ทุกวันนี้ มอเตอร์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีช่วยขับได้ลดทอนความบริสุทธิ์ของรถยนต์ลงไปอย่างมาก น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจากอุปกรณ์สมัยใหม่ ทำให้รถยนต์สมรรถนะสูงรุ่นล่าสุดดูทื่อลง นั่นอาจดูเหมือนเป็นคำพูดที่รุนแรงเกินไป แต่เมื่อพิจารณาจากข่าวสารในอุตสาหกรรมยานยนต์เกือบทุกอาทิตย์บนโลกโซเชียลที่เราจะรับรู้เกี่ยวกับไฮเปอร์คาร์ไฟฟ้าพร้อมมอเตอร์สี่ตัวที่มีแรงม้า 1,200 ตัวหรืออาจบ้ามากกว่านั้นด้วยกำลัง 2,000 แรงม้า และเร่ง 0-100 ได้เร็วกว่า 2 วินาที แต่ประสิทธิภาพด้านอัตราเร่งที่ยิ่งยวดแบบนั้น กลับมีบางอย่างที่น่ารังเกียจซ่อนอยู่เบื้องหลังตัวเลขพลังงานมหาศาล ในความเป็นจริง Electric Hyper Car จะมีตัวเลขที่โชว์ถึงความเทอะทะ นอกจากมิติความยาวกว่า 5 เมตรแล้ว หนึ่งนั่นคือน้ำหนัก ยกตัวอย่างเช่น EQS500 ที่ขับได้ไกลมากกว่า 600 กิโลเมตร และเร่ง 0-100 ได้เร็วจี๋ แต่ขายไม่ค่อยดี เนื่องจากการกำหนดราคาช่วงเปิดตัว กับน้ำหนักมหาศาลที่ปรากฏขึ้นทันทีเมื่อเลี้ยวในโค้งแคบด้วยความเร็วสูง รวมถึง Eletre ไฮเปอร์เอสยูวีพลังงาน 902 แรงม้า ที่ตัวหนักอย่างเหลือเชื่อ ถึงแม้จะใช้วัสดุมวลเบาเพื่อลดน้ำหนักหลายจุด แต่รถ Lotus คันนี้ก็ยังหนักถึง 2.5 ตัน ย้อนกลับไปในทศวรรษ 1960 ก่อนที่โลกยานยนต์จะมีจอมอนิเตอร์กลางแบบหมุนได้ คอมพิวเตอร์ประจำรถ อุปกรณ์ความปลอดภัยและน้ำหนักชุดแบตเตอรี่ที่หนักพอๆ กับรถอีโคคาร์ทั้งคัน รถแข่งอย่าง Alfa Romeo Giulia Sprint GTA พร้อมน้ำหนักมวลรวมทั้งคันที่มาก และมวลที่เบาก็หมายถึงความสามารถรอบด้านที่เพิ่มขึ้นในสนามแข่ง
...
Alfa Romeo Giulia Sprint GTA หนึ่งในรถที่สวยที่สุดของ Alfa เริ่มต้นวงจรชีวิตในสำนักแต่งเล็กๆ ที่มีชื่อว่า Autodelta ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1963 โดยสองอดีตวิศวกรของ Ferrari ได้แก่ Carlo Chiti และ Ludovico Chizzola สำนัก Autodelta เริ่มต้นจากการเป็นบริษัทอิสระในการปรับแต่งรถแข่ง ความสัมพันธ์อันดีระหว่าง Carlo Chiti กับผู้บริหารระดับสูงของ Alfa Romeo ทำให้ Autodelta ได้รับความไว้วางใจให้ทำโครงการพัฒนารถแข่งของแบรนด์พญางูกินเด็ก Autodelta กลายเป็นบริษัทจดทะเบียนในปี 1964 หลังจากย้ายสำนักงานหรืออู่เล็กๆ จากเมืองอูดิเนที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอิตาลีไปยังมิลานซึ่งสำนักงานใหญ่ของ Alfa Romeo ตั้งอยู่ใกล้กัน Autodelta ถูกครอบโดย Alfa Romeo ในปี 1965 เพื่อทำให้สำนักจูนรถแห่งนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของทีมแข่ง Alfa Romeo Works Racing
...
เป้าหมายของ Autodelta ถูกกำหนดโดยผู้บริหารระดับสูงของแบรนด์พญางู เพื่อพัฒนารถแข่ง TZ1 และ TZ2 Zagato แต่ CEO ของ Alfa ในห้วงเวลานั้น มีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะโปรโมตรถบ้านที่ใช้งานจริงจังบนท้องถนนในวันจันทร์-ศุกร์ และวันอาทิตย์ ก็สามารถคว้าชัยชนะในสนามแข่งรถได้ ดังนั้น Autodelta จึงต้องพัฒนา Giulia Sprint GT เวอร์ชันใหม่ เพื่อส่งลงทำการแข่งขันใน Group 2 ของ European touring Car Series ซีรีส์รถแข่งทัวริ่งสุดฮิตของยุโรป ในปี 1965 ที่งาน Autosalon ในอัมสเตอร์ดัม ในที่สุดผลงานของ Autodelta ก็ได้รับการเปิดเผยสู่สายตาชาวโลก นั่นคือ Giulia Sprint Gran Turismo Alleggerita หรือ GTA ที่สวยงามและเบาราวกับปุยนุ่น
...
