ล็อกฮีด ยู-2 ภาพโดย codeonemagazine

ล็อกฮีด ยู-2 เครื่องบินสายลับที่ดังที่สุดในช่วงสงครามเย็น และ 12 เรื่องที่ถูกรวบรวมมาว่าเป็นสิ่งที่ ยู-2 ไม่เหมือนเครื่องบินลำใด สายลับเหินเวหาผู้ปิดทองหลังพระในหลายวิกฤตการณ์ 1 ในมรดกยุคสงครามเย็นที่ยังอยู่ถึงวันนี้...

ในยุคสงครามเย็นที่โลกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ โลกเสรี และโลกคอมมิวนิสต์ การเผชิญหน้ากันทางทหารเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทั้ง 2 ฝ่ายต่างพยายามทำทุกทางเพื่อให้รู้ข้อมูลของอีกฝ่าย เพื่อใช้ในการวางแผนยุทธศาสตร์​ และการหาข่าวกรองที่เกี่ยวกับที่ตั้งทางทหาร สนามบิน และฐานยิงขีปนาวุธของโซเวียตเป็นสิ่งที่สหรัฐฯอยากรู้มาก แต่จะทำอย่างไรเพื่อที่จะให้ได้ภาพเหล่านั้นมา เครื่องบินลาดตระเวนสอดแนม (Reconnaissance Aircraft) หรือ เครื่องบินสายลับ อย่าง Lockheed U-2 (ล็อกฮีด ยู-2) จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องบินสอดแนมถ่ายภาพจากระดับสูง


ยู-2 เป็นเครื่องบินจารกรรมที่ออกแบบมาเพื่อบินสูงเป็นพิเศษในช่วงทศวรรษที่ 50 และเป็นเครื่องบินที่เป็นความลับสุดยอดแบบหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ที่ออกแบบโดยเคลลี่ จอห์นสัน และทีมงานสกั๊งค์เวิร์คส์ของบริษัทล็อกฮีด โดยหัวใจสำคัญ คือ ออกแบบมาให้บินในระดับสูงได้มากกว่า 21,000 เมตร ขึ้นไป มีลักษณะเหมือนเครื่องร่อนติดเครื่องยนต์ ด้วยการออกแบบให้มีปีกยาว และลำตัวเล็กบางเพื่อลดน้ำหนัก และติดตั้งเครื่องยนต์สามารถทำงานในทีมีอากาศเบาบางได้ และต้องบินได้นาน เพื่อบินข้ามทวีปเข้าไปในพื้นที่ของประเทศรัสเซียได้ลึกมากที่สุด โดยในช่วงแรกฝ่ายโซเวียตสามารถจับได้ถึงการรุกล้ำน่านฟ้าเข้ามาของ ยู-2 แต่เครื่องบินขับไล่ไม่สามารถบินขึ้นไปยิงยู-2 ให้ร่วงได้ ได้แต่ทิ้งความเจ็บใจให้นายพลของโซเวียต ที่ได้แต่มองจุดบนเรดาร์ที่จับเครื่องบิน ยู-2 ได้แบบตาปริบๆ

แม้จะประท้วงสหรัฐฯไปว่ามีการรุกล้ำน่านฟ้า สหรัฐฯก็ปฏิเสธและปัดถึงการส่งเครื่องบินเข้าไปจารกรรมข้อมูลเหนือน่านฟ้าโซเวียต แต่ในที่สุดโชคของอเมริกาก็หมดลง เมื่อ ยู-2 ถูกเปิดเผยต่อชาวโลกเป็นครั้งแรก จากการที่ถูกยิงตกในสหภาพโซเวียต โดยระบบอาวุธป้องกันภัยทางอากาศแบบใหม่ ที่เพิ่งพัฒนาได้สำเร็จในตอนนั้น ขีปนาวุธพื้น-สู่-อากาศ (SAM) SA-2 ไกด์ไลน์ เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ปี 1960 โดยโซเวียดสามารถจับนักบินของยู 2 ที่ชื่อ แกรี่ พาวเวอร์ส ในฐานะสายลับของซีไอเอได้ด้วย พร้อมถ่ายภาพทำข่าวเผยแพร่ไปทั่วโลก ทำให้ซีไอเอและรัฐบาลสหรัฐฯหน้าแตกยับเยิน 

