กระบวนการก่อรัฐประหารในประเทศไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่ "กระทำการสำเร็จ" เคยเกิดขึ้นมาแล้วจำนวน 13 ครั้ง แต่หากจะนับตั้งแต่ห้วงเวลาที่ 'ตระกูลชินฯ' เข้ามานั่งเก้าอี้ 'นายกรัฐมนตรี' บริหารประเทศ แล้วถูกทำการรัฐประหารยึดอำนาจมาแล้ว 2 ครั้ง คือ การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ครั้งที่ 12 ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และล่าสุดครั้งที่ 13 คือ การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ในรัฐบาลที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยตำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือในระยะเวลาห่างกันเกือบ 8 ปี

รัฐประหาร 49 ตั้ง 'คปค.' เชือด 'ทักษิณ'

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยกลุ่มคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. เป็นหัวหน้า พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผบ.สส. เป็น ประธานที่ปรึกษา พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผบ.ทร. เป็นรองหัวหน้า คนที่ 1 พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. เป็นรองหัวหน้าคนที่ 2 พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. เป็นรองหัวหน้าคนที่ 3 พร้อมด้วย พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. เป็นเลขาธิการฯ 

...

เคลื่อนพล-รถถัง แล่นกลางเมือง โค่น 'แม้ว'

สืบเนื่องจากช่วงเช้าวันที่ 19 กันยายน มีคำสั่งจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เรียกผู้นำทุกเหล่าทัพเข้าประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่มีผู้ใดเข้าร่วม ยกเว้น พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำให้ช่วงบ่ายมีกระแสข่าวลือการรัฐประหารแพร่สะพัดไปทั่วทำเนียบรัฐบาลและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงข่าวลือว่ารัฐมนตรีและนักการเมืองร่วมรัฐบาลหลายคนได้หลบหนีออกนอกประเทศ อีกทั้งในช่วงพลบค่ำมีข่าวว่ากำลังทหารหน่วยรบพิเศษจาก จ.ลพบุรี เคลื่อนกำลังเข้ากรุงเทพฯ

ในช่วงเย็นนายสมชาย มีเสน ผู้จัดรายการวิทยุ F.M. 92.25 MHz นัดผู้ฟังรายการจำนวนหนึ่งเข้าพบ พล.อ.สนธิ ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก หรือ บก.ทบ. เพื่อขอให้ทหารให้ความคุ้มครองกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่จะชุมนุมขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ในวันรุ่งขึ้น

ขณะเดียวกันกำลังทหารจากพลร่มป่าหวาย หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เข้ามาประจำการที่กองบัญชาการกองทัพบก พร้อมด้วยขบวนรถถังเคลื่อนเข้าคุมเชิงที่สะพานมัฆวานรังสรรค์และ ถ.ราชดำเนิน มีทหารแต่งกายลายพรางเต็มยศควบคุมกำลังทหารจำนวนมากออกมาตรึงกำลังตามถนนต่างๆ ตั้งแต่แยกเกียกกาย ผ่านมาถึง ถ.ราชสีมา บริเวณสวนรื่นฤดี และสามแยกราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง)

ยึดอำนาจ ขณะ 'ทักษิณ' บินนอก

ช่วงกลางดึกคืนเดียวกัน โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยออกอากาศทางสถานีทุกช่อง ขึ้นคำประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมขออภัยในความไม่สะดวก และเปิดเพลง "ความฝันอันสูงสุด" ประกอบ

ด้านสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นและบีบีซีเผยแพร่ข่าวรถถังและกำลังทหารควบคุมสถานการณ์ภายในกรุงเทพมหานคร หลังจากนั้น พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค อดีตโฆษก ททบ.5 ได้อ่านแถลงการณ์คณะปฏิรูปการปกครองฯ ที่แสดงไว้ในหน้าจอก่อนหน้านี้ซ้ำถึงสองครั้ง

...

ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นไปปฏิบัติภารกิจที่สหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลานั้นได้ออกแถลงการณ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครผ่านดาวเทียม จากประเทศสหรัฐฯ เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี ภายหลังจากอ่านแถลงการณ์ได้ 3 ฉบับ มีกำลังทหารพร้อมอาวุธกลุ่มหนึ่งบุกเข้าไปยังสถานีฯ พร้อมออกคำสั่งให้หยุดการแพร่ภาพโดยทันที เป็นผลให้เจ้าหน้าที่สถานีฯ ต้องตัดสัญญาณการแถลงของ พ.ต.ท.ทักษิณลงทันที

วันเดียวกันในเวลา 24.00 น. คณะปฏิรูปฯ พร้อมด้วย พล.อ.เรืองโรจน์ ได้เข้าเฝ้าฯ ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงานสถานการณ์ในทันที ภายหลังจากยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้สำเร็จ

รธน.40 -เลือกตั้ง ต.ค. ล้ม 

การก่อรัฐประหารปี 2549 ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี และเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดไว้ในเดือนถัดมา หลังจากการเลือกตั้งเดือนเมษายนถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้เป็นโมฆะ ซึ่งการรัฐประหารในครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินมายาวนานนับตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2548

...

