจพุ่งเข้ามาปิดช่องทางที่คุณจะเลี้ยว หากเป็นแบบนั้นก็ต้องปรับให้อารมณ์ที่ขุ่นเคืองเมื่อเจอกับรถที่ไม่ให้ทาง เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ หรือการทะเลาะเบาะแว้งบนท้องถนนที่เกิดขึ้นเป็นประจำแทบจะทุกครั้งที่คุณยกสัญญาณไฟเพื่อแจ้งเตือนถึงการจะเปลี่ยนช่องทาง

...

จะเปลี่ยนช่องทาง ทำไมไม่เปิดไฟเลี้ยวล่ะครับ?

สัญญาณไฟสูง หรือสัญญาณเสียงแตร ควรคิดก่อนจะใช้สัญญาณนั้น ว่าเหมาะสมหรือไม่ และมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สัญญาณนั้นๆ หรือไม่ การใช้สัญญาณเสียงแตรพร่ำเพรื่ออาจทำให้รถยนต์คันอื่นที่ขับตามมาเกิดอารมณ์ หรือสัญญาณไฟฉุกเฉินที่อาจสร้างความสับสนบริเวณทางแยก ควรให้สัญญาณก่อนการเปลี่ยนช่องทางหรือจะเลี้ยวทุกครั้ง เช่น การยกไฟเลี้ยวเพื่อขอเปลี่ยนเลน เป็นสัญญาณปกติที่ผู้ขับรถยนต์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักจะละเลย สัญญาณที่คุณใช้ ไม่ได้หมายความว่าเมื่อใช้สัญญาณต่างๆ แล้วคุณจะมีสิทธิพิเศษบนถนน ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อเกินความจำเป็น และต้องสังเกตการณ์รอบๆ ตัวก่อนที่จะใช้สัญญาณต่างๆ และควรยกเลิกสัญญาณทันทีที่ใช้เสร็จแล้ว

จะเปลี่ยนช่องทาง ทำไมไม่เปิดไฟเลี้ยวล่ะครับ?

ประเภทของสัญญาณในรถยนต์ของคุณ
-สัญญาณมือ
-สัญญาณไฟเลี้ยวเปลี่ยนทิศทาง
-สัญญาณเสียงแตร
-สัญญาณไฟฉุกเฉิน
-สัญญาณไฟเบรก
-สัญญาณไฟสูง
-สัญญาณของการขอบคุณเมื่อรถคันอื่นให้ทาง ซึ่งเป็นมารยาทในการขับรถที่ถูกละเลย

จะเปลี่ยนช่องทาง ทำไมไม่เปิดไฟเลี้ยวล่ะครับ?
จะเปลี่ยนช่องทาง ทำไมไม่เปิดไฟเลี้ยวล่ะครับ?

สัญญาณไฟเลี้ยว
ทุกวันนี้ ไฟเลี้ยวกลายเป็นสัญญาณที่ถูกละเลย หรือลืมมากที่สุด หรือไม่ได้ลืม แต่จงใจจะไม่เปิด เพราะคิดว่าถ้าเปิดไฟเลี้ยวขอเข้า หรือขอเปลี่ยนช่องทาง จะไม่ได้รับการตอบสนองจากรถรอบข้าง ซึ่งถือเป็นความคิดที่ผิด สัญญาณไฟเลี้ยว กลายเป็นสัญญาณที่ถูกละเลยและทำให้เกิดอุบัติเหตุ

...

จะเปลี่ยนช่องทาง ทำไมไม่เปิดไฟเลี้ยวล่ะครับ?

บ่อยครั้งเมื่อรถที่จะเปลี่ยนช่องทางแต่ดันไม่เปิดสัญญาณ ส่วนใหญ่เกิดจากการขาดความใส่ใจระลึกรู้ในกฎจราจร การเปลี่ยนช่องทางที่ถูกต้องควรใช้สัญญาณไฟเลี้ยวล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 50 เมตร มองให้ดีๆ ก่อนที่จะเปลี่ยนช่องทาง ไม่ใช่ยกไฟเลี้ยวปุ๊บก็หักพวงมาลัยเลี้ยวทันที

