“ประเทศไทย 4.0” หรือ “Thailand 4.0” เป็นแนวทางใหม่ที่จะเริ่มขับเคลื่อนประเทศไปสู่ยุคแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ หรือยุคที่ 4 ไปพร้อมๆ กับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป หลังจากที่ประเทศ ไทยเข้าสู่ยุคที่ 3 ผ่านโครงการ Eastern Seaboard ตั้งแต่ปี 2525 ถึงปัจจุบัน

“Thailand 4.0” จะดำเนินการผ่านกลไกสำคัญ 3 ด้าน คือ กลไกแรก เน้นขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม ปัญญา เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้โดดเด่นบนเวทีโลก (Competitive Growth Engine) เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างการหารายได้ของประเทศ ธุรกิจ และประชาชนจากการทำงานมากได้เงินน้อย มาเป็นทำงานน้อยได้เงินมาก โดยเติมเต็มปัญญา เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Economy) ผ่านผู้ประกอบการที่เน้นขับเคลื่อนธุรกิจโดย นวัตกรรม (Innovation Driven Entrepreneur หรือ IDE)

กลไกที่สอง เน้นกระจายรายได้ โอกาส และความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียมในสังคมและเศรษฐกิจ (Inclusive Growth Engine) เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างการแบ่งปันรายได้ของภาคส่วนต่างๆ ของระบบเศรษฐกิจ และสังคมไทย จากการรวยกระจุกเป็นรวยกระจาย โดยส่งเสริมการกระจายรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้เกิดขึ้นทุกภาคส่วน ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อนำไปสู่ “สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน” (Inclusive Society) สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ต้องการขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ของคนไทย

กลไกสุดท้าย เน้นพัฒนาและใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth Engine) เพื่อเปลี่ยนจากการพัฒนาไม่สมดุลที่สร้างปัญหากับสิ่งแวดล้อม เป็นการพัฒนาที่สมดุล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งการดูแล เยียวยา ฟื้นฟู และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อสังคมไทย เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนผ่านการส่งเสริมธุรกิจสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Business) ให้มีมากขึ้น เพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทยเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่ดูแลสิ่งแวดล้อม (Green Economy) ตามกระแสโลกที่ปรับตัวให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น.

...

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