หลังจากนั้นมา กองทัพอากาศสหรัฐฯ และซีไอเอก็ใช้ ยู-2 บินเข้าไปในประเทศคิวบา ในช่วงวิกฤตการณ์คิวบา โดยสามารถถ่ายภาพที่ตั้งฐานยิงขีปนาวุธพื้น-สู่-พื้น หัวรบนิวเคลียร์ของโซเวียตได้ และเป็นภาพหลักฐานสำคัญที่อเมริกาใช้โต้แย้งข้อปฏิเสธของโซเวียต ที่ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ตั้งขีปนาวุธไว้ในคิวบา จนทำให้สถานการณ์วิกฤตการณ์ ที่เกือบจะกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ผ่อนคลายคงในที่สุด

รัฐบาลสหรัฐฯ ยังใช้ ยู-2 บินสอดแนมอีกหลายประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน (โดยนักบินไต้หวัน) เวียดนาม และประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ ด้วยเพดานบินที่สูงเป็นพิเศษที่สูงกว่าเครื่องบินขับไล่ทั่วไปในช่วงสมัยสงครามเย็น แต่สุดท้ายถูกยิงตกได้โดยจรวดแซมในที่สุด ในโอกาสนี้ นิตยสารโค้ดวันได้นำเสนข้อมูลที่น่าสนใจ เกี่ยวกับเครื่องบินสายลับที่ดังที่สุดในช่วงสงครามเย็น และ 12 เรื่องที่ถูกรวบรวมมาว่าเป็นสิ่งที่ ยู-2 ไม่เหมือนเครื่องบินลำใด โดยทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้รวบรวมมาตาม 12 ข้อ ดังนี้ 

ชมคลิป

...



1.ชื่อเรียกเครื่องบิน 
U-2 (ยู-ทู) มีชื่ออย่างเป็นทางการที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ (USAF) ใช้เรียกเครื่องบินสอดแนม U-2 คือ 'ดรากอนเลดี้' (Dragon Lady) ที่มาของชื่อนี้ต้องย้อนกลับไปที่การ์ตูนเทอร์รี่และโจรสลัด ที่เขียนโดย มิลตัน คาร์นิฟ ที่ออกมาเมื่อปี 1930 เครื่องบินลำนี้บางครั้งยังถูกเรียกว่า "ผีสาง" หรือ บางครั้งก็เรียกว่า "เทวดา"

2.ข้อมูลจำเพาะ
เครื่องบิน U-2 มีน้ำหนักเปล่าที่ 17,000 ปอนด์ และมีน้ำหนักวิ่งขึ้นสูงสุดที่ 40,000 ปอนด์ ปีกยาว 103 ฟึต มีความยาวตลอดลำตัว 63 ฟุต สูงจากพื้นถึงหางดิ่ง 16 ฟุต ความเร็วมัธยัสถ์ 475 ไมล์ต่อชั่วโมง ระวางบรรทุก 5,000 ปอนด์ มีพื้นที่เก็บสัมภาระ 310 ตารางฟุต บินได้นานที่สุด 12 ชั่วโมง ระยะในการบิน 6,000 ไมล์ทะเล ติดตั้งเครื่องยนต์ที่ใช้เป็นแบบ เจเนอรัล อีเล็กทริก รุ่น F118-GE-110 ให้แรงขับเคลื่อน 17,000 ปอนด์ จำนวน 1 เครื่อง

3.ฐานปฏิบัติการ
บ้านของ ยู-2 อยู่ที่ ฐานทัพอากาศเบเกิล รัฐแคลิฟอร์เนีย ฝูงบินสอดแนมที่ 1 และยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมนักบินและซ่อมบำรุง U-2 อยู่ร่วมกับฝูงบินสอดแนมที่ 99 ฝูงบินสอดแนมที่ 5 เกาหลีใต้ และไซปรัส รับผิดชอบพื้นที่ภูมิภาคทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้านตะวันออก เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ฝูงบินปฏิบัติการเฉพาะกิจที่ 99 และที่ปาล์มเดลล์ แคลิฟอร์เนีย เป็นศูนย์ทดสอบการบิน อัพเกรด และโครงการซ่อมบำรุง