สัญญาณไฟเลี้ยวซ้ายควรใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพราะมีทั้งเลี้ยวเปลี่ยนช่องทางมาทางซ้าย หรือเลี้ยวซ้ายเข้าซอย รวมถึงสัญญาณเลี้ยวซ้ายเพื่อจอดรถชิดขอบทาง ระวังการใช้สัญญาณไฟเลี้ยวซ้ายบริเวณทางแยกทางร่วม การวางตำแหน่งของรถที่ชัดเจนและการใช้ความเร็วที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนช่องทางร่วมกับสัญญาณไฟเลี้ยวจะช่วยทำให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ควรให้สัญญาณไฟเลี้ยวล่วงหน้าก่อน 3-5 วินาที ก่อนที่จะเริ่มเปลี่ยนช่องทางเมื่อเห็นว่าไม่ไปรบกวนรถที่ตามมาด้านหลัง การเปิดสัญญาณไฟเลี้ยวค้างไว้นานเกินไปจะสร้างความสับสนให้กับรถคันอื่นที่แล่นอยู่ด้านข้างและด้านหลัง

จะเปลี่ยนช่องทาง ทำไมไม่เปิดไฟเลี้ยวล่ะครับ?

...

สัญญาณเสียงแตร
ปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า สภาพอากาศ และสภาพการจราจรในเมือง เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความโกรธเมื่อมีการใช้สัญญาณแตร ใช้แตรเพื่อเตือน กลายเป็นเหตุทะเลาะวิวาทมามากต่อมาก แตรคือต่อยค่อยๆ บีบ! เสียงแตรในปัจจุบันท่ามกลางสภาพการจราจรในเมืองใหญ่กลายเป็นเสียงแห่งการกระตุ้นความโกรธแค้นสำหรับนักขับอารมณ์ร้อน

แทนที่จะคิดว่าเขาบีบเพื่อเตือน กลับกลายเป็นความโมโหจนเกิดเรื่อง เมื่อจะใช้แตรเตือนให้รู้ กดแตรแค่สั้นๆ ครั้งเดียว ไม่ต้องกดเบิ้ลหลายครั้ง หรือกดแช่ลากยาวแบบก่นด่าโดยใช้เสียงแตร การกดแตรลากยาว เปรียบเหมือนการด่า แทนที่จะเป็นการเตือนให้ระมัดระวัง

การใช้แตรกับคนเดินเท้าควรระวังมากเป็นพิเศษ ไม่จำเป็นก็ไม่ควรใช้แตร หรือบีบแตรสั้นๆ ครั้งเดียว เพื่อเตือนให้รู้ว่ามีรถอยู่ข้างหลัง หากคนที่เดินเท้าไม่ทันสังเกตว่ามีรถอยู่ด้านหลัง หรือคนที่กำลังจะข้ามถนน (ในเขตห้ามข้าม หรือจุดอันตรายมีรถใช้ความเร็วสูง)

ห้ามบีบแตรใส่คนที่กำลังข้ามทางม้าลายเด็ดขาด จริงๆ แล้วในเขตเมือง การใช้ความเร็วให้ถูกต้องและเหมาะสม เป็นความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด จะช่วยลดอุบัติเหตุในเขตเมือง ไม่ควรใช้ความเร็วอย่างเด็ดขาด และเป็นหน้าที่ของรถที่จะต้องระวังคนข้ามถนน โดยเฉพาะการข้ามบนทางม้าลาย

ในบางแง่มุมของกฎหมายจราจร เสียงแตรอนุญาตให้ใช้เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่เท่านั้น ห้ามใช้เสียงแตรระบายอารมณ์ขุ่นมัว โกรธ โมโห ไม่พอใจอย่างเด็ดขาด ควรเผื่อเวลาในการใช้สัญญาณเสียงแตร เช่นเตรียมหาช่องทางในการหลบหลีก หากมีคนกำลังจะข้ามถนนในเขตที่รถยนต์กำลังแล่นด้วยความเร็วสูง

