แมวจรจัด หากนับว่าเป็น “ปัญหา” ก็ถือว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากที่เขาไม่มีบ้านหรือที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง เร่ร่อนจรจัด คุ้ยเขี่ยหาเศษอาหารที่วางทิ้งอยู่ทั่วไป ชีวิตไม่เคยเฉียดใกล้คำว่าวัคซีน อ้อมกอดของมนุษย์นะหรือ? อย่าหวังว่าจะได้สัมผัส นับวันยิ่งเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ เพียงเพราะไม่เคยทำหมัน ออกลูกออกหลานมาก็กลายเป็นแมวจรจัดเพิ่มขึ้นทวีคูณ รอวันให้ทางการจับไปกักขัง และทำให้เสียชีวิตอย่างสงบในที่สุด
หากเราหันมองประเทศรอบตัวและมองมุมกลับในบางเรื่อง เรากลับพบว่า ญี่ปุ่นมีเกาะแมวที่สร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้กับประเทศมากกว่า 10 เกาะ จับแมวมาโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นจุดขายให้กับเมืองนั้นๆ จนสร้างรถไฟสายแมว ขายของที่ระลึก กระตุ้นเศรษฐกิจเมืองที่เคยซบเซาให้กลับมาคึกคักอย่างเมือง Wakayama ที่แทบจะปิดสายรถไฟเพราะไม่มีคนเดินทางไปเยือน จนเขาปั้นแมวสามสีตัวหนึ่งเป็นนายสถานีให้โด่งดัง ผู้คนจากทั่วโลกก็เดินทางไปเยี่ยมชม เกษตรกรของเมือง Wakayama ก็พลิกฟื้นผลไม้ประจำเมืองอันได้แก่ ลูกพลับ สตรอเบอร์รี่ เมล่อน เลมอน ให้คนเข้าไปเก็บเกี่ยว ท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้อีก
หรือที่สิงคโปร์เมืองที่ขึ้นชื่อว่ารักความสะอาดมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกก็มี “มิวเซียมแมว” สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ
...
ประเทศที่อยากกล่าวถึงในรอบนี้คือ ตุรกี ที่มีเมืองชื่อ อิสตันบูล ถูกขนานนามให้เป็นเมืองหลวงแห่งแมว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะที่นี่ประชากรของเขานับถือศาสนาอิสลาม และแมวถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เนื่องด้วยถูกกล่าวถึงพร้อมกับศาสดาของศาสนาอยู่บ่อยครั้ง ทำให้แมวกลายเป็นสัตว์ที่ชาวเมืองให้ความเอื้อเฟื้อ ช่วยกันดูแล ให้อาหาร พาไปทำวัคซีน ทำหมัน ให้ที่อยู่อาศัย พักพิง ให้อิสระต่อแมวที่อยากวิ่งเข้าออก เดินอวดโฉมไปทั้งเมือง แทนที่จะเลือกกำจัดให้พ้นทาง ผู้คนของเขาเลือกที่จะให้อิสระกับแมว จนเป็นที่มาของหนังสารคดีเรื่อง Kedi ที่แปลว่า “แมว” โดย เจดา โทรุน และ ชาร์ลี วัปเปอร์มานน์ ผู้กำกับของเรื่องนี้ได้ร่วมมือกับนักวิจัยเกี่ยวกับแมว เดินทางไปทั่วอิสตันบูลเพื่อศึกษาและวิจัยพฤติกรรมแมวของเมืองนี้ จนออกมาเป็นหนังสารคดีแมว เพื่อให้ผู้คนได้ซึมซับความรู้สึกลึกซึ้งของแมว ที่มีทั้งความรัก ความสูญเสีย ความสุข ความเดียวดาย การเป็นผู้รับผู้ให้จากหนังเรื่องนี้
โดยเขาได้เลือกแมวตัวเอกประจำเมืองขึ้นมา 7 ตัวเป็นผู้ดำเนินเรื่อง แล้วติดตามชีวิตของพวกแมวเหล่านี้ ว่าตัวไหนคือจ่าฝูง ตัวไหนคือนักรักประจำเมือง ตัวไหนคือนักล่าขาโหด ตัวไหนคือผู้ปกป้อง ถนนไหนย่านใดใครคุม ซึ่งหนังสารคดีเรื่องนี้ได้รับความนิยมในหมู่คนชอบหนังสารคดี ไปคนถึงคนรักแมว ได้เป็นอย่างดี ความละมุนของหนังเรื่องนี้ยังละเอียดอ่อนไปจนถึงเพลงประกอบที่มีเสียงดนตรีละมุนละไมทำให้เราเคลิบเคลิ้มไปกับแมวและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับเหล่า Kedi พวกนี้ได้ตลอดทั้งเรื่อง
หากใครสนใจหนังเรื่องนี้เมืองไทยกำลังมีเข้าฉาย โดยเริ่มเปิดจองบัตรแล้ว! (เฉพาะ SF สาขาเซ็นทรัลเวิลด์) และเข้าฉายทุกโรงในเครือ SF นะคะ ลองตีตั๋วไปสัมผัสความแมวกันได้นะคะ ตั้งแต่ วันที่ 8 มิถุนายนนี้ ค่ะ
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ที่เกริ่นมา นัชญ์ต้องการจะสื่อให้เห็นว่า ถ้าเรามองมุมกลับ หรือพลิกวิธีการมอง เลือกวิธีการสื่อสารออกไป ก็สามารถพลิกชีวิตให้แมวจรจัดได้ และมีทางออกที่หลายคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้นั่นเอง
...
ประเทศไทยของเรามีจำนวนคนรักแมวมาก และมีปริมาณแมวจรจัดมากเช่นกัน เราลองมาหาทางออกให้กับแมวจรของประเทศเรากันบ้างดีไหมคะ อย่างเช่นในหมู่คนรักแมวที่นัชญ์ได้ยินมา เกาะหลีเป๊ะ หรือไร่เลย์ กระบี่ นี่ แมวจรเยอะมากเลยนะคะ แต่ได้รับความนิยมจากคนรักแมวเดินทางไปพิสูจน์กันเยอะเลย
เอ๊ะ! หรือนี่จะกลายเป็น Cat Destination ให้เมืองไทยได้นะ
สำหรับใครที่มีคำถามเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง หรืออยากเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ต่างๆ มาแลกเปลี่ยนกันได้ที่อีเมลนี้ talktoceleb@trendvg3.com ค่ะ รวมถึงช่องทางต่างๆ จากเพจทูนหัวของบ่าว
Facebook : ทูนหัวของบ่าว
Instagram : Kingdom Of Tigers