4.จำนวนเครื่องที่มีอยู่

มีเครื่องบิน U-2 ทั้งหมด 34 ลำ รวมทั้งแบบ 2 ที่นั่งที่ใช้ฝึกบินอีก 5 ลำ และ อีก 2 ลำที่เป็นรุ่น ER-2 ใช้งานโดยองค์การนาซา

5.อายุการใช้งาน
เครื่องบิน U-2 ที่ใช้งานอยู่ ขณะนี้ ส่วนมากสร้างขึ้นในช่วงหลังปี 1980 โดยทั้งฝูงบินมีอายุการใช้งานเหลืออยู่ประมาณ 80%

6.ระบบตรวจจับ การสื่อสาร และและการป้องกันตัวเอง
เครื่องบินสอดแนม U-2 สามารถรวบรวมภาพถ่ายได้จากหลายช่องทาง ทั้งภาพดิจิตอล ภาพจากเรดาร์ และการถ่ายภาพแบบดั้งเดิมด้วยกล้องฟิล์มที่ผ่านกระบวนการล้างอัดด้วยน้ำยา บนเครื่องบินสอดแนมชนิดนี้มีระบบการสื่อสารได้หลายคลื่นความถี่ และระบบตรวจจับที่มากมายบนเครื่อง ที่สามารถส่งข้อมูลที่รับจากเซ็นเซอร์ได้ในทันที และ เครื่องบิน U-2 ยังติดตั้งระบบต่อต้านและก่อกวนทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อป้องกันตัวเองด้วย

...


7.ตำแหน่งของเซ็นเซอร์ตรวจจับ

เครื่องบินมีช่องใส่อุปกรณ์ที่บริเวณจมูกด้านหน้า และช่องใต้ลำตัวของเครื่องบินที่สามารถติดตั้งเซ็นเซอร์ได้หลายรูปแบบ และยังสามารถติดตั้งบนกระเปาะขนาดใหญ่บนปีกทั้ง 2 ข้าง (ซุปเปอร์พ็อด) และกระเปาะเสริมบนลำตัวเพิ่มได้อีก

8.การอัพเกรดเครื่องที่มีนัยสำคัญ
นับตั้งแต่เข้าประจำการ เครื่องบิน U-2 มีการปรับปรุงอุปกรณ์หลายอย่างเพื่อให้มีความทันสมัย และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เครื่องยนต์เทอร์โบแฟน แบบเจเนอรัล อิเล็กทริก F118 (1994) เซ็นเซอร์ Remote Airborne ของเรธีออน หรือ RAS-1R อุปกรณ์ ตรวจจับหาข่าวผ่านคลื่นวิทยุ (2001) ปรับปรุงห้องนักบินใหม่ให้เป็นแบบ Glass cockpit (2003) BAE AN/ALQ 221 defensive suite ที่เป็นระบบเรดาร์แจ้งเตือนภัยและระบบต่อต้านภัยคุกคาม (2005) เรดาร์ที่ติดตั้งบริเวณจมูกเครื่องบิน แบบ Raytheon Advanced Synthetic Aperture Radar System หรือ ที่รู้จักในชื่อ ASARS-2A (2005) ระบบดาต้าลิงก์แบบ Dual Datalink 2 (2005) Power Upgrade (2006) ชุดดักข่าวกรองคลื่นความถี่วิทยุ แบบ Northrop Grumman AN/ASQ-230 (2008) การติดตั้งระบบห้องนักบินที่ช่วยลดแรงกดดันเมื่อบินในระดับสูง (Cockpit Altitude Reduction Effort) หรือ CARE (2013) ทำให้นักบินสบายมากขึ้นเมื่อบินในระดับสูงมากๆ โดยห้องนักบินจะมีความกดอากาศเหลือแค่ระดับความสูง 1,500 ฟุต ทำให้นักบินไม่ป่วยเมื่อต้องบินในระดับความสูงมากๆ และการติดตั้งกล้องถ่ายภาพ Senior Year Electro-Optical Reconnaissance System หรือ SYERS-2C ของ United Technologies Aerospace Systems (2014) ที่ใช้เซ็นเซอร์จับภาพจากระดับความสูงมากๆ ด้วยความถี่ที่หลากหลาย รวมทั้งการสร้างภาพขึ้นจากรังสีอินฟราเรด

...