สำหรับรถขับช้าแช่อยู่ขวา เมื่อกะพริบไฟสูงแล้วรถคันนั้นก็ยังไม่หลบไปที่ช่องทางด้านซ้าย แม้เลนซ้ายจะไม่มีรถอยู่ก็ตาม ยังคงแช่ยาวอยู่ในเลนรถเร็วเหมือนเดิม คุณเองก็ต้องทำใจให้นิ่งเข้าไว้ แล้วหาจังหวะแซงผ่านเอาเอง บางครั้งการบีบแตร หรือยกไฟสูง อาจสร้างความขุ่นเคืองให้กับคนที่ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว กำลังทำผิดกฎจราจรที่รถช้ากว่าต้องวิ่งชิดซ้าย ก็ควรจะหาจังหวะแซงที่ปลอดภัย ดีกว่ามาขับจี้ท้ายเพื่อกดดันให้หลบ ทำแบบนั้นบ่อยๆ ในย่านความเร็วสูงบนไฮเวย์มันอันตราย แถมยังไปกระตุ้นอารมณ์โกรธของคนที่ขับช้าแช่อยู่ขวาโดยไม่สนใจใยดีต่อรถที่ขับเร็วกว่า ในเมื่อกฎหมายยังคงอ่อนด้อยไม่สามารถเอาผิดกับคนที่ขับช้าคาอยู่เลนขวาได้ คุณก็ต้องหาทางไปเอาเอง และการแซงด้วยช่องทางด้านซ้ายนั้น ขัดกับความปลอดภัยในการใช้รถยนต์ แต่ถ้าไม่หลบแล้วต้องขับตามด้วยความเร็วต่ำอยู่แบบนั้น รถข้างหลังก็จะตามมาเป็นแพ เพราะมีรถขับช้าคาอยู่เลนขวาแค่คันเดียว เรียกว่าเดือดร้อนกันทั้งถนนเลยทีเดียว 

...

จะเปลี่ยนช่องทาง ทำไมไม่เปิดไฟเลี้ยวล่ะครับ?

สัญญาณไฟฉุกเฉิน หรือไฟขอทาง
สัญญาณฉุกเฉินที่เห็นกันจนชินตาในบ้านเราเกิดจากการใช้ตามความเข้าใจของตนเองเป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพแวดล้อมความเหมาะสมและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะขับผ่านสี่แยกที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจรก็ยังมีนักขับจำนวนไม่น้อยเปิดไฟขอทาง ไฟฉุกเฉิน หรือไฟผ่าหมาก แล้วแต่จะเรียกกันตามความถนัด ฝนตกอากาศปิดเพราะหมอกลงจัด หมอกควันจากไฟไหม้หญ้าข้างทาง ก็ยังมีคนเปิดไฟฉุกเฉิน โดยคิดว่าให้สังเกตเห็นง่ายไว้ก่อน

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากไฟฉุกเฉิน จึงเกิดขึ้นจากรถร่วมทางที่แปลสัญญาณความหมายของไฟฉุกเฉินที่คุณเปิดผิดเต็มๆ เช่น วิ่งเข้ามาที่สี่แยกจากมุมใดมุมหนึ่ง สัญญาณไฟฉุกเฉินที่ปรากฏในสายตาของรถคันอื่นอาจแปลความหมายว่าคุณกำลังจะเลี้ยว ทั้งๆ ที่จะตรงไป ไม่มีใครมารับประกันว่ารถยนต์ร่วมทางคันอื่นจะเห็นไฟของคุณหมดทุกด้าน

จะเปลี่ยนช่องทาง ทำไมไม่เปิดไฟเลี้ยวล่ะครับ?

กฎหมายจราจรกำหนดห้ามใช้ไฟฉุกเฉินขณะที่กำลังวิ่ง ในต่างประเทศก็เช่นกัน หากจะใช้ก็ให้ใช้เพียงแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น สัญญาณไฟฉุกเฉินใช้ในกรณีรถเสียแล้วไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ หรือเมื่อต้องจอดล้ำเส้นออกมาในผิวการจราจร สัญญาณไฟฉุกเฉินนั้นไม่ได้ให้อภิสิทธิ์แก่ผู้ใช้อย่างที่เคยเข้าใจกันไปเอง และเมื่อฝนตกหนักก็ไม่ควรเปิดไฟฉุกเฉิน ซึ่งอาจทำให้รถร่วมทางเกิดความสับสนขณะที่กำลังวิ่งอยู่ท่ามกลางการมองที่ย่ำแย่ โปรดเข้าใจวิธีการใช้และเปลี่ยนความคิดที่เคยครอบงำทำให้ใช้ไฟฉุกเฉินผิดมาโดยตลอดด้วยเถอะครับ

จะเปลี่ยนช่องทาง ทำไมไม่เปิดไฟเลี้ยวล่ะครับ?

