สภาพอากาศของประเทศไทยซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตร ทำให้มีอากาศร้อนแทบตลอดทั้งปีทั้งชาติ พอเข้าสู่เดือนมีนาคม เมษายน ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม อากาศจะร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ บางวันมีอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสในบางพื้นที่ การใช้รถในช่วงฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิใกล้เคียงกับเตาอบ ทำให้ระบบปรับอากาศในรถยนต์ของคุณต้องทำงานอย่างหนัก ความร้อนที่เกิดขึ้นจากฤดูกาล รถยนต์ร่วมทาง และสภาวะโลกร้อน ทำให้ระบบแอร์ติดรถยนต์ต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง เมื่ออุณหภูมิภายนอกพุ่งสูง ระบบปรับอากาศ หรือแอร์ คืออุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างหนึ่งในรถยนต์ เพื่อสร้างความเย็นและระบายอากาศภายในห้องโดยสาร การใช้งานที่ถูกต้อง รวมถึงการหมั่นตรวจเช็กดูแลรักษา เป็นสิ่งสำคัญเพื่อยืดอายุการใช้งาน เนื่องจากระบบปรับอากาศในรถยนต์ย่อมสึกหรอไปตามอายุการใช้งาน โดยเฉพาะสองส่วนหลักคือ คอมเพรสเซอร์และพัดลมในคอยล์เย็น

...

เปิดฝากระโปรงตรวจเช็กสายพานคอมเพรสเซอร์แอร์ว่ายังอยู่ในสภาพดีไม่แตกร้าวพร้อมที่จะขาดออกจากกันเมื่อขับใช้งาน หากพบว่าสายพานไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้งานได้อีกต่อไป ก็เปลี่ยนสายพานเส้นใหม่ไปเลยจะเป็นการดีที่สุด

หัดเป็นคนสอดรู้สอดเห็นไม่เฉพาะตอนเล่นโซเชียล เปิดกล่องฟิวส์หาตำแหน่งของฟิวส์ระบบปรับอากาศพวกฟิวส์คอมแอร์ ฟิวส์พัดลมแอร์ในห้องโดยสาร ส่วนใหญ่กล่องฟิวส์ในรถยนต์จะบ่งบอกตำแหน่งต่างๆ ของฟิวส์ที่ใช้งานในระบบไฟของรถอยู่แล้ว พกพาฟิวส์สำรองไปด้วยหากเกิดขาดกลางทางก็สามารถเปลี่ยนได้เลย เมื่อไม่เคยเปิดกล่องฟิวส์ประจำรถดู

หากฟิวส์คอมแอร์ หรือพัดลมห้องโดยสารเกิดขาด ก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนได้ด้วยตัวเอง ต้องขับรถท่ามกลางอุณหภูมิที่สาหัสสากรรจ์ในระดับเกือบ 40 องศาเซลเซียสไปพบช่าง ซึ่งกว่าจะถึงก็เล่นเอาเหงื่อตกกีบกันเลยทีเดียว

ตรวจเช็กสภาพแอร์โดยช่างผู้เชี่ยวชาญ
ใช้งานกันมานมนานก็ย่อมถึงเวลาที่จะต้องตรวจตราดูแลรักษาและทำการซ่อมบำรุง การซ่อมบำรุงตรวจเช็กระบบทำความเย็นในรถยนต์ของคุณคงต้องพึ่งพาช่างหากแอร์ติดรถเกิดอาการไม่เย็น หรือมีแค่ลมเย็นอ่อนๆ โชยออกมา แทนที่จะเป็นแบบพ่นลมเย็นเหมือนตอนที่ซื้อรถมาใหม่ๆ ปัจจุบัน รถยนต์รุ่นใหม่หลายยี่ห้อมีแผงกรองแอร์ติดตั้งอยู่ในตู้แอร์ เมื่อใช้งานไปได้สักระยะ กรองแอร์ที่ต้องรับภารกรรมกรองฝุ่นละอองในอากาศก็ถึงคราวที่มันเกิดตันขึ้นมา