9.ระดับความสูงที่เครื่องบิน U-2 ใช้บิน

ระดับความสูงที่เครื่องบิน U-2 สามารถรักษาเพดานบินไว้ได้อยู่ที่มากกว่า 7 หมื่นฟุต ตามที่กองทัพอากาศระบุ โดยการบินในระดับสูงถือเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของเครื่องบินสอดแนมรุ่นนี้ โดยมีอัตราการไต่เพดานบินถึง 60,000 ฟุตได้ในเวลา 1 ชั่วโมง

10.ชุดปรับแรงดัน
แม้นักบินเครื่องบินรบทุกคนจะใส่ชุดนักบินพร้อมจี-สูท เพื่อป้องกันการที่เลือดไหลไปรวมตัวที่เท้า เมื่อต้องบินเลี้ยววงแคบ แต่สำหรับ U-2 ที่ต้องบินสูงเกือบออกอวกาศจีสูทไม่จำเป็น เพราะนักบินของ U-2 จะใส่ชุดปรับแรงดัน หรือ (Pressure Suit) ที่เป็นชุดสีส้ม เหมือนที่นักบินอวกาศสหรัฐฯใส่ตอนขึ้นกระสวยอวกาศ ชุดนี้เรียกว่า S1034 ทำหน้าที่เหมือนห้องนักบินชั้นที่ 2 ป้องกันนักบินจากอาการป่วย ที่เกิดจากความกดอากาศดันที่ลดต่ำเมื่อต้องบินในระดับสูงๆ เป็นเวลานานๆ หรือหากต้องสละเครื่องบิน โดยจะให้ความดันอากาศที่ 3.5 ลบ.ปอนด์ และออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% ให้กับนักบินกรณีที่ห้องนักบินสูญเสียความดัน

ชมคลิป

...

11.การวิ่งขึ้นและลงจอด
เครื่องบิน U-2 มีล้อแบบจักรยาน ได้แก่ ล้อหลักบริเวณลำตัว และล้อเล็กๆ อยู่ด้านท้ายลำ และเมื่ออยู่บนทางขับขณะแท็กซี่เตรียมวิ่งขึ้นจะมีล้อเสริมอยู่ที่ปลายปี ทั้ง 2 ข้างเรียกว่า Pogos (โปโกส์) เมื่อเครื่องบินวิ่งขึ้นในจังหวะที่เชิดหัวลอยขึ้นล้อที่ปีกจะหลุดออก และจะถูกนำมาติดใหม่เมื่อเครื่องบินกลับมาลงจอดแล้ว และเวลาที่ลงจอด U-2 จะมีรถยนต์ที่ปรับแต่งมาให้วิ่งด้วยความเร็วสูงขับไล่ตามหลัง โดยคนในรถวิ่งตามจะได้วิทยุบอกนักบินได้ถึงระยะห่างจากพื้น และทิศทางที่ถูกต้อง เพื่อนำเครื่องลงได้อย่างปลอดภัย

12.ภารกิจที่น้อยคนจะรู้
เนื่องจากมันถูกออกแบบมาให้เป็นเครื่องบินสายลับ คอยดักฟังข้อมูลข่าวสารและถ่ายภาพที่ตั้งกำลังทหารของข้าศึกจากระดับสูง แต่ใครจะรู้บ้างในยามสงบเจ้า U-2 ยังเป็นวงดนตรีเพลงร็อก… ไม่ใช่ครับ ยังทำหน้าที่บินสำรวจเพื่อสนับสนุนข้อมูลและภาพถ่าย เมื่อเกิดภัยพิบัติ อาทิ น้ำท่วม แผ่นดินไหว และไฟป่า หรือ แม้แต่ภารกิจการค้นหาและกู้ภัย นอกจากนี้ องค์การนาซายังนำ U-2 ในชื่อ NASA ER2 ไปใช้บินศึกษาชั้นบรรยากาศในระดับสูงอีกด้วย.

ที่มา : codeonemagazine

เรื่องและภาพโดย อีริค เฮนส์ บรรณาธิการนิตยสาร CodeOne และ มอลลี่ ฮอว์สเวลล์