สัญญาณไฟสูง
การกะพริบไฟสูงเปรียบเหมือนการแจ้งเตือนคล้ายกับการใช้สัญญาณแตร มักใช้ในเวลากลางคืน แต่ก็ใช้ตอนกลางวันในบางจังหวะจะโคนที่ต้องการเตือนรถที่กำลังจะเลี้ยวกลับรถซึ่งอาจล้ำเข้ามาในเส้นทางที่คุณกำลังขับเคลื่อนอยู่

สัญญาณไฟสูงนอกจากจะเป็นการเตือนให้ระวังแล้ว ยังใช้เป็นเทคนิคพิเศษเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย ขณะขับรถตอนกลางคืนบนถนนแบบสองเลนสวนกัน การกะพริบไฟเตือนถือเป็นการแจ้งเตือนรถที่แล่นสวนทางมาเพื่อแจ้งให้ทราบ หรือให้ระมัดระวัง

การกะพริบไฟสูงเหมาะกับทางข้ามยอดเนิน สะพานที่โค้งยาวต่อเนื่อง รวมถึงเหลี่ยมมุมโค้งในหุบเขา ใช้ไฟสูงเพื่อเตือนรถที่แล่นสวนมาบนทางที่ค่อนข้างคับแคบ ยกไฟสูงเพื่อตรวจสอบมุมอับ ถนนที่มืดมิดไม่มีไฟส่องสว่าง หรือเพื่อตรวจสอบผิวถนนว่ามีอะไรหล่นหรือกองอยู่ เช่น เศษยางรถสิบล้อที่ระเบิด ไม้หนุนรถบรรทุก เศษดินที่รถบรรทุกทำหล่นไว้

การยกไฟสูงต้องระวังไม่ให้ไฟของคุณไปแยงตารถที่แล่นสวนมา หากเห็นว่ามีเพื่อนร่วมทางที่ขับสวนมาก็ต้องรีบตบไฟกลับไปเป็นไฟต่ำเพื่อเพิ่มมุมมองให้กับรถที่แล่นสวนมาด้วยความเร็ว แถมยังช่วยทำให้ปลอดภัยไฟสูงไม่ไปแยงตาจนรถสวนมามองอะไรไม่เห็นแล้วขับเข้ามาในเลนของคุณจนเกิดการประสานงากันขึ้น

ไฟสูงยังใช้กะพริบเมื่อต้องการแซงอีกด้วย แต่ไม่ควรเปิดไฟสูงคาใส่รถคันข้างหน้าจากความโมโหที่ไม่ยอมหลบให้แซง หาทางไปเอาเองเถอะครับ อย่าใช้อารมณ์ด้วยการสาดไฟสูงใส่ สุดท้ายอาจตามมาด้วยอุบัติเหตุหรือการทะเลาะเบาะแว้งซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถเลี่ยงได้

จะเปลี่ยนช่องทาง ทำไมไม่เปิดไฟเลี้ยวล่ะครับ?

สัญญาณขอบคุณรถคันอื่น
การก้มหัวขอบคุณให้กับรถที่หยุดให้ทางคุณอย่างมีน้ำใจนั้นแทบจะหายไปบนท้องถนนของประเทศไทย แม้จะติดฟิลม์จนมืดราวกับถ้ำหมี หากคุณมีน้ำใจตอบกลับอยากขอบคุณรถที่หยุดให้ทาง ก็แค่ลดกระจกก้มหัวขอบคุณเขา หัดทำบ่อยๆ คุณจะรู้สึกดีและเพิ่มความน่าขับให้กับถนนในประเทศนี้ด้วยการมีน้ำใจแบ่งปันให้ทางกับรถที่กำลังจะออกจากซอย รถที่กำลังจะเลี้ยว หรือรถที่ขอทางรอเลี้ยว เสียเวลาแค่นิดเดียวแต่ช่วยทำให้อุบัติเหตุลดลงจากน้ำใจที่แบ่งปันกันบนถนน.