นอกจากนี้ คมช.ยังได้ยกเลิกการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สั่งยุบสภา สั่งห้ามการประท้วงและกิจกรรมทางการเมือง ยับยั้ง และเซ็นเซอร์สื่อ ประกาศใช้กฎอัยการศึก พร้อมจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรีหลายราย

โปรดเกล้า 'สุรยุทธ์' เป็นนายกฯ-ตั้งรัฐบาลชั่วคราว

นอกจากนี้ คมช. ได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว โดยมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้แต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ต่อมาวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2550 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึก ใน 41 จังหวัด แต่ยังคงไว้ 35 จังหวัด

แจงเหตุยึดอำนาจ

การยึดอำนาจในครั้งนั้น พล.อ.สนธิ ได้แถลงถึงสาเหตุ พร้อมเปิดเผยว่าได้ใช้เวลาประมาณ 7 เดือนในการเตรียมการก่อรัฐประหาร ซึ่งเริ่มวางแผนในราว กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 เป็นห้วงเวลาเดียวกับที่มีการเปิดตัวกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นอกจากนี้ พล.อ.สนธิ ให้คำมั่นว่าจะฟื้นฟูรัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตยภายในหนึ่งปี 

...

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549 สองเดือนหลังจากรัฐประหาร คมช. ออก "สมุดปกขาว" ชี้แจงสาเหตุของการก่อรัฐประหารยึดอำนาจโดยมีสาระสำคัญ ว่า มีการทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้อำนาจในทางมิชอบ การละเมิดจริยธรรมคุณธรรมของผู้นำประเทศ การแทรกแซงระบบการตรวจสอบทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ข้อผิดพลาดเชิงนโยบายที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพและการบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ

'หนุน-ต้าน' ทหารออกรัฐประหาร 49

อย่างไรก็ตามการรัฐประหารในครั้งนี้ไม่มีการเสียเลือดเนื้อและไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ ส่วนประชาชนภายในประเทศให้การตอบรับการรัฐประหารครั้งนี้เป็นอย่างดี พร้อมมอบดอกไม้ ถ่ายรูปร่วมกับรถถังและทหารที่ประจำการตามจุดต่างๆ อีกด้วย แต่ทว่ายังมีคนอีกจำนวนหลายกลุ่มได้ออกมาต่อต้านรัฐประหารในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน 

ด้านปฏิกิริยาตอบรับจากนานาชาติมีตั้งแต่การวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน ไปจนถึงการแสดงความผิดหวังกับประเทศไทยอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าประเทศไทยเป็นพันธมิตรนอกนาโต พร้อมกล่าวว่า การก่อรัฐประหารนั้น "ไม่มีเหตุผลที่ยอมรับได้" 

รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ตัดเงินช่วยเหลือด้านการทหาร และด้านการรักษาสันติภาพแก่ไทยเป็นจำนวน 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 900 ล้านบาท) และกล่าวว่ากำลังกำหนดมาตรการลงโทษเพิ่มเติม

รวมถึง นายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ ระบุว่า ไม่สนับสนุนให้เกิดการรัฐประหาร และอยากให้กลับคืนสู่ระบบประชาธิปไตย อย่างรวดเร็วที่สุด พร้อมกล่าวว่า "ในสหภาพแอฟริกา เราจะไม่สนับสนุนผู้ที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยกระบอกปืน"

รัฐประหาร 57 ตั้ง 'คสช.' เชือดนิ่ม

ขณะที่การเดินเกมรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ และหัวหน้า พร้อมด้วย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. เป็นรองหัวหน้าฯ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. เป็นรองหัวหน้าฯ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. เป็น รองหัวหน้าฯ และพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีต ผบ.ตร. เป็นรองหัวหน้าฯ ที่ทำการควบคุมอำนาจบริหารรัฐบาลนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ภายหลังจากโดนศาลรัฐธรรมนูญลงดาบ จากกรณีสถานสภาพนายกรัฐมนตรีพ้นจากสภาพนายกฯ อย่างค่อยเป็นค่อยไป

โดยวันที่ 20 พฤษภาคม ได้ประกาศกฎอัยการศึก เวลา 03.00 น. ในชื่อ กองอำนวยการรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ กอ.รส. เพื่อควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งมานานกว่า 6 เดือน พร้อมทั้งให้กลุ่มชุมนุมทางการเมืองทั้งฝ่ายที่ต้านรัฐบาลและสนับสนุนรัฐบาลนั้น ยุติการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเฉียบขาด

ขณะนั้นการชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการฯ และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมเคลื่อนไหวใหญ่ทั่วกรุงเทพฯในวันที่ 24-26 พฤษภาคม

รวมถึงกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ที่ตั้งหลักอยู่ที่บริเวณถนนอักษะ รอวันที่จะประกาศเผด็จศึกปราบกบฏในเวลาไล่เลี่ยกัน

โดย กปปส. มีข้อเรียกร้อง "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และตั้งรัฐบาลกลางมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ" และ นปช. ดัน "เลือกตั้งก่อนปฏิรูป ไม่เอานายกฯคนกลาง" โดยการชุมนุมทั้งสองฝั่งได้ปลุกระดมมวลชนขั้นสูงสุดในเวลาต่อมา 

จับคู่ขัดแย้งนั่งเจรจา ก่อนรัฐประหาร 57 รัฐบาล 'ปู'

ด้วยบทเรียนขนรถถังออกมารัฐประหารในคราว ปี 2549 จบไม่สวยมากนัก อีกทั้งกระบวนการหลังรัฐประหาร ยังส่งผลกระทบมาถึงปัญหาการเมืองในปัจจุบัน แม้จะผ่านมาแล้วกว่า 8 ปี

รวมถึงการออกมาของกองทัพในปัจจุบัน ได้มีจุดยืนชัดเจนว่า "เพื่อความสงบสุขของประเทศ" และขจัดความขัดแย้งที่กินระยะเวลายาวนาน จนกระทบเศรษฐกิจ รวมถึงการบริหารงานต่างๆเป็นวงกว้าง พล.อ.ประยุทธ์ จึงปรับยุทธศาสตร์เปลี่ยนจากเคลื่อนรถถัง มาเคลื่อนพล หยิบเอาคู่ขัดแย้ง 7 ฝ่ายมานั่งเจรจา ประกอบด้วย กอ.รส.-นปช.-กปปส.-ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย-กกต.-วุฒิสภา 

รวบแกนนำ-รายงานตัว ยึดอำนาจ

เมื่อการหารือไม่จบ ต่างฝ่ายต่างมีจุดยืนเป็นของตนเอง 22 พฤษภาคม เวลา 16.30 น. จึงประกาศยึดอำนาจ และควบคุมตัวแกนนำ อดีตรัฐบาล-อดีตฝ่ายค้าน แกนนำกปปส.-นปช. โดยมี ผบ.ทบ. แถลงยึดอำนาจด้วยตนเองบนหน้าจอโทรทัศน์ทุกช่อง พร้อมด้วย ผบ.เหล่าทัพ รวมถึงเปิดเพลง "ความฝันอันสูงสุด-เราสู้-หนักแผ่นดิน" พร้อมเรียกบุคคลสำคัญอื่นๆ มากกว่า 250 ราย ที่มีความเกี่ยวพันกับตระกูลชินวัตร คน 4 กลุ่ม ที่เข้าเจรจาร่วมกับ กอ.รส. รวมถึงนักวิชาการ-อดีตนายตำรวจ-รัฐวิสาหกิจ มารายงานตัวอีกด้วย

นอกจากนี้ แกนนำบางรายถูกควบคุมตัวก็นำไว้ในค่ายทหาร แต่เริ่มทยอยปล่อยตัวภายใต้เงื่อนไข "ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง" โดย คสช. ให้เหตุผลว่า "พามาสงบสติอารมณ์ สัก 5 วัน 7 วัน แล้วค่อยปล่อยตัว จะได้ใจเย็นๆ และดูแลผู้ที่นำมาควบคุมตัวเป็นอย่างดี" ซึ่งถือว่าเป็นการออกมาของกองทัพที่นิ่มนวลที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แม้มีหลายฝ่ายไม่ยอมรับการรัฐประหารในครั้งนี้ก็ตาม

แจงจุดยืนคืนสันติสู่คนไทย-ขอคนหยุดต้าน

พล.อ.ประยุทธ์ นำ คสช. แถลงจุดยืน หลังโปรดเกล้าฯ ทำรัฐประหารแล้ว 3 วัน โดยเน้นยํ้าว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด หลังคนไทยทรมานกว่า 6 เดือน และทหารไม่ต้องการอำนาจ แต่ทำทุกอย่างคืนสันติสุขสู่คนไทย พร้อมจะดูแลประเทศจนกว่าเรียบร้อย แต่การบริหารประเทศต้องมีนายกฯ ซึ่งยังคงไม่ตอบว่าจะนั่งเก้าอี้เองหรือไม่ ทั้งนี้ยังถามคนที่ออกมาต่อต้าน รัฐประหารในครั้งนี้ว่า "อยากให้บ้านเมืองกลับมาเหมือนเดิมอีกหรือ" และขอความร่วมมือ โดยประกาศใช้มาตรการระดับเข้มข้น พร้อมกล่าวว่า หากผู้ใดทำผิด หรือขัดคำสั่ง คสช. จะโดนขึ้นศาลทหารทั้งหมด

'บิ๊กตู่' สั่งสื่อฯห้ามเสนอให้คนขัดแย้ง -ไม่ล้ม รธน.- ขันนอตรีดผลงาน คสช.