ควรเปลี่ยนกรองแอร์ตามระยะทางที่ระบุในคู่มือประจำรถ ซึ่งคุณไม่เคยหยิบขึ้นมาอ่าน

ล้างแอร์

รถเก่าที่มีอายุการใช้งานยาวนาน ระบบแอร์มักเกิดเสียไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เช่น ฟิวส์คอมแอร์ หรือฟิวส์พัดลมแอร์ขาด ทำให้คอมแอร์ หรือพัดลมในห้องโดยสารหยุดทำงาน แอร์มีกลิ่นอับๆ เกิดจากสภาพตู้แอร์ที่สกปรกจากอายุการใช้งานที่นานเป็นสิบปี เมื่อขับรถไปให้ช่างแอร์ตรวจสอบระบบแอร์ หรือทำการซ่อมบำรุง

เมื่อตรวจเช็กน้ำยาแอร์ และรอยรั่วตามท่อทางของระบบแล้ว ก็ถึงห้วงเวลาที่คุณจะต้องลงมือล้างแอร์กันแล้ว การล้างแอร์นั้นทำได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องถอดตู้แอร์ออกมาให้ยุ่งยากวุ่นวาย ซึ่งหากคุณมีโอกาส การล้างแอร์ปีละครั้ง กับค่าใช้จ่ายเพียงครั้งละพันกว่าบาทสำหรับรถเก่า การล้างทำความสะอาดตู้แอร์ในห้องโดยสารสำหรับรถเก่า นอกจากการล้างแอร์จะช่วยทำให้ลมแอร์ดีขึ้นแล้ว กลิ่นอับชื้นเหม็นฉุนที่เคยมีอยู่ก็จะค่อยๆ จางหายไป

...

เมื่อเปิดแอร์ตอนแรก หรือเครื่องยังเย็นอยู่ ไม่ควรเปิดแอร์จนสุด เพราะควรให้คอมแอร์ได้วอร์มสักพักก่อนสัก 5 นาที กล่าวคือ ควรสตาร์ตเครื่องยนต์และให้เครื่องยนต์ถึงอุณหภูมิทำงาน (พัดลมระบายความร้อนหม้อน้ำทำงาน) ก่อนจึงเปิดสวิตช์ระบบปรับอากาศ

การตั้งอุณหภูมิ

ไม่ตั้งอุณหภูมิให้เย็นเกินไป เพราะจะทำให้คอมเพรสเซอร์ทำงานอยู่ตลอดเวลา แต่ช่วงนี้ ถึงไม่ตั้งให้เย็นคอมแอร์ก็ทำงานต่อเนื่อง เพราะอากาศภายนอกนั้นร้อนเหลือกำลังลาก

...

สวิตช์พัดลม

เปิดสวิตช์พัดลมก่อนแล้วจึงกดสวิตช์ระบบปรับอากาศ (A/C) เปิดไปที่ความเร็วพัดลมสูงสุดระยะหนึ่งก่อน แล้วจึงลดลงไปยังความเร็วน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น

หลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอม หรือสเปรย์ปรับอากาศ เนื่องจากไอระเหยของสารเคมีที่ใช้จะถูกดูดเข้าไปสะสมตัวที่ครีบเล็กๆ ของคอยล์เย็น สารเหล่านี้มีคุณสมบัติในการดูดความชื้น ทำให้ฝุ่นผงไปจับตัวที่ครีบระบายความเย็น ความสามารถในการถ่ายเทความร้อนจะลดลง คอมเพรสเซอร์ก็จะทำงานมากขึ้น ให้ศูนย์บริการทำความสะอาดคอยล์เย็นเป็นครั้งคราวเมื่อรู้สึกว่าประสิทธิภาพในการทำความเย็นของระบบปรับอากาศลดลง

...

