“กบข.” ตั้งบริษัทลูกบริหารกองทุนแข่ง “บลจ.”
กระทรวงการคลังลุยแก้กฎหมาย กบข. เพื่อให้สามารถจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อไปบริหารกองทุนต่างๆ แข่งขันกับ บลจ. ด้วยประสบการณ์ที่โชกโชน การันตีนำร่องที่ กบช.ตั้งเป้าหมายให้ข้าราชการพนักงานบริษัทสามารถดำรงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลังเกษียณอายุ
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยในงานประชุมนานาชาติ เรื่องระบบบำนาญและการลงทุนว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขกฎหมายของ กบข. ในการเพิ่มช่องทางเข้าไปบริหารกองทุนอื่นๆ เหมือนกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ได้ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนแก่สมาชิก กบข. และให้ กบข.เป็นกลไกสำคัญในการทำหน้าที่สร้างรายได้แก่ประชาชนหลังเกษียณอายุในกรณีที่เป็นสมาชิกกองทุนอื่นๆ ที่ กบข.เข้าไปบริหาร เนื่องจาก กบข.มีประสบการณ์ลงทุนในตลาดหุ้น ตลาดทุน อสังหาริมทรัพย์ มาเป็นเวลา 20 ปี จึงมีศักยภาพในการบริหารที่ดี
“ขณะนี้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ก็เห็นด้วยกับการแก้กฎหมายเพื่อให้ กบข.เพิ่มช่องทางในการเข้าไปบริหารกองทุนอื่นๆได้เช่นเดียวกับ บลจ. เนื่องจากที่ผ่านมา กบข.ถือเป็นกองทุนที่มีศักยภาพ จนสมาชิกได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจ โดยเฉพาะสมาชิกข้าราชการที่เกษียณอายุยังมีรายได้ในระดับ 60-70% ของรายได้ก่อนเกษียณ สูงกว่าเกณฑ์องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศของยุโรป ได้กำหนดเกณฑ์รายได้ประชากรหลังเกษียณอายุ ต้องอยู่ที่ 50% ของรายได้ก่อนเกษียณ
ทั้งนี้ หลังจากที่แก้กฎหมาย กบข.แล้ว กองทุนที่เหมาะสมที่จะเข้าไปร่วมแข่งขันในการบริหารได้ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ที่เป็นกองทุนภาคบังคับ ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการทุกรายที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป ต้องตั้งกองทุนให้กับลูกจ้างและจะต้องนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน กบช. เช่นเดียวกับข้าราชการสมาชิก กบข. คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในเดือน ม.ค.2561
...
นายสมชัยกล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทย ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ในการเข้าไปดูแลผู้สูงอายุหลังเกษียณ เพราะที่ผ่านมาพบว่ารายได้เฉลี่ยของพนักงานบริษัท ที่อยู่ในระบบประกันสังคมบางราย มีรายได้หลังเกษียณอายุเพียง 20% ของรายได้ก่อนเกษียณ ต่างจากข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข.ที่มีรายได้เฉลี่ย 60-70% ทำให้กระทรวงการคลังต้องปฏิรูปกองทุนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้ผลตอบแทนหลังการเกษียณอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้สูงขึ้นเพียงพอต่อการดำรงชีพ
“ล่าสุดได้มีการแก้ไขกฎหมายกองทุนประกันสังคม ให้เพิ่มเงินสมทบจาก 5% เป็น 10% เพื่อให้รายได้หลังการเกษียณอยู่ในสัดส่วนใกล้เคียง 50% ถือเป็นระดับที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมถึงเพิ่มช่วงอายุของผู้ออมจาก 55 ปี เป็น 60 ปี ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา”
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า การเข้าไปบริหารกองทุนอื่นๆของ กบข. จะต้องมีการจัดตั้งบริษัทลูก ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ไปบริหารงานกองทุนต่างๆ โดยบุคลากรจะเน้นทีมงานเดิมเป็นหลัก เนื่องจากมีศักยภาพและเชี่ยวชาญการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เห็นได้จาก 20 ปีที่ผ่านมาสามารถสร้างผลตอบแทนแก่สมาชิก กบข.เฉลี่ย 6.6% สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยเงินฝากในขณะนี้ คาดว่า กบข.จะเริ่มเข้าไปแข่งขันในการบริหารกองทุน กบช.ก่อนในปีหน้า
“ในปีนี้ กบข.สามารถสร้างผลตอบแทนแก่สมาชิกได้ 5.1% สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ จะให้มีผลตอบแทนสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ 2.5% และเป็นการสร้างผลตอบแทนเป็นบวกติดต่อกันเป็นปีที่ 8 โดยปัจจัยหลักๆมาจากส่วนหนึ่งตลาดหุ้นไทย ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก”.