ทั้งนี้เพื่อความราบรื่นในการทำงาน จึงกำชับให้ทุกสื่อห้ามสัมภาษณ์นักวิชาการ-อดีต ขรก. รวมถึงในโซเชียลมีเดีย อย่างเฟซบุ๊ก ห้ามประชาชนแสดงความเห็นในเชิงทะเลาะเบาะแว้งวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน ของ คสช. ทั้งทางสื่อออนไลน์ หนังสือพิมพ์ และวิทยุ โทรทัศน์ รวมถึงพักการใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 เพียงชั่วคราว และเปิดใช้เพียงบางมาตราเท่านั้นเพื่อกำหราบศึกความขัดแย้งในสังคม

พล.อ.ประยุทธ์ มุ่งหน้านำทีม ผบ.เหล่าทัพ แก้ไขปัญหาของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และแนวทางการทำงานของ คสช. เพื่อให้เป็นรูปธรรมและเห็นผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งจ่ายเงินให้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว ให้เสร็จตามกำหนด รวมถึงติดตามเรื่องผลผลิตทางเกษตรที่จะมีปัญหาตามมา

ตั้งสภาสมานฉันท์สลายสีเสื้อ

นอกจากนี้หัวหน้า คสช. ยังแสดงความเป็นห่วงการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อสีต่างๆ โดยให้แนวทางกับคณะทำงานไปหาวิธีในการสลายสีเสื้อต่างๆ ด้วยการตั้ง "สภาสมานฉันท์" ในชื่อ "ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป" โดยตั้งขึ้นในแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นศูนย์กลางให้ประชาชนได้แลกเปลี่ยนความคิด รวมถึงเป็นศูนย์ให้ข้อมูลความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาของประเทศ

โดยให้เร่งดำเนินการให้ดีที่สุดเพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นควบคู่ไปกับการสร้างความสมานฉันท์ ลดความขัดแย้งให้กับคนในชาติ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปด้านต่างๆ โดยจะเดินหน้าตั้งสภานิติบัญญัติควบคู่ไปด้วย ในการเร่งหาทางทางออกนำไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด แม้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้เมื่อใด 

ต่างชาติกดดัน 'กองทัพ' คืนอำนาจให้ประชาชน 

แม้อยู่ภายใต้แรงกดดันของนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกา ที่แสดงความผิดหวังต่อประเทศไทยในการทำรัฐประหารตั้งแต่ ปี 2549 จนถึงล่าสุด 2557 รวมถึงญี่ปุ่น แสดงความวิตกกังวล และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดกลั้น ไม่ใช้ความรุนแรง ฝั่งสหภาพยุโรปเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้ง เพื่อให้มีรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน เพื่อผลประโยชน์ของไทยเอง 

ส่วน บัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ออกแถลงผ่านโฆษกแสดงความกังวลเกี่ยวกับรัฐประหารดังกล่าว โดยเรียกร้องให้ "กลับคืนสู่การปกครองตามรัฐธรรมนูญ โดยพลเรือน เป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว" และความเคลื่อนไหวสู่ความร่วมมือระหว่างทุกฝ่าย และอังกฤษ เตรียมบอยคอตและงดการเยี่ยมเยือนทางการทหาร

รวมถึงคนไทยที่ต่อต้านรัฐประหารออกแสดงพลังกันอย่างรวดเร็ว แต่ทว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยยังคงคาดหวัง และให้การสนับสนุน พร้อมมอบดอกไม้ ให้เหล่าทหารกล้า เร่งจัดการ เพื่อคืนความสุขให้กับคนไทย  

อย่างไรก็ตาม คมช. คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ด้วยกระบวนการฉีก รธน. ตั้งรัฐบาลเองอย่างฉับพลัน จึงเป็นชนวนเหตุความวุ่นวายทางการเมืองในตลอดระยะเวลาเกือบ 8 ปี แต่ทว่า คสช. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ปรับยุทธศาสตร์เดินเกมอย่างนิ่มนวล เดินหน้าแก้ปัญหาของประชาชนด้วยตนเองทันทีไปก่อน แทนตั้งกลไกรัฐ ซึ่งเป็นจุดบอดของการทำรัฐประหารหลายๆครั้ง จึงอาจทำให้ประเทศไทยฝ่าวิกฤติ ลดข้อกังหา แล้ว "คืนความสุขให้คนไทย" โดยเร็ววัน ก็เป็นไปได้... 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับ "รัฐประหาร 2549"