...
พูดง่ายๆ ก็คือ การผลิต Giulia Sprint GTA แต่ละคัน จุดที่สำคัญมากที่สุดนอกจากเครื่องยนต์ ช่วงล่างและเบรกแล้ว การลดน้ำหนักได้สร้างดาวเด่นแห่งสนามแข่ง Sprint GT มีตัวถังทำจากชิ้นส่วนอะลูมิเนียมอัลลอยน้ำหนักเบาทั่วทั้งคัน มาตรการลดน้ำหนักอย่างเข้มงวด โครงตัวถังภายนอกทั้งชุด (ยกเว้นธรณีประตู) เปลือกประตูด้านนอก ฝากระโปรงหน้า-หลัง แผ่นเบี่ยงลม แผ่นรองรับแผงหน้าปัด ถาดยางอะไหล่ แผงด้านในส่วนหลัง ตัวยึดป้ายทะเบียน ออยล์คูลเลอร์ที่เป็นอุปกรณ์เสริม และแผงพื้นด้านหน้า ทั้งหมดนั้นทำจากอะลูมิเนียม ผลลัพธ์ที่ได้คือรถที่เบาหวิว Giulia Sprint GTA ลดน้ำหนักจากรถรุ่นมาตรฐานถึง 205 กิโลกรัม เพื่อให้ได้น้ำหนักเพียวๆ ที่ 745 กิโลกรัม
ที่น่าเหลือเชื่อยิ่งกว่านั้นคือ หลังจากที่ GTA แต่ละคันถูกสร้างขึ้นที่โรงงาน Arese ของ Alfa Romeo ทางตอนเหนือของมิลาน รถแข่งทุกคันจะถูกขนส่งไปยัง Autodelta ใน Settimo Milanese เพื่อการปรับตั้งขั้นสุดท้ายสำหรับเตรียมลงทำการแข่งขัน Alfa Giulia Sprint GTA ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สี่สูบแถวเรียง ขนาด 1570 ซีซี. เครื่องยนต์บล็อกอะลูมิเนียม ส่วนฝาครอบวาล์ว ฝาครอบเครื่องยนต์ด้านหน้า โครงกระดิ่ง ฝาครอบกระปุกเกียร์ด้านหลัง และบ่อน้ำมันทำจากโลหะผสมแมกนีเซียมที่เรียกว่า Elektron ส่วนประกอบทุกชิ้นของเครื่องยนต์มีความสมดุล มู่เล่เบาลงและติดตั้งเพลาข้อเหวี่ยงที่ทำจากเหล็กพิเศษ การปรับจูนเพิ่มเติม ได้แก่ การติดตั้งออยล์คูลเลอร์และถังดักน้ำมัน กระจกบังลมน้ำหนักเบา และการติดตั้งเฟืองท้ายลิมิเต็ดสลิปของ ZF ที่ทำจากเหล็กชนิดพิเศษ การปรับแต่งขั้นสุดท้ายด้วยระบบไอเสียแบบสั้นที่ตีท่อระบายออกทางด้านซ้ายใต้ฝั่งประตูคนขับ ย้ายตำแหน่งแบตเตอรี่ไปที่ท้ายรถ หลังจากการจูนนิ่งที่เข้มข้น รถแข่ง GTA ที่เคยมีกำลัง 160 แรงม้า เพิ่มขึ้นเป็น 175 แรงม้า
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีล้ำหน้าทั้งหมดนั้นไม่ได้ราคาถูก และการเปลี่ยนแปลงของ Autodelta ก็เพิ่มราคาให้กับ Giulia Sprint GT มาตรฐานถึง 100% นั่นหมายความว่ามีเพียงลูกค้าที่รักที่สุดของ Alfa เท่านั้นที่ได้รับโอกาสในการซื้อ GTA ส่งผลให้รถรุ่นนี้หายากอย่างไม่น่าเชื่อ โดยรวมแล้ว ประมาณกันว่ามี GTA ถูกสร้างขึ้นระหว่าง 325 ถึง 500 คันในซีรีส์แรก โดยมีเพียง 25 คันที่เป็นรถยนต์ดั้งเดิมจากโรงงานของ Autodelta ในปี 1968 มีการเปิดตัวคลาสใหม่ของการแข่งขัน European Touring Car Championship หรือที่รู้จักในชื่อ Group 5 กฎข้อบังคับใหม่ หมายความว่า ทีมแข่งสามารถใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ 1.6 ลิตร ซูเปอร์ชาร์จได้ รถ GTA ที่ติดตั้งระบบอัดอากาศซุปเปอร์ชาร์จจะมีชื่อว่า GTA-SA 'sovra alimentata' ซึ่งแปลว่า 'ซุปเปอร์ชาร์จ' ในภาษาอิตาลี บันทึกของบริษัทฯ แสดงให้เห็นว่ามี GTA SA 'sovra alimentata' เพียงประมาณ 6 คันเท่านั้นที่เคยลงทำการแข่งขัน European Touring Car Championship เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร ซุปเปอร์ชาร์จมีกำลังเพิ่มขึ้น 60 แรงม้า เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ที่ไม่มีซุปเปอร์ชาร์จ แต่กำลังพิเศษนั้นต้องแลกมาด้วยความกระหายเชื้อเพลิงอย่างไม่น่าเชื่อ
