*เทคนิคดูแลรถเก่าอย่างประหยัดเงินในกระเป๋า

*รถยนต์ที่มีอายุเกิน 10 ปี ควรดูแลระบบระบายความร้อนมากที่สุด

*หากใช้รถน้อยก็ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องที่ทิ้งไว้ในเครื่องยนต์นานๆ ก็มีวันที่จะเสื่อมสภาพได้เหมือนกัน 

เก่าแต่เก๋า ยังใช้ได้ดี มีหรือจะยอมเปลี่ยน การเปลี่ยนรถใหม่ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีเพราะมีโควิด อาจทำให้คุณประสบปัญหาทางการเงินได้ รถเก่าที่ยังคงใช้งานได้ดี แม้จะมีชิ้นส่วนที่เริ่มเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ก็แค่ซ่อมบำรุงดูแลประคบประหงมให้ดี เปลี่ยนชิ้นส่วนที่เสียหายเป็นของใหม่หรือของมือสองเพื่อคงสภาพให้สามารถขับได้ ไม่ใช่ขึ้นรถได้ก็กระทืบลูกเดียว ขับแบบนั้นมันเป็นการทารุณกรรมรถเก่ามากเกินไป ความใส่ใจดูแลวัตถุโบราณที่ยังคงวิ่งใช้งานได้ คือความเหมาะสมในวิถีชีวิตปัจจุบัน ยิ่งต้องประหยัดเงินในช่วงที่ทำมาหากินลำบาก ก็ยิ่งต้องดูแลรถเก่าของคุณให้ดีๆ ภรรยาจะได้ไม่บ่นจนทำให้รู้สึกรำคาญใจ 

...

การดูแลคุณปู่คุณป้าในวัยชราภาพที่ยังพอวิ่งได้ให้อยู่รับใช้กันไปนานๆ คุณต้องหมั่นตรวจเช็กและเอาใจใส่มากกว่าการใช้รถใหม่ จุดที่สำคัญก็คือ ระบบระบายความร้อน ตรวจสอบระดับน้ำในหม้อน้ำ การทำงานของพัดลมไฟฟ้า ตรวจเช็กปั๊มน้ำและวาว์ลน้ำ ถ้าเห็นว่าเก่าแก่มาก มีอายุการใช้งานนานเกิน 10 ปี ของพวกนี้ก็ควรจะเปลี่ยนใหม่ซะ การดูแลระบบระบายความร้อน ให้ทำงานสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลาที่ใช้งาน ช่วยยืดอายุเครื่องยนต์ไปในตัว หากระบบระบายความร้อนเสื่อมสภาพ และทำงานไม่เต็ม 100% จะทำให้เกิดอาการร้อนรุ่มกลุ้มอุรา แอร์ก็จะไม่เย็น ตามด้วยอาการไข้ตัวร้อนของเครื่องยนต์ ทำให้จอดไม่ต้องแจว เดือดร้อนรถยกหรือสไลด์ออน เสียเงินเสียเวลาเมียก็ยิ่งด่าหนัก! 

...

ชิ้นส่วนที่สมควรจะต้องเปลี่ยนเมื่อวิ่งมาครบ 100,000 กิโลเมตร เช่น สายพานไทม์มิ่งก็ไม่ควรขี้เหนียวควักยาก บางกรณีไม่ต้องรอให้ครบ 100,000 กิโลเมตรหากใช้รถเยอะจัดวิ่งยาวข้ามจังหวัดบ่อยครั้ง ระยะทางที่ใช้งาน ความร้อนสะสมในระบบ ฝุ่น ควัน คราบโสโครกต่างๆ นั้นบั่นทอนอายุการใช้งานของสายพานไทม์มิ่งให้หดสั้นลง จึงควรเปลี่ยนให้เร็วขึ้น แม้รถจะใช้สายพานแบบโซ่ที่แข็งแรงกว่าสายพานยาง

...

การหล่อลื่นถือเป็นหัวใจสำคัญของการใช้งานรถยนต์ ระยะเวลาในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ขึ้นอยู่กับน้ำมันเครื่องที่ใช้ เมื่อใช้เกรดสูงสุดราคาแพง บางครั้งสามารถยืดระยะการเปลี่ยนถ่าย พร้อมกรองน้ำมันเครื่องออกไปได้ถึง 14,000 กิโลเมตร สำหรับน้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ เปลี่ยนที่ 8,000 กิโลเมตร ส่วนน้ำมันเครื่องมาตรฐานเกรดธรรมดาสามัญ ควรเปลี่ยนที่ระยะ 5,000 กิโลเมตร เปลี่ยนน้ำมันเครื่องทุกครั้ง ก็เปลี่ยนกรองไปด้วยเลย อย่าไปเสียดาย

...

ความสดใหม่ของกรองน้ำมันเครื่องที่ปราศจากคราบไคลของน้ำมันเก่า รวมถึงเศษโลหะและฝุ่นผงต่างๆ ที่เกิดจากการเผาไหม้ จุดระเบิด หรือการเสียดสีของชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวอยู่ในเครื่องยนต์ กรองใหม่และน้ำมันเครื่องที่สดใหม่ ช่วยทำให้เครื่องยนต์ของคุณทำงานเต็มประสิทธิภาพ ไม่ควรรอจบครบปีถึงเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง หากใช้รถน้อยก็ต้องเปลี่ยนถ่าย เพราะน้ำมันเครื่องที่ทิ้งไว้ในเครื่องยนต์นานๆ ก็มีวันที่จะเสื่อมสภาพได้เหมือนกัน 

