• บอกวิธีละเอียดต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ รถอายุไม่เกิน 7 ปี หรือรถยนต์ที่อายุเกิน 7 ปีหรือมอเตอร์ไซด์อายุเกิน 5 ปีก็ต่อภาษีแบบออนไลน์ได้
  • รถยนต์ที่มีอายุครบ 7 ปีขึ้นไปต้องผ่านตรวจสภาพรถจากตรอ.ก่อนทุกครั้ง
  • เราสามารถต่อทะเบียนรถได้ล่วงหน้า 90 วันก่อนภาษีหมดอายุ

รถยนต์อายุไม่เกิน 7 ปี และรถมอเตอร์ไซค์อายุไม่เกิน 5 ปี อย่างที่ทราบกันดีว่าสามารถยื่นชำระภาษีรถยนต์ประจำปีทางออนไลน์ได้ ส่วนรถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปี ไม่สามารถยื่นจ่ายภาษีต่อทะเบียนทางช่องทางออนไลน์ได้ แต่ตอนนี้ปี 2564 กรมขนส่งทางบกอนุญาตให้รถยนต์และมอเตอร์ไซค์ที่มีอายุเกิน 7 ปี และ 5 ปีตามลำดับ นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก สามารถยื่นชำระภาษีรถยนต์ประจำปีผ่านช่องทางออนไลน์ได้แล้ว วิธีการไม่ได้ยากเลย เราอธิบายรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. รถยนต์ที่มีอายุครบ 7 ปีขึ้นไป และมอเตอร์ไซค์ที่มีอายุครบ 5 ปีขึ้นไป ต้องไปตรวจสภาพรถจากสถานตรวจสภาพรถเอกชน หรือที่เรารู้จักกันคือ ตรอ. ที่ใดก็ได้ที่เราสะดวกในการเดินทาง โดยเตรียมเอกสารติดตัวไปด้วยคือ เล่มทะเบียนตัวจริงหรือสำเนา และค่าบริการสำหรับมอเตอร์ไซค์ 60 บาท รถยนต์ถ้าน้ำหนักเกิน 1,600 กิโลกรัมจะอยู่ที่ 200 บาท ใช้เวลาประมาณ 10-20 นาที 

ข้อมูลจากการตรวจสภาพรถจาก ตรอ. จะส่งไปที่กรมขนส่งทางบกทันที เราเพียงแค่เก็บเอกสารเอาไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ทั้งนี้เราสามารถตรวจสภาพรถได้ก่อนภาษีประจำปีหมดอายุ 3 เดือนล่วงหน้า

2. เมื่อตรวจสภาพรถเรียบร้อย ควรเลือกซื้อ พ.ร.บ.ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งสามารถซื้อจากตรอ.ที่เราไปตรวจสภาพรถ บริษัทประกัน หรือจะซื้อจากในเว็บไซด์ของกรมขนส่งก็ได้ อยู่ที่ความสบายใจของผู้ต่อทะเบียน โดยราคาพ.ร.บ.สำหรับรถยนต์โดยสารที่นั่งไม่เกิน 7 คน อยู่ที่ 600 บาทต่อปี ส่วนรถมอเตอร์ไซค์ถ้าขนาดเครื่องยนต์น้อยกว่า 75 ซีซีก็อยู่ประมาณ 162 บาท (มอเตอร์ไซค์ไม่สามารถซื้อพ.ร.บ.จากในระบบของกรมขนส่งได้แล้ว ต้องซื้อจากผู้บริการข้างนอก แล้วนำมากรอกในระบบเอง)

...

3. หลักฐานเอกสารครบแล้ว เข้าเว็บไซต์ของกรมขนส่งทางบก https://eservice.dlt.go.th 

จากนั้นสมัครสมาชิก แล้วคลิกที่ชำระภาษีรถประจำปีผ่านอินเทอร์เน็ต

4. กรอกข้อมูลรถยนต์ของเราลงไป เช่น ประเภทรถยนต์ จังหวัด และเลขทะเบียนรถยนต์ เมื่อขึ้นรายการข้อมูลลงทะเบียนรถด้านล่างแล้วคลิกที่ยื่นชำระภาษีริมขวาสุด

5. หลังจากตรวจข้อมูลเรียบร้อยก็ชำระเงินภาษีให้เรียบร้อย ซึ่งสามารถเลือกการชำระเงินได้หลายช่องทางตั้งแต่ หักบัตรเดบิตบัตรเครดิต ชำระผ่านตู้เอทีเอ็ม หรืออินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง 

6. ใช้เวลา 3-5 วันรอป้ายวงกลม (ที่ปัจจุบันนี้ไม่กลมแล้ว) หรือที่เรียกว่า ป้ายภาษี มาส่งถึงหน้าบ้านตามที่อยู่ที่เรากรอกในระบบ สุดท้ายอย่าผัดวันประกันพรุ่งที่จะเปลี่ยนป้ายภาษีที่หน้ารถก่อนที่มันจะหมดอายุเป็นอันขาด เพราะถ้าเจอคุณตำรวจขึ้นมา คุณจะมีโทษทางกฎหมายถูกปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาทเลยนะจ้า

7. แต่ถ้ารอแล้วรอเล่า เจ้าป้ายภาษีไม่มาเสียที สามารถตรวจสอบที่เว็บไซต์ของกรมขนส่งทางบก โดยเลือกที่ "ตรวจสอบผลการชำระภาษี/เปลี่ยนช่องทางชำระเงิน"

เป็นอีกทางเลือกสำหรับคนที่กำลังจะเดินทางไปต่อภาษีรถยนต์ที่ขนส่ง แต่ไม่อยากข้องแวะกับผู้คนมากมาย หรือสำหรับบางคนที่ก็คงเฉยๆกับบริการแบบใหม่นี้ เพราะถ้าเลี้ยวรถเข้าตรอ.แล้ว ก็มีบริการต่อภาษีให้ด้วย จ่ายค่าบริการนิดหน่อย อันนี้แล้วแต่ความสะดวกและพอใจของแต่ละคน.

ผู้เขียน : เครื่องยนต์คนขยัน

กราฟิก : Sriwon Singh