ปี 1968 Giulia Sprint GTA SA 'sovra alimentata' ลงแข่งด้วยเครื่องยนต์ซุปเปอร์ชาร์จอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือรายการใหญ่ Nürburgring Six Hours ซึ่งขับโดยนักขับรถของ Alfa, Lucien Bianchi, Nino Vaccarella และ Mario Casoni นักแข่งทั้งสามคนอยู่ในอันดับต้นๆ ของรายการแข่งระยะไกลแบบเอนดูลานซ์ เนื่องจาก Vacarella เคยคว้าชัยใน 24 Hours of Le Mans ขณะที่ Bianchi ก็เคยชนะใน Le Mans เพียงสองเดือนหลังจากลงขับใน Alfa คันเล็ก และ Casoni ก็ขึ้นโพเดี้ยมที่ Le Mans ในปี 1972 นักแข่งทั้งสามคนสามารถคว้าอันดับที่ 5 โอเวอร์ออล ได้อย่างน่าประทับใจด้วยรถ GTA-SA แต่การแข่งขันที่เน้นความทนทานของรถพิสูจน์ให้เห็นว่าความเร็วที่เพิ่มขึ้นของ SA ไม่สามารถชดเชยตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงอันมหาศาลของมันได้
เริ่มต้นฤดูกาลปี 1969 ปัญหาตะกละเชื้อเพลิงทำให้หลายทีมต้องทิ้งเครื่องยนต์ซุปเปอร์ชาร์จจอมยกซด GTA SA ยังคงลงแข่งในรายการ European Touring Car Championship สามรายการ Ignazio Giunti ขับ GTA ขึ้นเป็นที่หนึ่งในกลุ่ม 2 ที่ Belgrade GP ในขณะที่ Andrea de Adamich และ Spartaco Dini คว้าอันดับที่หนึ่งได้อีกครั้งที่ Nürburgring Six Hours ชัยชนะทั้งสองครั้งช่วยให้ Alfa คว้าแชมป์ Constructor's and Driver's Championships
รถ Alfa คันจิ๋วนี้ไม่เพียงแต่ประสบความสำเร็จในช่วงเวลาดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังครองตำแหน่งแชมป์และถูกบันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ของวงการมอเตอร์สปอร์ต ทุกวันนี้ Alfa Romeo Giulia Sprint GTA เป็นหนึ่งในรถแข่งที่หายากและเป็นที่ต้องการมากที่สุดเมื่อเทียบกับรถแข่งในทีมโรงงานของ Alfa Romeo
รูปทรงและหน้าตาของรถ Alfa Romeo Giulia Sprint GTA มองดูคล้ายกับนกเค้าแมวที่กำลังบินร่อนหาเหยื่อในยามคำ่คืน เอกลักษณ์สำคัญคือกระจังหน้ารูปสามเหลี่ยม ติดเครื่องหมายเก่าแก่ของบริษัทคือรูปงูที่กำลังกลืนกินมนุษย์ (เครื่องหมายรูปงูกินคนนี้ นักเลงรถ ALFA ในบ้านเรามักเปรียบเหมือนงูที่กำลังกินเจ้าของรถ เนื่องจากรถ ALFA ในเมืองไทยอาจมีปัญหาจากระบบต่างๆ ที่ไม่ค่อยเหมาะสมกับสภาพ อากาศแบบเมืองร้อนในบ้านเรา) พร้อมกับกระจังในแนวนอนยาวจนมาจรดกับไฟหน้า Alfa Romeo Giulia Sprint GTA ไม่มีช่องดักอากาศขนาดใหญ่ หรืออุปกรณ์แอร์โรแอคทีฟแบบ FERRARI หรือ LAMBORGHINI เนื่องจากมันเป็นรถเครื่องวางด้านหน้า มีแต่เพียงช่องเล็กของกระจังหน้าเท่านั้นที่เอาลมไประบายความร้อนในห้องเครื่อง แนวหลังคาโค้งมน ไฟท้ายทรงกลมดวงใหญ่ข้างละหนึ่งดวงและท่อไอเสียด้านข้างใต้บานประตูฝั่งคนขับ (พวงมาลัยซ้าย) ด้านท้ายแบบตูดปอดยอดขุนพล มองดูเหมือนกับรถคลาสสิกในยุค 1970 ซึ่ง ZAGATO จงใจออกแบบมาให้ดูเป็นรถทรงท้ายตัดแบบย้อนยุค.