ช่วงล่างและยาง ถือเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญต่อการควบคุมทิศทาง ความสบายและความปลอดภัยเมื่อใช้ความเร็ว เมื่อพบอาการหรือปัญหาด้านการทรงตัวของรถ วิ่งผ่านผิวถนนขรุขระ ไอ้ที่เคยเงียบก็ส่งเสียงเอะอะเอ็ดตะโร โครมครามออกมาก นั่นหมายความว่ารถคุณมีปัญหาช่วงล่างที่เสื่อมสภาพ ลูกหมากลูกยางกันโคลง ยางรองเบ้าโช้ค และศูนย์ล้อ ต้องตรวจสอบว่ายังปกติดีหรือไม่ กดแก้มข้างของรถดูว่า โช้คอัพยังรับหน้าที่ดีอยู่หรือเปล่า หากกดแล้วปล่อย เห็นรถกระเด้งขึ้นลงหลายครั้งคล้ายคนพยักหน้าถี่ๆ ติดกัน แสดงว่าโช้คอัพของคุณลากลับบ้านเก่าเรียบร้อยแล้ว

ส่วนอาการสั่นในรอบเดินเบา อาจเป็นที่ระบบเชื้อเพลิง หรือลามไปถึงยางแท่นเครื่องแท่นเกียร์ที่เริ่มจะหมดสภาพ แตกร้าวหรือฉีกขาดเสียหาย ยางหุ้มแรคพวงมาลัย ถ้าเห็นว่าขาดแล้วก็ควรจะเปลี่ยนของใหม่ ไม่ควรปล่อยไว้จนทำให้ฝุ่นผง เข้าไปทำความเสียหายให้กับแรคพวงมาลัย

ส่วนยางก็ควรตรวจเช็กแรงดันลมยางให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามคู่มือทุกอาทิตย์ หรือทุกครั้งก่อนขับทางไกล อย่าลืมเติมลมยางอะไหล่เอาไว้ด้วย ขับเยอะ บางทีไม่ถึง 40,000 กิโลเมตร ยางก็ลาจากไปแล้ว เพราะถนนที่วิ่งกับชนิดของยางนั้นไม่เข้ากัน ทำให้ยางหมดสภาพก่อนเวลาอันควร ขับเร็วต่อเนื่อง ชอบเบรกหนักๆ บรรทุกหนัก ก็เป็นตัวการอย่างดีที่จะทำให้ยางรถสึกหรอเร็วขึ้น ไม่ควรใช้ยางโล้นซ่าไม่มีดอกยางโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน หากไม่อยากเสียหลักลงข้างทางเพราะยางไร้ดอกก็ควรจะใช้ยางที่มีความสดใหม่ อย่าลืมว่า ยาง คือ ชีวิต นะครับ  

รอยรั่วซึมของน้ำมันก็เป็นตัวการสำคัญที่จะตามมาด้วยอาการเจ๊งยาว หากน้ำมันเครื่องรั่วซึมก็ให้ช่างตรวจเช็ก ถ้าเป็นที่ปะเก็นหมดสภาพก็มีค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก เมื่อเห็นน้ำมันสีแดงหยดที่พื้น ให้ดูที่แคร้งเกียร์ ถ้าพบว่าน้ำมันเกียร์อัตโนมัติรั่วซึม ควรรีบไปหาอู่เกียร์หรือเข้าศูนย์บริการเพื่อตรวจสอบทันที เกียร์อัตโนมัติลูกหนึ่งไม่ใช่ถูก ค่าซ่อมเกียร์ออโต้รถญี่ปุ่นก็ด้วย อาจมีถึง 4-5 หมื่น ขึ้นอยู่ว่าอาการหนักขนาดไหน ถ้ายกเกียร์ใหม่ซ่อมไม่ได้ก็จะยิ่งแพงระยับดับจิต บางทีเงินดาวน์รถคันใหม่ยังถูกกว่าเปลี่ยนเกียร์ลูกใหม่

ส่วนเกียร์อัตโนมัติของรถยุโรปนั้นบอกเลยว่าทั้งค่าซ่อมและค่าเปลี่ยนเกียร์ใหม่นั้น มีราคาสูสีกับการถอยรถญี่ปุ่นป้ายแดงดีๆ คันหนึ่งเลยทีเดียว น้ำมันเกียร์ที่บางบริษัท ทั้งยุ่นและยุโรปเคลมว่าไม่ต้องเปลี่ยนตลอดอายุการใช้งาน แต่พอหมดระยะประกันชิ้นส่วนที่ 100,000-150,000 กิโลเมตร แล้วเกียร์เจ๊ง คุณจะต้องพบกับค่าใช้จ่ายที่อาจทำให้ล้มละลายได้เลย โดยเฉพาะในช่วงโควิดเศรษฐกิจห่วยแบบนี้ หาทางดูดออกโดยไม่ต้องถอดนอตแคร้งเพื่อเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ ซึ่งทำให้การรับประกันขาดเพราะมีการถอดชิ้นส่วน (ต้องห้าม!) เมื่อดูดออกไปเท่าไรก็ให้ช่างเติมกลับไปเท่าเดิม เกียร์ก็จะอยู่รับใช้จนบางครั้งเครื่องพังแล้วพังอีก แต่เกียร์ไม่ยักกะพังตามก็มี! ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่นระบบเกียร์ที่ 40,000 กิโลเมตร หากเชื่อบริษัทที่เคลมว่าเกียร์เทพของเค้าไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ เห็นว่าพอเกียร์เจ๊ง แกะออกมาดูนี่ น้ำมันเกียร์ที่คาอยู่ในระบบมีสีข้นคลั่ก และเหนียวหนึบราวกับช็อกโกแลตฟองดู อันนั้นเจ๊งยาวครับ.

ผู้เขียน : อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/

ภาพ : Supassara Taiyansuwan