สัปดาห์หน้าจะมีงาน มอเตอร์โชว์ ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะยุโรปเปิดตัวรถใหม่ที่เป็น “ปลั๊กอินไฮบริด” กันหลายรุ่น รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด แตกต่างกับ รถยนต์ไฮบริด ทั่วไปก็คือ รถยนต์ปลั๊กอิน ไฮบริด ใช้ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ซึ่งเป็น แบตเตอรี่รุ่นใหม่ เป็นแบตเตอรี่ที่ใช้ใน รถยนต์ไฟฟ้า ในอนาคต สามารถเสียบปลั๊กชาร์จไฟ เข้าแบตเตอรี่จากไฟบ้านหรือสถานีชาร์จไฟได้ แต่ รถยนต์ไฮบริดเป็นรถที่ใช้ แบตเตอรี่รุ่นเก่า ไม่สามารถชาร์จไฟบ้านหรือสถานีชาร์จไฟได้
แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน จึงเป็น “หัวใจ” ของ รถยนต์ไฟฟ้า ในอนาคต
เมื่อวันจันทร์ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีอุตสาหกรรม ไปพูดในที่ประชุมใหญ่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่า วันที่ 28 มีนาคมนี้ จะเสนอแพ็กเกจการส่งเสริมการลงทุน “อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต” ต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของ ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะ “ยานยนต์ไฟฟ้า” หรือ “EV” ซึ่งมีการหารือกับผู้ผลิตชั้นนำระดับโลกแล้ว 4–5 ราย โดยกำหนดให้ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) เป็นพื้นที่รองรับ
ก่อนหน้านี้ คุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีคลัง ก็ได้เรียกหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการผลิต ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (BEV) ให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด เพราะมีคู่แข่งคือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ที่ต้องการดึง อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ไปลงทุนในประเทศเช่นเดียวกัน ถ้ามาตรการของไทยช้าและ “ไม่โดนใจ” อาจถูกแย่งนักลงทุนไปได้
มาตรการที่ รัฐบาลไทย จะส่งเสริม อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ก็คือ ให้บีโอไอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี บวกอีก 5 ปี รวมเป็น 13 ปี เมื่อได้รับการอนุมัติแล้วผู้ประกอบการต้องลงทุนสร้างโรงงานผลิตและชิ้นส่วนภายใน 2 ปี ในช่วงที่กำลังก่อสร้างโรงงาน ผู้ลงทุนสามารถนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปเข้ามาจำหน่าย โดยได้รับการ ยกเว้นภาษีนำเข้า และ ยกเว้นภาษีสรรพสามิต แปลไทยเป็นไทยคือ ไม่ต้องเสียภาษีเลย
...
ทั้งนี้ รัฐบาลมีเงื่อนไขสำคัญกำกับไว้ด้วย คือ ผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีจากบีโอไอในโครงการนี้ ต้องเข้ามา “ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่” ในไทยด้วย เพราะ “หัวใจ” ของ “รถยนต์ไฟฟ้า” ก็คือ “แบตเตอรี่” นั่นเอง และ แบตเตอรี่ที่ผลิตต้องเป็นแบตเตอรี่ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในไทย และส่งออกแบตเตอรี่ให้กับโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคและในโลกต่อไปได้ด้วย
เงื่อนไขข้อนี้ ผมต้องขอปรบมือชม ทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ที่มี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นหัวหน้าทีม เพราะเงื่อนไขนี้จะทำให้ ประเทศไทย กลายเป็น ผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกในอาเซียน และ เป็นผู้ส่งออกแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลกในอนาคต เหมือนอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยในปัจจุบัน
วันนี้รถยนต์ไฟฟ้าในโลก รวมทั้งไทย ยังใช้แบตเตอรี่กันสะเปะสะปะ แบตเตอรี่ตะกั่วก็มี ดีขึ้นมาหน่อยก็เป็น แบตเตอรี่นิกเกิลไฮไดรด์ แต่ก็เป็นแบตเตอรี่ตกรุ่นไปแล้ว รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดรุ่นใหม่ และ รถยนต์ไฟฟ้าในยุโรป สหรัฐฯ ไม่ใช้กันแล้ว เพราะ ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อเสื่อมแล้วก็เป็นขยะพิษที่กำจัดยาก โลกวันนี้จึงหันมาใช้ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เป็นมาตรฐานใหม่ รวมทั้ง โทรศัพท์มือถือ ด้วย
แม้แต่ โซลาร์ฟาร์ม หรือ โรงงานผลิตไฟฟ้าจากแสงแดด ทุกวันนี้ก็ใช้ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ในการเก็บไฟฟ้า เพราะเก็บไฟได้มากกว่า นานกว่า ทนทานกว่า
ถ้ารัฐบาลสามารถทำให้ โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เกิดขึ้นในไทยได้จริง ผมเชื่อว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตของไทย และ อุตสาหกรรมไฟฟ้าจากพลังงานแสงแดด รวมทั้ง การผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดใช้เองในครัวเรือน จะพลิกโฉมจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว ประเทศไทย จะเป็น ดีทรอยต์แห่งอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เหมือนกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ผมเชียร์เต็มที่เลยครับ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”