กินร้อน ช้อนตัวเอง และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ให้บ่อยที่สุด คัมภีร์การอยู่ให้รอดในช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่ายานพาหนะที่เราใช้จะปลอดเชื้อไปด้วย เพราะมันเดินทางไปกับเรา รับเชื้อมาจากไหนบ้างก็ไม่รู้ มาดูวิธีทำความสะอาดรถยนต์อย่างง่ายๆ ทำตามได้ไม่ยุ่งยาก แต่เตือนไว้ก่อนว่าก่อนเริ่มทุกขั้นตอน ควรสวมแมสก์และสวมถุงมือใช้แล้วทิ้งทุกครั้ง
ตัวถังข้างนอก
ล้างรถด้วยแชมพูล้างรถปกตินั่นแหละ ไม่ต้องพิถีพิถันขนาดต้องใช้ผงซักฟอก น้ำยาฟอกขาวเพื่อฆ่าเชื้อโรคให้ตาย เพราะความรุนแรงของสารเคมีอาจทำให้สีรถเป็นด่างเป็นดวง แชมพูล้างรถก็มีความสามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้แล้ว เพียงใช้แชมพูปริมาณเข้มข้นหน่อย เช็ดถูเน้นบริเวณที่มีผู้คนสัมผัสบ่อย เช่น มือจับประตู จุดเปิดกระโปรงท้าย ฝาถังน้ำมัน และกระจกข้าง ส่วนตัวรถก็ล้างตามปกติ
ส่วนภายในตัวรถ
หากรถคุณเป็นเบาะหุ้มหนัง วิธีการทำความสะอาดง่ายมาก แค่นำผ้าสะอาดชุบน้ำผสมสบู่เช็ดทุกส่วนของเบาะได้เลย ย้ำอีกเหมือนเคยไม่ควรใช้สารเคมีรุนแรง เกรงว่าหนังหุ้มเบาะจะเกิดรอยด่างหรือเสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ควร
...
สำหรับรถที่ใช้เบาะผ้า ขั้นตอนอาจซับซ้อนนิดหน่อย ปัจจุบันเรามีโฟมสำหรับทำความสะอาดเบาะผ้า ก็แค่ฉีดลงไปที่ผ้าบางๆ จากนั้นใช้ฟองน้ำเช็ดเบาๆ ให้ทั่ว ล้างฟองน้ำบิดให้แห้งและเช็ดฟองบนเบาะไปเรื่อยๆ จนกว่าฟองจะหมด เบาะสะอาดสมใจ อาจปิดท้ายด้วยการฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อเพิ่มความสบายใจ แล้วนำไดร์ร้อนมาเป่าให้แห้ง หรือจะตากแดดจนแห้งก็ได้
ส่วนพรมบนพื้นรถนำมาซัก ล้างด้วยสบู่ ตากแดดให้แห้ง พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อเสียหน่อย แค่นี้มั่นใจปลอดโรคแล้ว
ที่สำคัญที่สุดอย่าลืมใช้น้ำสบู่อย่างอ่อนเช็ดบริเวณที่สัมผัสบ่อย อย่างกุญแจรถ พวงมาลัย หน้ากากแอร์ คอนโซลและแผงควบคุมของรถด้วย เช็ดทิ้งไว้ 15 นาที แล้วค่อยใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดเช็ดจนกว่าสบู่จะหมด
อากาศภายในรถ
ฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อภายในรถได้บ่อยเท่าที่ต้องการ เพื่อความสบายใจในการขับขี่และของผู้โดยสารร่วม และหากวันที่รถไม่ได้ใช้งาน นำเบกกิ้งโซดา หรือน้ำส้มสายชูประมาณ 2-4 ช้อน ใส่ขวดแก้ววางทิ้งไว้ในรถสัก 2 ชั่วโมง กรดของน้ำส้มสายชูจะช่วยฆ่าเชื้อโรคและดูดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ด้วย
ผู้ขับและผู้โดยสาร
ก่อนที่จะจับพวงมาลัยควรล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคที่อาจติดมา ลดการแพร่เชื้ออย่างง่ายๆ เริ่มต้นที่ตัวคุณเอง ส่วนความเชื่อว่าการนำแอลกอฮอล์ล้างมือไว้ในรถแล้วจะเกิดเพลิงไหม้หรือเกิดระเบิดได้ เปลี่ยนความเชื่อเสียใหม่ อ้างอิงจากอาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยนำเสนอประเด็นนี้เมื่อตอนที่เรากำลังฮิตการล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ยุคโควิด- 19 ระบาดใหม่ๆ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว
เจลล้างมือมีแอลกอฮอล์เป็นสารที่จุดติดไฟได้ก็จริง แต่ต้องใช้ความร้อนสูงประมาณ 260 - 538 องศาเซลเซียส เป็นระดับอุณหภูมิจากเตาแก๊ส ไม่อาจเกิดขึ้นในรถยนต์ที่จอดตากแดดไว้แน่ๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ควรหลงลืมหรือตั้งใจวางเจลล้างมือไว้ในรถที่ตากแดดจัดเป็นประจำ เนื่องจากแอลกอฮอล์เจอความร้อนก็มีการระเหย มีผลต่อประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคของมันลดลง.