แก้มยางทุกยี่ห้อ ทุกขนาด จะมีการปั๊มบ่งบอกถึงขนาดและปีที่ผลิต ตลอดจนประสิทธิภาพของการรับแรงต่างๆ หากเป็นยางรถยนต์ทั่วๆ ไป ซึ่งไม่ใช่ยางรถออฟโรดที่เอาไว้ลุย มักบอกความสูงรวม ยกตัวอย่างเช่น 30 นิ้ว ขอบ 15 จะมีรายละเอียดระบุไว้บนแก้มยาง เช่น 205/60 R15 94H
ตัวเลขและอักษรที่อยู่บนแก้มยาง คือ รายละเอียดของยางเส้นนั้นๆ ที่บอกให้ผู้ใช้ทราบถึงขนาดและประเภทของยางรถยนต์ ตัวเลข 205 หมายถึงหน้ากว้างของยาง โดยวัดจากหน้าสัมผัสจากขวาไปซ้าย บางบริษัทระบุว่าวัดจากแก้มยางส่วนที่ป่องที่สุดจากซ้ายไปขวา โดยยางจะต้องใส่กับล้อที่มีความกว้างตามกำหนด และสูบลมตามที่ได้ระบุไว้
แก้มยางโดยทั่วไปจะบอกรายละเอียดต่างๆ เช่น เครื่องหมายวัดการสึกหรอของยาง ยี่ห้อและรุ่น ความกว้างของยาง (มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร) Series หรือความสูงของแก้มยาง ระบุเส้นผ่าศูนย์กลางของล้อ ดัชนีการรับน้ำหนัก สัญลักษณ์ความเร็ว หรือบอกว่าเป็นยาง Tubeless ไม่มียางใน รวมถึงวันเดือนปีที่ผลิต
...
หน้ากว้างของยางรถยนต์ มีผลอย่างมากต่อประสิทธิภาพของการยึดเกาะกับผิวถนน แม้ยางหน้ากว้างจะเกาะถนนได้ดีกว่ายางหน้าแคบ แต่ก็มีผลเสียคือ สร้างภารกรรมให้กับการขับเคลื่อน หรือกินกำลังของเครื่องยนต์ และกินเชื้อเพลิง รวมถึงยังสร้างความสึกหรอให้กับชิ้นส่วนของช่วงล่างอีกด้วย ควรเลือกใช้ยางให้เหมาะสมกับขนาดและน้ำหนัก รวมถึงความกว้างของกระทะล้อหรือล้อแม็กซ์ที่เปลี่ยนใหม่ เพื่อทำให้การเปลี่ยนยางกับล้อมีความลงตัวกับกำลังของรถยนต์คันนั้นๆ
ยาง 205/60R15 ตัวเลข 60 คืออัตราส่วนความสูงของแก้มยางต่อความกว้างของหน้ายาง มีหน่วยเป็น % หรือเรียกสั้นๆ ว่า Series อัตราส่วนยิ่งต่ำ จะแสดงว่ายางเส้นนั้นยิ่งมีแก้มที่เตี้ยลง โดยตัวเลขที่แสดงนั้นต้องผ่านการคำนวน ถึงจะทราบว่ายางเส้นนั้นมีความสูงของแก้มยางกี่มิลลิเมตร? ยกตัวอย่างเช่น ยางเส้นในภาพมีแก้มสูง 65% ของ 205 นั่นก็คือ 205x60/100=123 มิลลิเมตร
...
ประสิทธิภาพของยางแก้มเตี้ย
1- ทำให้การขับขี่มีการทรงตัวดีขึ้น
2- สามารถต้านทานต่อการลื่นไถลได้มากกว่า
3- มีความมั่นคงในย่านความเร็วสูง
4- เลี้ยวได้ดีกว่ายางแก้มสูง เนื่องจากมีการบิดตัวน้อยกว่า สวยงาม
ส่วนผลเสียของยางหน้ากว้างไซส์ยักษ์แก้มเตี้ย ที่ติดตั้งในรถยนต์สมรรถนะสูงก็คือ ราคาแพง กระด้าง จากการซึมซับแรงสั่นสะเทือนได้น้อยกว่ายางแก้มสูง
...
ดัชนีน้ำหนักบรรทุก
ดัชนีน้ำหนักบรรทุก คือ ตัวเลขที่แสดงน้ำหนักสูงสุดที่ยางแต่ละเส้นสามารถรับได้ R หมายถึง โครงยาง ซึ่งก็คือ เรเดียล ส่วนยางประเภทอื่นๆ เช่น ไบแอส-ผ้าใบ ใช้ตัวอักษร PR ซึ่งย่อมาจาก Poly Rating หรือจำนวนชั้นของผ้าใบ
95 คือดัชนีการรับน้ำหนักต่อยาง 1 เส้น หรือ Load Index เป็นค่าสูงสุดของการรับน้ำหนักที่ยางเส้นนั้นสามารถรับได้ โดยมีหน่วยเป็นกิโลกรัม เช่น 95 รับน้ำหนักตรงตามตารางได้ที่ 690 กิโลกรัม
ตัวเลข 15 คือเส้นผ่าศูนย์กลางของล้อ มีหน่วยเป็นนิ้ว ยางและล้อต้องมีค่าที่เท่ากันเสมอ
...
สัญลักษณ์ตัวเลขระบุความเร็วที่รองรับได้ในยางรถยนต์ของคุณ
Speed Symbol เป็นตัวอักษรใช้แทนค่าความเร็วของยางโดยจะมีค่าที่สอดคล้องกับดัชนีการรับน้ำหนักบรรทุกของยางเส้นนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น
L ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
M ความเร็ว 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
N ความเร็ว 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
P ความเร็ว 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
Q ความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
R ความเร็ว 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
S ความเร็ว 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
T ความเร็ว 190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
U ความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
H ความเร็ว 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
VR ความเร็วเกินกว่า 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
V ความเร็ว 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
W ความเร็ว 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
Y ความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ZR ความเร็วเกิน 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง.
อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/