หลังการใช้แอร์ติดรถยนต์สำหรับการขับขี่ประจำวัน

ก่อนถึงที่หมายประมาณ 15 นาที ปิดสวิตช์ระบบปรับอากาศ (A/C) เปิดพัดลมไปที่ความเร็วสูงสุด ทั้งนี้เพื่อลดการทำงานคอมเพรสเซอร์ และไล่ความชื้นออกจากคอยล์เย็น

ถ้าบำรุงรักษาด้วยวิธีปฏิบัติง่ายๆ ดังกล่าวเป็นประจำ อายุการใช้งานของระบบปรับอากาศในรถยนต์ก็จะยืนยาวขึ้น

ข้อแนะนำในการดูแลรักษาแอร์รถยนต์

ไม่ควรนำน้ำหอมชนิดที่เป็นแบบมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ไปเสียบไว้หน้าช่องแอร์ เพราะจะทำให้ตู้แอร์ผุกร่อนเร็วขึ้น

หากจอดตากแดดเป็นเวลานานๆ ก่อนใช้รถควรเปิดลมเปล่าให้แรงสุด (ปิดสวิตช์ A/C) เพื่อไล่ความร้อนที่มีอยู่ในระบบแอร์ออกเสียก่อน แล้วจึงค่อยเปิดน้ำยาแอร์ (เปิดสวิตช์ A/C)

ก่อนที่จะจอดรถทิ้งไว้นานๆ เช่น เมื่อต้องจอดข้ามคืน ควรเปิดลมเปล่าให้แรงสุด (ปิดสวิตช์ A/C) ประมาณ 5 นาที เพื่อไล่ความชื้น ไล่น้ำ ที่ค้างอยู่ในตู้แอร์ออกก่อน เพราะตู้แอร์ทำจากอะลูมิเนียม จะเกิดการผุกร่อนได้ง่าย และจะทำให้ตู้แอร์ลดการเหม็นอับอีกด้วย

ระบบแอร์ เป็น “ระบบปิด” ดังนั้นเมื่อแอร์ติดรถของคุณไม่เย็น และต้องเติมน้ำยาแอร์บ่อยครั้ง การต้องเติมน้ำยาคอมแอร์บ่อยๆ เพราะเกิดการรั่วของระบบแอร์ในรถนั่นเอง

ไม่ควรเปิดกระจกขับรถบ่อย เพราะจะทำให้ฝุ่นละอองจากภายนอกเข้ามาอุดตันในตู้แอร์เร็วยิ่งขึ้น

เมื่อแอร์ไม่เย็น แม้จะเปิดสวิตช์ A/C แล้ว แต่ก็ยังไม่มีไอเย็นออกมา ให้รีบปิดน้ำยาแอร์ หรือสวิตช์ A/C ทันที เพราะอย่างน้อยๆ ถ้าเกิดการรั่วในระบบ น้ำยาแอร์และน้ำมันคอมเพรสเซอร์จะมีน้อยมากในระบบ จะทำให้คอมเพรสเซอร์พังมากขึ้นกว่าเดิม แล้วควรนำรถไปเช็กให้เร็วที่สุด แต่กรณีนี้ใช้ลมเปล่าก่อนก็ได้ แต่จะร้อนจนหน้ามืดถ้าระบบแอร์ติดรถเกิดมาพังเอาในช่วงนี้ 

ควรล้างตู้แอร์ทุกๆ 2 ปี หรือถ้าใครเปิดกระจกขับรถบ่อย ให้ล้างทุกๆ ปี หรือตามเห็นสมควร เมื่อมีเหตุจำเป็นที่ต้องเปิดกระจกขับรถ ควรปิดช่องแอร์บริเวณคอนโซล หรือจุดที่แอร์ออกให้หมดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ฝุ่นเข้าไปในระบบแอร์น้อยที่สุด.